ครอบครัวยังคาใจชายวัย 55 ปีดับหลังฉีดเข็มแรก วอนหน่วยงานรับผิดชอบ พ้อเสียเสาหลัก

ครอบครัวยังคาใจชายวัย 55 ปี ดับหลังฉีดเข็มแรก วอนหน่วยงานรับผิดชอบ พ้อเสียเสาหลัก

วันที่ 22 สิงหาคม ผู้สื่อข่าว จ.ปราจีนบุรี รายงานความคืบหน้า จากกรณีนายคำนวน อุเทน อายุ 55 ปี ชาวบ้าน หมู่ 7 ต.นนทรี อ.กบินทร์บุรี จ.ปราจีนบุรี เสียชีวิตหลังไปฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 เข็มแรก ยี่ห้อซิโนแวค โดยหลังจากฉีดวัคซีนเมื่อวันที่ 20 ส.ค.ที่ผ่านมา

โดยหลังจากฉีดวัคซีนแล้วผู้ตายมีอาการปวดแขนและมีอาการปวดศีรษะ ภรรยาและลูกสาวบอกให้พักผ่อนให้ลางาน กระทั่งรุ่งเช้าภรรยาเรียกสามีในห้อง วินาทีนั้นภรรยาร้องไห้โฮออกมาเมื่อเรียกสามีไม่มีการตอบรับ สามีนอนอยู่ภายในห้องญาติมาดูนำตัวส่งโรงพยาบาลกบินทร์บุรี ขณะนั้นผู้ตายอยู่ในอาการตัวเย็นไม่รับรู้อะไรแล้ว เมื่อนำตัวส่งโรงพยาบาลกบินทร์บุรีแพทย์พยาบาลทำการปั๊มหัวใจอยู่นาน แต่ก็ไม่สามารถยื้อชีวิตเอาไว้ได้ และเสียชีวิตในวันที่ 21 ส.ค. และได้รับการยืนยันจากทางโรงพยาบาลว่าสาเหตุการเสียชีวิตเกิดจากสภาวะหัวใจล้มเหลวเฉียบพลัน และได้ทำการตรวจพิสูจน์หาเชื้อไวรัสในเบื้องต้นผลปรากฏเป็นลบ จึงได้นำศพมาตั้งบำเพ็ญกุศลที่วัดโคกสว่าง

อ่านข่าว
ชายวัย 55 ปีชาวปราจีนฯ ดับหลังฉีดวัคซีน ยอดผู้ติดเชื้อพุ่งอีก 202 ราย
เชื่อผลจากวัคซีน! ชายปราจีนบุรีวัย 55 ปี ฉีดเข็มแรก ข้ามคืนเสียชีวิต

ล่าสุด เช้าวันนี้ (22 ส.ค.) ผู้สื่อข่าวได้สัมภาษณ์ น.ส.อมรรัตน์ อุเทน (ลูกสาวผู้เสียชีวิต) กล่าวว่า เมื่อวันที่ 20 ส.ค. พ่อกับแม่เดินทางไปฉีดวัคซีนที่หอประชุม อ.กบินทร์บุรี เวลา 09.00 น. พร้อมกันเป็นการฉีดวัคซีนเข็มแรก (ซิโนแวค) หลังจากฉีดวัคซีนแล้วได้คุยกับพ่อ พ่อบอกว่ารู้สึกไม่สบายตัว ปวดที่แขน แล้วปวดหัว จึงบอกกับพ่อว่าให้นอนพักผ่อนและกินยา อาการอาจจะดีขึ้น แต่รุ่งเช้าเกิดเหตุการณ์ไม่คาดคิดกับพ่อ รู้สึกเสียใจมาก

Advertisement

ทั้งนี้ทางนางสาวอมรรัตน์ ซึ่งเป็นบุตรสาวผู้เสียชีวิตได้ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า อยากจะให้หน่วยงานหรือคุณหมอที่ทำการฉีดวัคซีนตรวจสอบเอกสารเกี่ยวกับประชาชนที่ไปทำการฉีดวัคซีนว่า เขามีโรคประจำตัวหรือไม่ ซึ่งในเคสของคุณพ่อของตน ได้กรอกเอกสารครบยืนยันว่ามีโรคประจำตัวซึ่งเป็นโรคความดันสูง แต่ทางแพทย์ผู้ทำการฉีดก็ไม่ได้มีการตรวจสอบเอกสารและทำการฉีดวัคซีนให้เลย และยังได้ฝากถึงประชาชนที่จะเดินทางไปฉีดวัคซีนว่า ให้ทำการตรวจเช็คว่าวัคซีนที่เราจะฉีดชื่อยี่ห้ออะไร ควรเตรียมตัวอย่างไร และไม่อยากให้เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นกับครอบครัวไหนอีก ซึ่งครอบครัวของตนมีทั้งหมดกันแค่ 3 คนมีพ่อแม่และตน ครอบครัวเราเป็นครอบครัวที่รักกันมาก ก่อนพ่อจะไปทำงานหรือหลังจากกลับมาทำงานก็จะกอดและหอมกับตนเป็นประจำ วันนี้รู้สึกเสียใจกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในครั้งนี้มาก ร้องไห้จนไม่มีน้ำตาไหลออกมาแล้ว ซึ่งถ้าถามว่าพ่อของตนเสียชีวิตเพราะอะไรก็คิดได้เพียงอย่างเดียวนั่นแหละ แต่ก็พูดไม่ได้ เพราะเราเป็นเพียงประชาชนคนตัวน้อยๆ จะให้ไปยื่นฟ้องร้องก็คงทำไม่ได้ ทำได้แค่เพียงทำใจและยอมรับกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ทั้งนี้ตนอยากกราบวิงวอนและหวังว่า เหตุการณ์แบบนี้คงไม่เกิดขึ้นกับครอบครัวไหนอีก ขอให้ครอบครัวตนเป็นครอบครัวสุดท้ายในการฉีดวัคซีนแล้วมีคนเสียชีวิตเกิดขึ้น ซึ่งศพของพ่อจะทำการฌาปนกิจในวันอังคารที่ 24 สิงหาคมนี้ แต่ก็คงลดวิธีกรรมทางด้านศาสนาลงมาบางขั้นตอน

