สกู๊ปหน้า 1 : ฝนหนัก-ท่วมเมือง แต่เขื่อนขาดน้ำ

สกู๊ปหน้า 1 : ฝนหนัก-ท่วมเมือง แต่เขื่อนขาดน้ำ

สถานการณ์น้ำฝนในช่วง 8 เดือนที่ผ่านมาถึงเข้าสู่กลางเดือนที่ 9 ของปี 2564 โดย 8 เดือนแรกภาวะรวมฝนน้อยมาก
ตามที่สถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ (สสน.)
กระทรวงการอุดมศึกษาวิทยาศาสตร์วิจัย
และนวัตกรรม (อว.) คาดการณ์ไว้ตั้งแต่ต้นปี

คือ จะมีฝนตกมากในช่วงเดือนเมษายน ฝนตกลงมาตรงตามคาดจนมีน้ำไหลลงเขื่อน 4 หลัก (ภูมิพล สิริกิติ์ แควน้อย และเขื่อนป่าสักฯ) ในปริมาณ 350 ล้านลูกบาศก์เมตร แต่หลังจากที่ประกาศว่าประเทศไทยเข้าสู่ฤดูฝนในเดือนพฤษภาคม ปริมาณฝนกลับน้อยลงอย่างเห็นได้ชัด ทำให้ภาพรวมของปริมาณน้ำฝนในช่วง 8 เดือนที่ผ่านมา ฝนตกน้อยกว่าค่าเฉลี่ย

พื้นที่ที่มีฝนน้อยกว่าค่าเฉลี่ย คือ บริเวณเหนือเขื่อนภูมิพล บริเวณเหนือเขื่อนสิริกิติ์ เหนือเขื่อนป่าสักฯ รวมถึงพื้นที่ส่วนใหญ่ของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ยกเว้นบางพื้นที่ของ จ.นครราชสีมา โดยเฉพาะในพื้นที่เขาใหญ่ที่ยังได้รับฝนจากอิทธิพลมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ พัดฝนเข้ามาในพื้นที่

หากดูปริมาณฝนที่ตกลงมาในเดือนสิงหาคม ปกติแล้วจะต้องมีร่องมรสุมพาดผ่านภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ แต่ปีนี้พบความผิดปกติค่อนข้างมาก กล่าวคือ แทบจะไม่มีร่องมรสุมพาดผ่านบริเวณนี้เลย ที่มีเด่นชัดก็แค่ช่วงปลายเดือนสิงหาคม แต่ร่องมรสุมดังกล่าวกลับกระโดดลงมาอยู่ที่ภาคกลาง และภาคตะวันออก ที่ส่งผลให้เกิดฝนตกหนัก และน้ำท่วมในพื้นที่พัทยา นิคมอุตสาหกรรมบางปู ขณะที่พื้นที่ภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ กลับมีฝนตกน้อยมาก เมื่อเข้าสู่ 2 สัปดาห์แรกของเดือนกันยายน ปริมาณฝนตกเพิ่มขึ้นภายในประเทศอย่างชัดเจน

Advertisement

แต่จากการตรวจสอบพบว่า บริเวณเหนือเขื่อนภูมิพลและเหนือเขื่อนสิริกิติ์ยังมีฝนตกน้อยมาก ฝนรวมราวๆ 14 วันแรกของเดือนกันยายนนั้น บริเวณเหนือเขื่อนภูมิพลและเหนือเขื่อนสิริกิติ์ มีปริมาณฝนตกรวมกัน ไม่ถึง 50 มิลลิเมตร ขณะที่พื้นที่อื่นทั่วประเทศฝนตกรวมกันแล้วได้ปริมาณประมาณ 300-400 มิลลิเมตร ทำให้ปัจจุบัน 4 เขื่อนหลักในพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยา มีน้ำที่ใช้การได้น้อยมากๆ คือ ประมาณ 3,000 ล้านลูกบาศก์เมตร เท่านั้น

ทั้งนี้ ประเทศไทยต้องการใช้น้ำในฤดูแล้ง หรือจะต้องสำรองน้ำไว้ใช้ต้นฤดูฝนเผื่อฝนมาช้า ในช่วงเวลาดังกล่าว 8,000-12,000 ล้านลูกบาศก์เมตร ดังนั้น เขื่อนยังมีปริมาณน้ำน้อยมากและสามารถรับน้ำได้อีกมาก หากเปรียบเทียบกับเมื่อปี 2554 ที่มีน้ำท่วมใหญ่ หลายพื้นที่ในประเทศไทย โดยเฉพาะพื้นที่กรุงเทพมหานคร เวลานี้ของเมื่อปี 2554 ตอนนั้นประเทศไทยมีน้ำในเขื่อนหลัก 4 แห่ง รวมกันแล้วเป็นปริมาณประมาณ 22,000 ล้านลูกบาศก์เมตรแล้ว แต่เวลานี้ฝนตกน้อยและน้ำในเขื่อนก็น้อยมาก ปี 2554 ที่เกิดน้ำท่วมใหญ่ น้ำที่ท่วมส่วนหนึ่งมาจากความจำเป็นที่เขื่อนภูมิพลและเขื่อนสิริกิติ์จะต้องปล่อยน้ำออกมา เพราะน้ำกำลังล้นเขื่อน

