เจ้าของสวนเมืองพร เขายายเที่ยงโคราช โอดเป็นแพะคดีรุกป่าสงวน ติดคุกกว่า 3 ปี จ่อยื่นฟ้องแพ่งธนารักษ์

เจ้าของสวนเมืองพร เขายายเที่ยงโคราช อ้างเป็นแพะคดีบุกรุกพื้นที่ป่าสงวน ปิดตำนาน 20 ปี ขอความเป็นธรรมกับสังคม จ่อฟ้องแพ่งเรียกค่าเสียหายที่เกิดจากภาครัฐ

เมื่อเวลา 11.00 น. วันที่ 23 กันยายน ที่โรงแรมโคราชโฮเต็ล อ.เมือง จ.นครราชสีมา นายเฉลิมเกียรติ คล้ายสุวรรณ อดีตเจ้าของ “สวนเมืองพร” แหล่งท่องเที่ยวเชิงเกษตรและอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมนานาชาติ ตั้งอยู่บริเวณทางขึ้นเขายายเที่ยง ต.คลองไผ่ อ.สีคิ้ว จ.นครราชสีมา พร้อมทนายความ ร่วมแถลงข้อเท็จจริง “น่าจะผิดปกติในคดีจุดจบสวนเมืองพร ตำนาน 20 ปี กับการต่อสู้ยาวนาน 16 ปี ได้สิ้นสุดลงด้วยความเป็นธรรมทั้งข้อกฎหมายและข้อเท็จจริงแล้วหรือไม่” พร้อมแสดงเอกสารหลักฐานที่เกี่ยวข้องเพื่อขอความเป็นธรรมกับสังคม

นายเฉลิมเกียรติเปิดเผยว่า ย้อนรอยที่ดินพิพาทมูลเหตุของคดีซึ่งตนทำสัญญาเช่ากับราชพัสดุจังหวัด กรมธนารักษ์ กระทรวงการคลัง จำนวนพื้นที่ 36 ไร่ 65.6 ตารางวา โดยเช่าตามคำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุด และตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 22 เมษายน 2539 วัตถุประสงค์ 5 สัญญา ประกอบด้วย เพื่อการเกษตร 2 สัญญา, เพื่ออยู่อาศัย 2 สัญญา และเพื่อประโยชน์อย่างอื่น

นายเฉลิมเกียรติกล่าวว่า ขอทวงถามความเป็นธรรมการเรื่องดำเนินคดีและความคืบหน้าการร้องเรียน เมื่อวันที่ 26 มกราคมและช่วงเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา ได้ยื่นหนังสือร้องเรียนกับ พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ เตมียเวส ส.ส และประธานคณะกรรมาธิการการป้องกันและปราบปรามการทุจริตประพฤติมิชอบ (กมธ.ป.ป.ช.) สภาผู้แทนราษฎร พร้อมแนบรายละเอียดทางคดีและเอกสารกรมป่าไม้ เนื่องจากเคยเป็นผู้ต้องราชทัณฑ์ หรือนักโทษ ข้อหาบุกรุกป่าสงวนแห่งชาติ ศาลฎีกาตัดสินจำคุก 8 ปี ในคดีที่ 16060/2557 เมื่อวันที่ 8 ธันวาคม 2557 หลังถูกคุมขังในเรือนจำกว่า 3 ปี ได้รับพระราชทานอภัยโทษทั่วประเทศปี 2562 เป็นนักโทษชั้นเยี่ยมได้ลดโทษและพักการลงโทษตามระเบียบกรมราชทัณฑ์

Advertisement

“ข้อหาบุกรุกป่าสงวนแห่งชาติน่าจะผิดปกติ คือเป็นที่ดินแปลงเดียวกันกับที่ดินที่เช่ากับกรมธนารักษ์ โดยชำระค่าเช่าต่อเนื่องตามสัญญาเช่นเดียวกันกับราษฎรกว่า 300 ครอบครัว รวมระยะเวลากว่า 20 ปี ไม่เคยผิดสัญญา และที่ดินที่มิได้ล่วงล้ำเกินเลยจากสิทธิตามสัญญา แต่ทำไมต้องติดคุก