ขณะที่ นางบุญสม อุเทน อายุ 54 ปี ภรรยา กล่าวด้วยน้ำตานองหน้าว่า ไปฉีดวัคซีนพร้อมกับสามีตอนแรกยังไม่ได้คิดอะไร หลังจากฉีดแล้วสามีบ่นให้ฟังว่ารู้สึกปวดที่หัวไหล่ และรู้สึกมีอาการชาตามตัว ส่วนตนเองก็รู้สึกชาที่ไหล่และแขน ลูกสาวต้องใช้น้ำมันนวดและทาให้ทุกวัน จากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับสามี รู้สึกเสียใจ ไม่คิดว่าจะเกิดเหตุการณ์แบบนี้ ใครจะรับผิดชอบกับสิ่งที่เกิดขึ้น และยังไม่มีหน่วยงานใดออกมาให้คำแนะนำและรับผิดชอบ

นอกจากนี้ ทางครอบครัวยังติดใจในการเสียชีวิตของสามีเกี่ยวกับการฉีดแล้วอาการไม่พึงประสงค์หลังฉีดวัคซีนจนเสียชีวิต แม้แต่ตนเองที่ยังรู้สึกมีอาการชาตามตัว ชาที่ไหล่และแขนอยู่ แต่ไม่รู้ว่าจะทำอย่างไรหากย้อนเวลากลับมาได้ อยากจะให้เอาวัคซีนป้องกันโควิด-19 คืนไป เอาสามีกลับคืนมา มันไม่คุ้มกันเลยกับการสูญเสียสามี ที่เป็นเสาหลักในครั้งนี้ จะบำเพ็ญกุศล สวดพระอภิธรรม 3 คืน ขอดวงวิญญาณสามีขอให้ไปสู่สุคติ ลูกสาวจะเป็นคนดูแลเองไม่ต้องห่วง

Advertisement

ขณะที่ผู้สื่อข่าวได้ประสานงานสอบถามฝ่ายประชาสัมพันธ์ สปสช. เขต 6 (จ.ปราจีนบุรี) ได้รับแจ้งว่า จากกรณีดังกล่าวหลังการฉีดวัคซีนแล้ว มีอาการอันไม่พึงประสงค์เกิดมีผู้เสียชีวิต ให้ญาติ (ทายาทผู้ตาย) มาติดต่อที่งานประกันสุขภาพ สปสช.ปราจีนบุรี ตั้งอยู่สำนักงานสาธารณสุข จ.ปราจีนบุรี พร้อมเอกสารการเสียชีวิต (สำเนามรณบัตร) บัตรประจำตัว ปชช. ทะเบียนบ้าน ยื่นกับเจ้าหน้าที่ พร้อมเขียนคำร้องกับเจ้าหน้าที่ต่อไป

และจากการตรวจสอบข้อมูล สปสช.เพิ่มเติมทราบว่า ในกรณีผู้มีอาการไม่พึงประสงค์หลังฉีดวัคซีนนั้น รัฐบาลมีนโยบายจ่ายเงินช่วยเหลือเบื้องต้นแก่กลุ่มดังกล่าว เพื่อสร้างความมั่นใจว่าประชาชนจะได้รับการดูแล และสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ หรือ “สปสช.” ได้ออกประกาศหลักเกณฑ์วิธีการการจ่ายเงินช่วยเหลือเบื้องต้น เพื่อเป็นการ “เยียวยาผลกระทบจากวัคซีน” เรียบร้อยแล้ว โดยสามารถรวบรวมได้ ดังนี้

