กก.โรคติดต่อ จ.สมุทรสาคร สั่งเชือด ปิด รง.ผลิตภัณฑ์ยาง ทำ FAI ไร้มาตรฐาน

กก.โรคติดต่อจังหวัดสมุทรสาคร สั่งเชือด ปิดโรงงานผลิตภัณฑ์ยาง ทำ FAI ไร้มาตรฐาน

เมื่อวันที่ 31 กรกฎาคม  นายวีระศักดิ์ วิจิตร์แสงศรี ผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรสาคร พร้อมด้วย นายธีรพัฒน์ คัชมาตย์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรสาคร, นายสุรศักดิ์ ผลยังส่ง รองผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรสาคร, นายแพทย์นเรศฤทธิ์ ขัดธะสีมา นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดสมุทรสาคร และนางสาวสุวดี ทวีสุข สวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัดสมุทรสาคร ได้ร่วมกันแถลงผลการตรวจติดตามและการประเมินผลการจัดทำสถานที่กักตัว หรือโรงพยาบาลสนามในสถานประกอบการ ( Factory Accommodation Isolation : FAI ) ของสถานประกอบการในจังหวัดสมุทรสาคร

ภายหลังจากที่ทางคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดสมุทรสาครได้ออกคำสั่งให้ สถานประกอบการทุกแห่งที่มีคนงานตั้งแต่ 50 คนขึ้นไป หรือใช้กำลังเครื่องจักร 50 แรงม้าขึ้นไป จะต้องจัดพื้นที่รองรับการกักตัวผู้ติดเชื้อของโรงงานให้มีเตียงไม่น้อยกว่าร้อยละ 10 และต้องเพียงพอต่อการแยกกักตัวของผู้ติดเชื้อในโรงงานตามมาตรการของกระทรวงสาธารณสุข โดยให้จัดทำ FAI ให้แล้วเสร็จภายในวันที่ 30 กรกฎาคมที่ผ่านมา

นายวีระศักดิ์เปิดเผยว่า สืบเนื่องจากคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดสมุทรสาคร ได้มีคำสั่งให้สถานประกอบการทุกแห่งที่มีแรงงานตั้งแต่ 50 คนขึ้นไป หรือมีเครื่องจักรตั้งแต่ 50 แรงม้าขึ้นไป จัดทำสถานที่กักตัวผู้ติดเชื้อของโรงงานไม่น้อยกว่าร้อยละ 10 และต้องให้มีเตียงรองรับอย่างเพียงพอต่อจำนวนผู้ติดเชื้อทั้งหมด อีกทั้งยังจะต้องเป็นไปตามแนวทางการควบคุมโรคของกระทรวงสาธารณสุข และมีการปฏิบัติอย่างจริงจังด้วยนั้น ต่อมาจากการตรวจสอบข้อมูลของบริษัทแห่งหนึ่ง ซึ่งเป็นโรงงานผลิตภัณฑ์ยางรายใหญ่ ในพื้นที่เขตเทศบาลตำบลบางปลา ต.บ้านเกาะ อ.เมือง จ.สมุทรสาคร ซึ่งมีพนักงานจำนวน 1,250 คน มีการประกอบกิจการเต็มพื้นที่โรงงาน ไม่มีพื้นที่สำหรับจัดทำโรงพยาบาลสนาม (Factory Accommodation Isolation :FAI) ภายในพื้นที่ได้อย่างเพียงพอ

อีกทั้งผลการตรวจคัดกรองโรคแบบ Rapid Antigen test ในพนักงานเกือบครึ่งของทั้งหมด พบผู้ติดเชื้อจำนวนมากเกินกว่าที่กำหนด โดยหลังการตรวจพบเชื้อโรงงานได้แจ้งให้พนักงานกักตัวเองที่บ้านทั้งหมด ซึ่งการสั่งกักตัวเองที่บ้านสร้างความวิตก กังวลให้กับประชาชนที่อาศัยใกล้เคียง ตลอดจนสถานประกอบการไม่มีมาตรการดูแล เยียวยา พนักงานในสถานการณ์แพร่ระบาดเชื้อโรค และโรงพยาบาลสนาม (Factory Accommodation Isolation :FAI) ยังไม่สามารถเปิดรองรับพนักงานที่ติดเชื้อได้ ทางคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดสมุทรสาคร จึงเห็นควรให้พิจารณาดำเนินการปิดโรงงาน ซึ่งเป็นคำสั่งสุดท้ายและเด็ดขาดที่สุดที่ทางจังหวัดสมุทรสาคร จะดำเนินการกับสถานประกอบการที่ไม่ให้ความสำคัญกับการปฏิบัติตามมาตรการ FAI

Advertisement

ผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรสาครกล่าวอีกว่า แม้ว่าสถานประกอบการแห่งนี้จะจัดทำ FAI แต่ก็ไม่ได้มาตรฐาน ที่ผ่านมาทางเจ้าหน้าที่ได้มีการเข้าไปชี้แจงทำความเข้าใจในการป้องกันและควบคุมโรคแล้วหลายครั้ง ปรากฏว่าสถานประกอบการดังกล่าวก็ยังไม่ดำเนินการตามข้อแนะนำ ไม่มีแผนในการบริหารจัดการและควบคุมดูแลพนักงานที่มีผลเป็นบวก โดยพนักงานบางส่วนที่มีผลเป็นบวกยังไม่ได้เข้าสู่กระบวนการป้องกันและควบคุมโรคตามที่กระทรวงสาธารณสุขกำหนด จึงทำให้เห็นว่าสถานประกอบการแห่งนี้จงใจละเลย ไม่ใส่ใจแก้ไขปัญหาในการป้องกันและควบคุมโรค อีกทั้งยังมีการร้องเรียนสถานประกอบการแห่งนี้หลายครั้ง

ทางคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดสมุทรสาคร จึงมีมติเป็นเอกฉันท์ให้ดำเนินการปิดสถานประกอบการเป็นการชั่วคราวและห้ามดำเนินกิจการใดๆในสถานที่ดังกล่าวเป็นเวลาไม่น้อยกว่า 14 วัน นับตั้งแต่วันที่ 2 สิงหาคม – 15 สิงหาคม หรือจนกว่าจะดำเนินการแก้ไขแล้วเสร็จ, ต้องตรวจคัดกรองพนักงาน 100 % ที่ทำงานในสถานที่แห่งนั้น หากพบพนักงานติดเชื้อให้นำไปแยกกักในโรงพยาบาลสนามของสถานประกอบการแห่งนั้น โดยระหว่างการจัดตั้งโรงพยาบาลสนามต้องมีกระบวนการควบคุมให้พนักงานดูแลตนเองอยู่ในที่พักอาศัยอย่างชัดเจน จัดทำทะเบียนพนักงานโดยมีข้อมูลที่ถูกต้อง ควบคุมการเดินทางของพนักงานไม่ให้ออกจากพื้นที่สมุทรสาคร และหากสถานประกอบการแห่งนี้ดำเนินการข้างต้นแล้วเสร็จให้เสนอผลการดำเนินงานต่อสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดสมุทรสาครเพื่อเสนอความเห็นชอบต่อคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด หากไม่ดำเนินการตามที่กำหนดอาจมีคำสั่งให้ปิดกิจการต่อไป ผู้ใดฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามคำสั่งฉบับนี้ มีโทษตามในมาตรา 51 และมาตรา 52 แห่งพระราชบัญญัติโรคติดต่อ พ.ศ.2558 ต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 20,000 บาท และต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 100,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และมาตรา 18 แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน

Advertisement

นายวีระศักดิ์กล่าวทิ้งท้ายว่า สถานประกอบการแห่งนี้นับเป็นแห่งที่ 2 ของจังหวัดสมุทรสาครที่ถูกคำสั่งปิดห้ามดำเนินการใดๆ ทั้งสิ้น ส่วนสถานประกอบการอื่นๆ นั้น มีหลายแห่งที่ได้ปฏิบัติตามและรับพนักงานเข้าดูแลในสถานที่ของตนเองแล้ว ในภาพรวมขณะนี้จังหวัดสมุทรสาครมีสถานที่กักตัวของโรงงาน หรือ FAI ทั้งหมดประมาณ 1,400 แห่ง มีแรงงานเข้ารับการกักตัวแล้วเกือบ 2,000 คน จากจำนวนเตียงที่มีอยู่ทั้งหมดราวๆ 30,000 เตียง ซึ่งทำให้ไม่เบียดบังกับเตียงของศูนย์พักคอย CI ที่จะใช้รับประชาชนทั่วไป เป็นการช่วยกันเพิ่มจำนวนเตียง ช่วยแบ่งเบาภาระของโรงพยาบาลสนามหลัก ช่วยให้ผู้ติดเชื้อในกลุ่มสถานประกอบการตนเองเข้าสู่ระบบได้อย่างรวดเร็ว แต่มาตรการนั้นไม่ใช้เพียงแค่จัดตั้งโรงพยาบาลสนามแล้วจะไม่ถูกปิด เพราะจะต้องมีการประเมินจากตัวเลขผู้ติดเชื้อด้วยว่าเพิ่มขึ้นหรือไม่ และไปแพร่กระจายในชุมชนหรือเปล่า ซึ่งหากสถานประกอบการใดจัดทำ FAI แล้วไม่ได้มาตรฐาน หรือมีไว้เพียงแค่เพื่อถ่ายภาพเท่านั้นก็จะต้องถูกสั่งปิดได้เช่นเดียวกัน

นายแพทย์นเรศฤทธิ์ ขัดธะสีมา นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดสมุทรสาคร กล่าวด้วยว่า สำหรับเรื่องของมาตรการในการดูแลรักษา จะใช้ระบบประกันสุขภาพถ้วนหน้า หรือประกันสังคมเข้ามาดูแล โดยสถานประกอบการใดขึ้นอยู่กับประกันสังคมของโรงพยาบาลใด ก็ให้โรงพยาบาลนั้นรับผิดชอบดูแล ทั้งเรื่องของระบบสาธารณสุข การจ่ายยารักษาตามอาการ และการนำผู้ป่วยเข้าสู่กระบวนการรักษาหากเกิดอาการรุนแรงมากขึ้น ขณะที่หากสถานประกอบการใดที่ยังมีข้อสงสัยหรือต้องการคำแนะนำเกี่ยวกับการจัดทำ FAI ก็สามารถสอบถามได้ที่สายด่วน FAI หมายเลขโทรศัพท์ 09-7209-5242

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image