“สัญญานี้เป็นการเช่าคุกกรมราชทัณฑ์ หรือเช่าที่ดินกรมธนารักษ์ ซึ่งในคดีใครคือผู้บุกรุกป่าสงวนตัวจริง ที่ผ่านมาผมถูกเลือกปฏิบัติทั้งๆ ที่เป็นคู่สัญญาที่ถูกต้องตามกฎหมายกับกรมธนารักษ์ ไม่มีเจตนากระทำความผิดจะรู้ได้อย่างไรว่าใครเป็นผู้มีอำนาจในที่ดิน พิพาทตามคำพิพากษาของศาลฎีกา เมื่อคดีสิ้นสุดต้องเป็นบรรทัดฐานในการตัดสินต่อไป อาจส่งผลร้ายกับผู้ทำนิติกรรมกับภาครัฐไม่ว่าอดีต ปัจจุบัน หรืออนาคต โดยเฉพาะกับกรมธนารักษ์ ในประเด็นการกระทำความผิดควรดูที่เจตนาหรือไม่

“ชีวิตต้องเริ่มต้นกันใหม่ทั้งหมด ทั้งๆ ที่สัญญาเช่าที่ดินจากกรมธนารักษ์ทั้ง 5 ฉบับยังมีผลบังคับใช้ครอบครองที่ดินโดยชอบ ค่าเช่าชำระตามสัญญา เป็นประโยชน์ของแผ่นดิน เฉลี่ย 3-4 หมื่นบาทต่อปี แต่กลับติดคุกได้อย่างไร” นายเฉลิมเกียรติกล่าว

Advertisement

นายเฉลิมเกียรติกล่าวต่อว่า ขอให้พิจารณาให้ความเป็นธรรมการสอบข้อเท็จจริง และหากผลเชิงประจักษ์ถึงความผิดพลาดในกระบวนการยุติธรรม และการผิดสัญญาของกรมธนารักษ์ ขอรับการชดเชย หรือเยียวยาในสิ่งที่ควรได้รับตามกฎหมาย เช่น 1.คืนสิทธิสัญญาการเช่า 2.ชดใช้คืนสิ่งก่อสร้างที่สูญเสียไปทั้งหมดจากการต้องถูกรื้อถอนตามคำบังคับคดี จำนวนเงิน 43,633,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5% ต่อปี ตามหลักฐานที่ได้ยื่นฟ้องต่อศาลปกครองกลาง

นายเฉลิมเกียรติกล่าวว่า 3.ค่าเสียหายที่อาจต้องชดใช้ให้แก่กรมป่าไม้ตามเอกสารที่แนบมาพร้อมนี้ด้วยแล้วเป็นจำนวนเงิน 4,443,320.25 บาท พร้อมดอกเบี้ย 7.5% ต่อปี นับแต่ 1 มีนาคม 2544 เป็นต้นมา 4.ขาดโอกาสทางธุรกิจ หมดเครดิตทางการเงิน 5.เสื่อมเสียชื่อเสียงทางสังคม 6.ขาดอิสสระภาพโดยถูกจองจำเป็นเวลากว่า 3 ปี และสิทธิมนุษยชนอันพึงมี

“ขณะนี้ได้มอบหมายให้ที่ปรึกษากฎหมายรวบรวมพยานหลักฐานยื่นฟ้องแพ่งต่อคู่สัญญา คือกรมธนารักษ์ตามสิทธิและกระบวนการกฎหมาย และขอตั้งคำถามถึงประธานคณะกรรมการตุลาการ, ประธานศาลฎีกา, รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม คดีนี้ได้สิ้นสุดลงด้วยความเป็นธรรมทั้งข้อกฎหมายและข้อเท็จจริงแล้วใช่หรือไม่” นายเฉลิมเกียรติกล่าว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image