ประเภทความเสียหายจากวัคซีน 1.เสียชีวิต หรือทุพพลภาพอย่างถาวร 2.เจ็บป่วยเรื้อรังตลอดชีวิต มีผลรุนแรงต่อการดำรงชีวิต 3.สูญเสียอวัยวะหรือพิการ มีผลต่อการดำเนินชีวิต 4.บาดเจ็บ หรือเจ็บป่วยต่อเนื่องจากการได้รับวัคซีน

สามารถยื่นเรื่องได้ที่ไหน หากเกิดอาการไม่พึงประสงค์หลังฉีด “วัคซีนโควิด-19” ตามแผนงานโครงการที่รัฐจัดให้ฟรี สามารถยื่นเรื่องขอรับเงินช่วยเหลือเบื้องต้นกับ “สปสช.” ได้ที่โรงพยาบาลที่ฉีด, สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด (สสจ.), “สปสช.” สาขาเขตพื้นที่ทั้ง 13 เขต, อสม. หรือหน่วย 50 (5) เป็นผู้แนะนำและรับคำขอให้อีกทางหนึ่ง

ทั้งนี้ ผู้มีสิทธิยื่นคำร้องได้แก่ ผู้รับวัคซีน ทายาท ผู้อุปการะ โรงพยาบาลที่ให้บริการ ระยะเวลาในการยื่น ยื่นคำร้องได้ภายใน 2 ปี นับแต่วันที่ทราบความเสียหาย ส่วนกรณีไหน ได้เงินเท่าไหร่ ดังนี้

กรณีเสียชีวิตหรือทุพพลภาพถาวร จะได้รับการช่วยเหลือไม่เกิน 400,000 บาท กรณีสูญเสียอวัยวะหรือพิการ ช่วยเหลือไม่เกิน 240,000 บาท กรณีเกิดภาวะเจ็บป่วยที่ต้องรับการรักษา ไม่เกิน 100,000 บาท โดยผู้พิจารณา ได้แก่ สปสช. มีคณะอนุกรรมการทั้ง 13 เขตทั่วประเทศดำเนินการพิจารณา พิจารณาโดยใช้ความเชี่ยวชาญของความเป็นแพทย์ ดูจากประวัติ จากข้อมูลต่างๆ ดำเนินการพิจารณาเรื่องเงินเยียวยา และจ่ายเงินภายใน 5 วันหลังมีมติ ทั้งนี้ ในการพิสูจน์ ชันสูตร ไม่ต้องถึงขนาดพิสูจน์ถูกผิดจนจบกระบวนการว่าเกิดจากวัคซีนหรือไม่ ถ้าสงสัยว่าจะเกี่ยวกับวัคซีน ก็สามารถยื่นเรื่องขอรับเงินช่วยเหลือเบื้องต้นได้เลย การที่แพทย์บอกว่าไม่เกี่ยวกับวัคซีน ไม่ได้เป็นการตัดสินว่าจะไม่จ่ายเงินชดเชย ไม่ต้องรอผลการชันสูตรอะไรทั้งสิ้น

ทั้งนี้ หากพิสูจน์ภายหลังว่าไม่ได้เกิดจากวัคซีน จะเรียกเงินคืนหรือไม่นั้น แม้ว่าต่อมาจะพิสูจน์ได้ว่าการเสียชีวิตหรือเจ็บป่วยไม่ได้มาจากวัคซีน ก็จะไม่มีการเรียกเงินคืนแต่อย่างใด กรณีไม่พอใจผลการวินิจฉัย ต้องทำอย่างไร มีสิทธิยื่นอุทธรณ์ต่อเลขาธิการภายใน 30 วันนับตั้งแต่วันทราบผล ยื่นที่สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด หรือ “สปสช.” สาขาเขตพื้นที่ที่ได้รับความเสียหาย สอบถามเพิ่มเติม สายด่วน สปสช. โทร. 1330

ล่าสุด ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ได้โทรสอบถามทางสสจ.นายแพทย์ โชคชัย สาครพาณิช สาธารณสุขจังหวัดปราจีนบุรีได้ให้ข้อมูลมาว่า จากที่เกิดเหตุการเสียชีวิตหลังจากการฉีดวัคซีน ทางสาธารณสุขได้รวบรวมข้อมูลซึ่งผลจากเคสนี้ได้รับรายงานว่ามีโรคประจำตัวคือความดันสูง จากสถิติและข้อมูลยังไม่มีผู้เสียชีวิตเกี่ยวข้องหรือเชื่อมโยงกับการฉีดวัคซีนแล้วเสียชีวิตจากความดันสูง ทั้งนี้ถ้าหากทางญาติติดใจในเรื่องของการเสียชีวิตก็สามารถยื่นเรื่องมาทางสสจ.และทางเราจะนำศพของผู้เสียชีวิตไปผ่าพิสูจน์ ว่ามีการเกี่ยวพันกับการฉีดวัคซีนและเสียชีวิตหรือไม่ ตอนนี้ทางสสจ.จะส่งหน่วยสาธารณสุขลงไปพูดคุยกับทางญาติผู้เสียชีวิตอีกครั้งหนึ่ง

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image