ถามว่า ที่เห็นฝนตกหนัก หลายพื้นที่ในเวลานี้จะทำให้เกิดน้ำท่วมเหมือนปี 2554 หรือไม่ ตอบได้ว่า เหตุการณ์ทั้ง 2 ช่วงเวลาต่างกันมาก ปี 2564 นอกจากน้ำไม่ท่วมแล้ว อาจต้องกังวลถึงน้ำในฤดูแล้งปีหน้าด้วย ถามว่า เหตุการณ์ที่เกิดน้ำท่วมหลายพื้นที่ ตั้งแต่ปลายเดือนสิงหาคมถึงกลางเดือนกันยายน คืออะไร คำตอบคือ ฝนที่ตกอยู่ในเวลานี้ ส่วนใหญ่เป็นฝนท้ายเขื่อน และฝนที่ตกในเขตชุมชนเมือง โดยเฉพาะฝนในพื้นที่เมืองพัทยาและนิคมอุตสาหกรรมบางปูนั้น พบว่า มีความชื้นเคลื่อนตัวจากทะเลเข้ามา เมื่อความชื้นเข้ามาในเมืองที่มีอุณหภูมิสูงกว่า ความชื้นนั้นก็จะยกตัวขึ้นเป็นฝนได้ง่าย ทำให้เกิดฝนตกหนักเป็นจุดๆ และเกิดน้ำท่วม เพราะการเปลี่ยนแปลงสภาวะภูมิอากาศ และมีการเปลี่ยนแปลงการใช้ประโยชน์จากที่ดิน ที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว ซึ่งหน่วยงานที่ดูแลรับผิดชอบเรื่องนี้จะต้องศึกษาหาทางรับมือกับปัญหาที่เกิดขึ้น

Advertisement

จากการคาดการณ์ฝนของสถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ คาดเอาไว้คือ เดือนกันยายนถึงเดือนตุลาคม 2564 นี้ ประเทศไทยจะมีปริมาณน้ำฝนมากกว่าค่าปกติ และน่าจะมีพายุอย่างน้อย 1 ลูก เคลื่อนที่เข้ามาทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และอ่อนกำลังในภาคเหนือ พื้นที่ฝนตกส่วนใหญ่จะตกในเขตภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคเหนือตอนล่าง และจะตกบริเวณท้ายเขื่อนมากกว่า อาจทำให้ไม่มีน้ำไหลลง
ในเขื่อนมากนัก ตอนนี้พบสัญญาณว่าจะมีพายุก่อตัวที่จะเคลื่อนตัวเข้ามาทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือในช่วงปลายเดือนกันยายนนั้น ก็จะส่งผลให้เกิดฝนตกหนักในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑลด้วย อาจจะเกิดน้ำท่วมขังในหลายพื้นที่ในช่วงเวลาดังกล่าว หน่วยงานที่เกี่ยวข้องในพื้นที่จึงต้องหาทางรับมือในเรื่องนี้ให้ดี ทั้งการเตรียมเครื่องมือสูบน้ำ และหาทางระบายน้ำลงแม่น้ำเจ้าพระยา หรืออ่าวไทยให้ทันท่วงที

คำถามที่ว่า พายุที่จะเข้ามาจะช่วยเพิ่มปริมาณน้ำในเขื่อนได้มากน้อยแค่ไหน จากการคำนวนของ วาฟ-รอม พบว่าฝนตกเต็มที่แล้ว น่าจะมีน้ำเข้ามาเติมในเขื่อนได้อีกราวๆ 2,000-3,000 ล้านลูกบาศก์เมตร หมายความว่า ถึงตอนนั้นจะทำให้มีน้ำใช้การได้ของ 4 เขื่อนหลักลุ่มน้ำเจ้าพระยาในเขื่อนรวมกับที่มีอยู่เวลานี้ ประมาณ 5,000-6,000 ล้านลูกบาศก์เมตร ซึ่งก็ไม่เพียงพอสำหรับน้ำที่ต้องเก็บไว้ใช้ ที่ต้องเก็บให้ได้ 8,000-12,000 ล้านลูกบาศก์เมตร อยู่ดี หรือยังขาดน้ำที่จะต้องสำรองไว้ใช้ในฤดูแล้งอีก 4,000-5,000 ล้านลูกบาศก์เมตร สิ่งที่น่ากังวลคือ มีการคาดการณ์กันว่า ตั้งแต่เวลานี้ไปจนถึงฤดูแล้งหน้า น่าจะมีคนที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 อาศัยอยู่ในเขตเมือง กลับไปใช้ชีวิตที่บ้านเกิดประมาณ 5 ล้านคน คนกลุ่มนี้ตั้งความหวังไว้ว่าจะกลับไปประกอบอาชีพทำการเกษตร หากกลับบ้านไปแล้ว ยังขาดน้ำสำหรับการทำการเกษตร ยิ่งซ้ำเติมการใช้ชีวิตเข้าไปอีก นั่นหมายความว่า การฟื้นตัวทางเศรษฐกิจหลังโควิดก็จะยากขึ้นอีก อีกทั้งน้ำของ 4 เขื่อนหลักของลุ่มน้ำเจ้าพระยา เป็นแหล่งน้ำต้นทุนสำคัญของที่นาทั่วทั้งภาคกลางที่ผ่านมา น้ำในเขื่อนน้อยจนต้องงดทำนาปรังมาต่อเนื่องแล้ว 3 ปี หากน้ำไม่พอปีหน้าก็อาจต้องงดทำนาปรังอีกครั้งเป็นปีที่ 4 แหล่งปลูกข้าวที่มั่นคงของไทยก็จะลำบาก หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะต้องคิดถึงปัญหานี้เอาไว้ให้มากๆ และหาทางอุดรอยรั่วเสียแต่เนิ่นๆ รวมถึงประชาชนคงต้องหันมาช่วยตัวเองมีการเก็บน้ำในพื้นที่เอาไว้ใช้ในหน้าแล้ง เพราะน้ำในเขื่อนจะไม่มั่นคงอีกต่อไป

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image