ชาวอุดรฯ ร้อง ส.ส. เครื่องบินรบสิงคโปร์เสียงดังหูแทบแตก ขึ้นลงที บ้านสั่น-หลังคาหลุด

กมธ.ตปท.จี้ บน.23 ลดเสียง F16 สิงคโปร์

เมื่อเวลา 13.30 น. วันที่ 22 กันยายน 2564 ที่ห้องประชุมภายในกองบิน 23 อุดรธานี นายศราวุธ เพชรพนมพร ประธานกรรมาธิการการต่างประเทศ สภาผู้แทนราษฎร พร้อมนายเกียรติ สิทธิอมร รองประธานฯ นายจักพล ตั้งสุทธิธรรม โฆษกฯ และคณะ ร่วมประชุมติดตามผลกระทบทางเสียงจากการฝึกบินเครื่องบิน เอฟ 16 กองทัพอากาศสิงคโปร์ ร่วมกับกองทัพอากาศไทย โดยมีนายปราโมทย์ ธัญญพืช รอง ผวจ.อุดรธานี นายวิเชียร ขาวขำ นายก อบจ.อุดรธานี นำหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และผู้ได้รับผลกระทบร่วมประชุม โดยมี น.อ.สุรศักดิ์ เสสะเวช ผบ.บน.23 ชี้แจงการแก้ไขปัญหา

นายศราวุธ เพชรพนมพร ประธานกรรมาธิการการต่างประเทศ สภาผู้แทนราษฎร กล่าวว่า เป็น ส.ส.ในพื้นที่ได้รับคำร้องเรียนมาก จึงนำเรื่องนี้เข้ากรรมาธิการฯ ได้รับฟังคำชี้แจงไปบ้างแล้ว ว่าเป็นข้อตกลงของกองทัพอากาศไทยกับกองทัพอากาศสิงคโปร์ เข้ามาร่วมฝึกในพื้นที่ 3 สนามบิน และมีสนามบินอุดรธานีอยู่ด้วย ซึ่งสนามบินนี้อยู่คู่กับอุดรธานีมานาน ตั้งแต่เป็นฐานบินของกองทัพสหรัฐ จนมาถึงปัจจุบันมีสนามบินพาณิชย์มาใช้ร่วม วันนี้ได้ลงมาดูพื้นที่จริง พร้อมกับขอให้กรมควบคุมมลพิษมาตรวจวัดเสียงเกินมาตรฐานหรือไม่ เพื่อหาวิธีอยู่ด้วยกันให้ได้

ผู้ได้รับผลกระทบได้ชี้แจงที่ประชุม ทั้ง มทบ.24 อุดรธานี, รพ.ค่ายประจักษ์ศิลปาคม, รร.อนุบาลค่ายประจักษ์ฯ และ รร.อุดรพิชัยรักษ์พิทยา ระบุว่า เครื่องบินที่ขึ้นลงแบ่งเป็นเครื่องบินพาณิชย์, เครื่องบิน บน.23 สองส่วนนี้ได้รับผลกระทบน้อย และเครื่องบิน เอฟ 16 กองทัพอากาศสิงคโปร์ ได้รับผลกระทบมาก และขึ้นลงตลอดทั้งวัน ร.ร.ต้องหยุดเรียนชั่วคราว ขณะเครื่องบินขึ้น-ลง หรือบินผ่าน เด็กเล็กต้องใช้มืออุดหู หากเสียงมีความรุนแรงมาก วัดจากสัญญาณกันขโมยรถยนต์จะแจ้งเตือน รวมไปถึงรุนแรงจนอาคารเขย่า หลังคากระเบื้องสไลด์หลุดลงมา แม้ในช่วงหลังความรุนแรงลดลงแต่ก็ยังเดือดร้อนอยู่ เสนอย้ายการฝึกของสิงคโปร์ไปที่อื่น

Advertisement

น.อ.สุรศักดิ์ เสสะเวช ผบ.บน.23 ชี้แจงว่า รับทราบประเด็นข้อทุกข์ร้อน ไม่ได้นิ่งนอนใจในการแก้ไขในระยะสั้น คือ ปรับห้วงเวลาการบิน หลีกเลี่ยงกระทบสถานศึกษาและชุมชน เป็นวันละ 2 ช่วง เช้าขึ้น 08.30 น. ลง 09.40 น. บ่ายขึ้น 11.40 น. ลง 12.50 น. ในวันเปิดราชการ, ปรับวิธีการบินขึ้น-ลง ให้เสียงกระทบลดลง, กำกับดูแลเส้นทางและความสูง หลีกเลี่ยงการบินผ่านชุมชน และกิจกรรมมวลชนในชุมชนรับฟังปัญหาและแนวทางแก้ไข

