เมื่อวันที่ 18 กันยายน นางสาวรัชทิพย์ ทองมีสี อายุ 44 ปี ชาว ต.เขาโร อ.ทุ่งสง จ.นครศรีธรรมราช เกษตรกรปลูกพืชตามแนวเศรษฐกิจพอเพียงในพื้นที่ ต.กะปาง อ.ทุ่งสง จ.นครศรีธรรมราช เปิดเผยว่า ก่อนหน้านี้ตนทำธุรกิจรับถมดินทั่วทุกพื้นที่ กระทั่งครั้งสุดท้ายตนไปถมดินให้โครงการก่อสร้างศูนย์แพทย์ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ลงทุนไปนับสิบล้านบาท เช่ารถ จ้างคน น้ำมัน จิปาถะ ท้ายที่สุด บริษัทคู่สัญญากับมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ทำผิดเงื่อนไข ทำให้ทางมหาวิทยาลัยต้องยกเลิกสัญญา ตนพร้อมเพื่อน ซึ่งถมดินไปแล้วจึงไม่รู้ว่าจะไปขอเบิกจ่ายเงินกับใคร ส่งผลให้ตนต้องไปกู้หนี้ยืมสินมาจ่ายให้กับลูกน้อง ค่าเช่ารถ และอื่นๆ เป็นบางส่วน เวลาเกือบ 2 ปี ที่ต่อสู้ขอความเห็นใจจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ดูเหมือนว่าจะไร้ผล อนาคตดับวูบ
“จึงตัดสินใจขายรถสิบล้อคันสุดท้าย ยุติอาชีพรับถมดิน รวบรวมเงินได้ก้อนหนึ่ง จ่ายหนี้เร่งด่วน ที่เหลือไว้เป็นทุน รับอาสาทำหน้าที่เฝ้าสวนยางให้เพื่อนใจดี แลกเปลี่ยนกับขอใช้ที่ว่างหลังสวนยางกว่า 5 ไร่ ปลูกถั่ว มัน มะละกอ และพืชอายุสั้น เพื่อจะได้นำผลผลิตมาจ่ายเป็นค่าดอกเบี้ยในคราวที่ไปลงทุนถมที่ศูนย์การแพทย์ ได้เงินมาก็ยังไม่เพียงพอ จึงไปเช่าที่ว่างเปล่าปีละหมื่นบาท จำนวน 2 ไร่เศษ ริมถนนใหญ่ ลงเพาะพันธุ์กล้ายางพารา ทุกขนาดใช้เวลาเป็น 2-3 ปี กว่ากล้าจะโต ต้องไปหาซื้อกล้ายางที่ชาวบ้านปลูกไว้ มาเลี้ยงให้สมบูรณ์จะได้ขายต่อ มีพ่อค้าในท้องถิ่นมารับซื้อถึงที่ ทำให้มีกำลังใจในการต่อสู้อีกครั้ง ถึงแม้ว่าราคายางไม่ดี แต่คนใต้จะรู้ว่ายางเป็นพืชที่ยังคงทำรายได้เลี้ยงครอบครัวได้” นางสาวรัชทิพย์กล่าว
นางสาวรัชทิพย์กล่าวว่า วันนี้ตนพอจะมีเงินที่มาใช้จ่ายเป็นค่าดอกเบี้ยจากการกู้ยืมบ้าง เพราะทำการเกษตรไม่ได้มีเงินเหลือเก็บมากมาย พออยู่พอกิน แต่หากไม่มีหนี้สินเราก็จะอยู่กันได้ โชคดีที่พอจะมีความรู้ทางด้านการเกษตรอยู่บ้างจึงไม่เป็นอุปสรรคกับการประกอบอาชีพแต่อย่างใด อาศัยเช่าที่ก็สามารถหาเงินมาจ่ายค่าดอกเบี้ยได้ ส่วนเงินต้นอย่าหวังยังไม่มีปัญญา
“เชื่อในเรื่องทำเกษตรแบบพอเพียง เราสามารถพลิกผันตัวเองได้ แต่ต้องมีความอดทน ใช้สมองคิดเพียงอย่างเดียวว่าจะทำอย่างไร และไม่จำเป็นจะต้องทำตามแบบอย่าง เพียงแต่รู้จักปรับเปลี่ยนการปลูกพืชอย่างถูกวิธีก็สามารถแก้ไขปัญหาให้กับชีวิตได้ ” นางสาวรัชทิพย์กล่าว