นักวิจัยทีมไทยปรับโจทย์ผลิตวัคซีนโควิดใหม่ เล็ง บูสเตอร์ โดส สนองตลาดในและนอก ปท. ปี’65

นักวิจัยทีมไทยปรับโจทย์ผลิตวัคซีนโควิดใหม่ เล็ง บูสเตอร์ โดส สนองตลาดในและนอก ปท. ปี’65

วันที่ 29 กันยายน ที่สถาบันวัคซีนแห่งชาติ ศ.นพ.เกียรติ รักษ์รุ่งธรรม ผู้อำนวยการบริหารโครงการพัฒนาวัคซีนโควิด-19 ศูนย์วิจัยวัคซีน คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวตอนหนึ่งในการเสวนา THAILAND COVID-19 VACCINE FORUM 2021 กรณีความก้าวหน้าการพัฒนาวัคซีนไทยสู้โควิด-19 ว่า ในประเด็นคำถามว่า ขณะนี้คนไทยได้รับวัคซีน คาดว่าปีหน้าอาจได้รับครบ 2 เข็ม มากกว่า ร้อยละ 70 รวมถึงคนได้รับเข็มที่ 3 แล้ว ขณะเดียวกัน การพัฒนาวัคซีนของไทยที่กำลังทำขณะนี้จะนำมาฉีดต่อเนื่องอย่างไรนั้น เป็นความท้าทายของการทำวัคซีนตามหลังเขา 1 ปีเศษ ซึ่งมีการฉีดวันละกว่าล้านโดส ความท้าทายจึงอยู่ที่จะขึ้นทะเบียนอย่างไร ซึ่งเราต้องหารือกับสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) คาดว่าต้องเริ่มต้นในผู้ที่ยังไม่ได้รับวัคซีนมาก่อน

“แต่ข้อเท็จจริง สิ้นปีนี้ ประชากรน่าจะได้รับวัคซีนเกิน ร้อยละ 70 โดยเฉพาะเมืองใหญ่น่าจะเกินร้อยละ 80-90 ดังนั้น การจะหาอาสาสมัครในการทำระยะ 2 หรือ ระยะ 3 ก็เป็นความท้าทาย แต่จริงๆ แล้วสุดท้ายปีหน้า หากมีการขึ้นทะเบียน ก็จะเป็นเข็มที่ 3 หรือเข็มที่ 4 แล้ว ซึ่งเรากำลังหารือแบบคู่ขนานกับ อย. ว่า เมื่อได้ผลความปลอดภัยในระยะ 2 ก็อยากทำระยะ 1 ของเข็มบูสเตอร์ หาขนาดโดสที่เหมาะสมคู่กันไป ข้อมูลหลายวัคซีนในการฉีดเข็มที่ 3 โดยเฉพาะ mRNA ชัดเจนว่า ฉีดครึ่งโดสได้ผล เราเห็นแล้วว่า CHULA COV-19 ขนาดต่ำ 10-25 ไมโครกรัม สำหรับในผู้ที่ไม่เคยรับวัคซีนมากกว่าจะใช้เวลาหลังการฉีดเข็มที่ 2 ประมาณ 1 เดือน ภูมิฯ ขึ้นสูงกว่าวัคซีนที่เป็นคู่เทียบ เราจึงเชื่อว่าการทำวิจัยระยะ 1 หรือ 1/2 เพื่อหาขนาดและความปลอดภัยที่เหมาะสมในเข็มที่ 3 และเข็มที่ 4 เป็นสิ่งที่ผู้พัฒนาต้องหารือคู่ขนานกับ อย.” ศ.นพ.เกียรติ กล่าว