“ส่วนแก้ไขปัญหาระยะกลางและยาว เนื่องจากปัจจุบันความเจริญ ขยายออกไปในพื้นที่ต่างๆ เส้นทางเดิมที่ใช้ฝึกก็มีชุมชน มีฟาร์มไก่ ฟาร์มหมู เส้นทางการบินก็ต้องปรับแก้ ขณะที่กองทัพอากาศมีแผนปรับปรุง สนามบินน้ำพอง จ.ขอนแก่น ซึ่งเป็น 1 ใน 5 สนามบินที่ น.23 รับผิดชอบอยู่ และมีรันเวย์ยาวเพียงพอ ให้เป็นศูนย์ฝึกบินขนาดใหญ่ ขณะนี้ได้เริ่มดำเนินการแล้ว กองทัพอากาศก็มีแผนอีก 3-5 ปี จะย้ายการฝึกของกองทัพสิงคโปร์ไปที่นั่น”

Advertisement

นายวิชญ์วารุตม์ สมจันทร์ นักวิชาการสิ่งแวดล้อมชำนาญการ กรมควบคุมมลพิษ ชี้แจงว่า กรมได้ติดตั้งอุปกรณ์ตรวจวัดเสียงอากาศยาน บริเวณหัว-ท้ายรันเวย์ด้านละ 2 จุด คือที่ รพ.ค่ายประจักษ์ฯ, ร.ร.อนุบาลค่ายประจักษ์, ร.ร.อุดรพิชัยรักษ์พิทยา และวัดป่าบ้านถ่อน ผลการตรวจวัดยังไม่สมบูรณ์ ผลเบื้องต้นที่ ร.ร.อุดรพิชัยรักษ์ ค่าเฉลี่ย 65.2 และที่วัดป่าบ้านถ่อน ค่าเฉลี่ย 64.8 ไม่เหมาะใช้เป็นที่อยู่อาศัย จะต้องมีการปรับปรุงแหล่งกำเนิด หรือสาธารณูปการ ส่วนระดับเสียงสูงสุดคือ 101

นายเกียรติ สิทธีอมร รองประธานกรรมาธิการการต่างประเทศ สภาผู้แทนราษฎร กล่าวว่า เห็นว่ากองบิน 23 และกองทัพอากาศ มีความตั้งใจแก้ไขปัญหา ทั้งเรื่องปัญหาระยะสั้นและยาว ที่อนาคตจะย้ายไปฝึกในสนามบินอื่น ระหว่างรอการย้ายจะทำอย่างไรได้บ้าง เพราะหาเปรียบกับค่ามาตรฐาน สนามบินในอเมริการและยุโรป ค่าเฉลี่ยกลางวันไม่เกิน 75 กลางคืนไม่เกิน 65 ซึ่งตอนนี้จุดสูงสุดหลังปรับปรุงแล้ว 101 แนะนำให้หาอุปกรณ์ใส่หูเด็ก ลดเสียงลงกว่านี้ก่อนได้หรือไม่ หรือการทำความเข้าใจกับสิงคโปร์ ลดจำนวนเที่ยวบินที่อุดรลงอีก เชื่อว่าสิงคโปร์เข้าใจ

นายศราวุธ เพชรพนมพร ประธานกรรมาธิการการต่างประเทศ สภาผู้แทนราษฎร กล่าวว่า เป็นข่าวดีในระดับหนึ่ง ที่มีแผนแก้ไขระยะยาว ชาวอุดรฯก็จะสบายใจมากขึ้น เพราะบันทึกข้อตกลงแก้ไขได้ทุก 5 ปี ก็หวังว่าการแก้ไขสัญญาครั้งต่อไป หากมีการใช้สนามบินนี้ ชาวอุดรธานีก็ขอมีความร่วมด้วย ขณะเดียวกันหากมีการเร่งรัด การปรับปรุงสนามบินน้ำพอง ให้สามารถใช้งานและย้ายไปได้เร็วขึ้น คณะกรรมาธิการฯก็พร้อมช่วยผลักดันงบประมาณ ส่วนปัญหาในช่วงนี้ก็จะพูดคุยรายละเอียดอีกครั้ง

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image