ด้าน ผศ.ภญ.สุธีรา เตชคุณวุฒิ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท ใบยา ไฟโตฟาร์ม จำกัด กล่าวว่า ในฐานะผู้วิจัยและพัฒนา ก็อยากให้วัคซีนไปถึงมือประชาชนซึ่งเป็นเป้าหมายสูงสุด ทั้งนี้ โควิดเปลี่ยนแปลงทุกวัน ในแง่การออกแบบศึกษาในระยะถัดไปต้องเปลี่ยนแปลงไปตามสถานการณ์ของผู้ได้รับวัคซีนด้วย คงต้องดูและติดตามต่อไป วันนี้มีวัคซีนแคนดิเดตทั่วโลกค่อนข้างเยอะ จึงต้องดูว่า จะดำเนินการอย่างไร ทางใบยามองว่า วัคซีนเป็นส่วนหนึ่ง แต่เรื่องระบบนิเวศ องค์ความรู้ที่เกิดขึ้นในประเทศไทย ไม่ได้เอื้อแค่วัคซีนเพียงอย่างเดียว แต่ยังมีโรคอื่นที่ทำให้เรามีองค์ความรู้ มีแพลตฟอร์มในการผลิตวัคซีน

“เรามีประสบการณ์ที่วันนี้วงการวัคซีนในประเทศไทยเดินทางมาไกลที่สุด มี 3 แพลตฟอร์มที่เข้าทดสอบในคนและเตรียมที่จะเข้าอีก ดังนั้น เรื่องระบบนิเวศจะเป็นระยะยาวเพื่อตอบสนองและพัฒนายาวัคซีนชนิดอื่นๆ” ผศ.ภญ.สุธีรา กล่าว

Advertisement

ขณะที่ ดร.อนันต์ จงแก้ววัฒนา ผู้อำนวยการวิจัยนวัตกรรมสุขภาพสัตว์และการจัดการไบโอเทค สวทช. กล่าวว่า คำถามคือ หากเรามีวัคซีนหลายตัวแล้วจะเลือกใช้ตัวไหนดี ประเด็นคือความปลอดภัย และประสิทธิภาพ หลายคนกังวลว่า หากข้อมูลยังไม่มากพอ เราจะกล้าใช้วัควัคซีนไขว้หรือไม่ ซึ่งเป็นประเด็นสำคัญที่เราต้องทำการทดลองต่อไป โดยหลายทีมในประเทศไทย ก็พยายามหาคำตอบให้กับพวกเราในการฉีดวัคซีนแพลตฟอร์มต่างกัน จะแก้ไขปัญหาเรื่องความปลอดภัยที่หลายคนสงสัยได้หรือไม่ ส่วนประสิทธิภาพที่เราจะกระตุ้น จะสามารถรับวัคซีนได้ทุกรูปแบบหรือไม่ ฉะนั้น หลังจากข้อมูลต่างๆ ทั้ง mRNA กระตุ้นเชื้อตาย หรือจะใช้ไวรัลเวกเตอร์ มีข้อมูลชัดว่าเราใช้วัคซีนต่างรูปแบบ แต่จะเป็นรูปแบบไหนที่มีให้เราใช้ในอนาคต ซึ่งเชื่อว่าเรามีตัวเลือกหลายตัวที่จะเลือกใช้ได้

ทั้งนี้ ดร.ทรงพล ดีจงกิต กรรมการผู้จัดการ บริษัท สยามไบโอไซเอนซ์ จำกัด กล่าวว่า คิดว่ากว่าวัคซีนจะออกมาก็กลางปีหน้าเป็นอย่างเร็ว ถึงขณะนั้น หากมองเฉพาะในไทย ก็น่าจะฉีด 2 เข็ม เกิน ร้อยละ 70 ของประชากร ถึงต้องทำการศึกษาในตอนนี้ ดังนั้น หากดีไซน์ออกมาเป็นบูสเตอร์เลย ก็จะตอบโจทย์ทั้งในไทยและต่างประเทศ หากเรามองและตั้งโปรไฟล์วัคซีนที่มีตอนนี้ให้สอดคล้องกับการเป็นเอนเดอร์มิก (Endemic) ก็จะตอบโจทย์ในระยะถัดไป แต่สุดท้าย ความสามารถที่เราสามารถผลิตได้อย่างครบวงจรด้วยโจทย์ คือ โควิด-19 ทำให้เราไปต่อกับโจทย์ใหม่ได้เร็ว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image