ตร.สภ.น้ำเกลี้ยง ติดโควิด 51 ราย จาก 60 ราย สสจ.ศรีสะเกษ เร่งสอบสวนคลัสเตอร์

สสจ.ศรีสะเกษ เร่งสอบสวนคลัสเตอร์ สภ.น้ำเกลี้ยง ติดโควิดกว่า 50 นาย

เมื่อวันที่ 5 ตุลาคม นพ.ทนง วีระแสงพงษ์ นายแพทย์สาธารณสุข (นพ.สสจ.) ศรีสะเกษ เปิดเผยถึงกรณีมีรายงานตรวจพบการระบาดของโรคโควิด-19 เป็นกลุ่มก้อน (คลัสเตอร์) ของเจ้าหน้าที่ตำรวจภูธรน้ำเกลี้ยง จ.ศรีสะเกษ มากกว่า 50 นาย ว่า ขณะนี้อยู่ระหว่างการสอบสวนโรคว่า ต้นตอการติดเชื้อเป็นมาอย่างไร เบื้องต้นที่ตรวจพบ เนื่องจากมีเจ้าหน้าที่ตำรวจป่วยไปรักษาที่โรงพยาบาล และตรวจพบว่ามีการติดเชื้อโควิด-19 ดังนั้นจึงได้มีการระดมตรวจกลุ่มสัมผัสเสี่ยงสูงคือเพื่อนร่วมงาน ซึ่งก็พบว่ามีการติดเชื้อรวมทั้งหมด 51 นาย จากเจ้าหน้าที่ตำรวจใน สภ. ทั้งหมด 60 นาย เบื้องต้นได้มีการเปิด รพ.สนาม เพื่อดูแลเจ้าหน้าที่ตำรวจที่ติดเชื้อซึ่งส่วนใหญ่เป็นผู้มีร่างกายแข็งแรง ทำให้ส่วนใหญ่ป่วยไม่มีอาการ หรือมีอาการน้อย ส่วนอีก 9 นาย ถือเป็นผู้สัมผัสเสี่ยงสูง ต้องให้กักตัวเพื่อดูอาการและตรวจซ้ำ

“ถามว่าไทม์ไลน์เจ้าหน้าที่ตำรวจไปไหนมาบ้างนั้น อยู่ระหว่างการสอบสวนโรค ว่ามีการทำกิจกรรมอะไรที่มีความสุ่มเสี่ยงที่จะติดโควิด-19 หรือไม่ เช่น ไปจับผู้ร้าย ไปออกชุมชนที่ไหนบ้าง ตอนนี้อยู่ระหว่างการสอบสวน รวมถึงสอบสวนโรค และตรวจไปถึงครอบครัวเจ้าหน้าที่ตำรวจด้วย อาชีพตำรวจก็เป็นอาชีพเสี่ยงเพราะต้องเจอคนเยอะ ต้องออกจับผู้ร้าย” นพ.ทนง กล่าว

นพ.สสจ.ศรีสะเกษ กล่าวว่า สำหรับสถานการณ์ใน อ.น้ำเกลี้ยง นั้น ถือว่าเป็นพื้นที่ค่อนข้างสงบ ไม่มีปัญหาอะไร แต่จริงๆ ต้องอยู่ที่การสอบสวนโรคว่าตำรวจไปมีกิจกรรมเน้นหนักที่ไหน เช่น มีการไปออกตรวจตามชายแดนหรือไม่ หรือไปที่ไหนมา อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ได้มีนโยบายให้มีการออกตรวจเชิงรุก เพื่อค้นหาในชุมชนด้วย .

“เพราะกรณีที่เราตรวจเจอในกลุ่มเดียวถึง 51 นาย แล้ว ถือว่าอาจจะเป็นการเจอช้า นอกจากนี้ ในพื้นที่อื่นๆ ของศรีสะเกษ ที่อาจจะไม่ได้มีปัญหา พื้นที่ที่สงบแล้ว ก็ไม่ได้ประมาท แต่ให้มีการสุ่มตรวจเป็นระยะๆ รวมถึงการใช้ชุดตรวจแอนติเจน เทสต์ คิท (ATK) โดยเฉพาะในสถานที่ที่มีคนเยอะ เช่น ตลาด กลุ่มพ่อค้า แม่ค้า เป็นต้น รวมถึงกรณีการเจ็บป่วยมาโรงพยาบาลโดยเฉพาะกลุ่มโรคระบบทางเดินหายใจก็ต้องตรวจหาโควิดด้วย ทั้งนี้เพื่อให้สามารถประเมินกลุ่มเสี่ยงต่อไป ก่อนที่จะเกิดการระบาดโดยไม่รู้ตัว ทั้งนี้เป็นไปตามนโยบายค้นให้พบ จบให้เร็ว เจอให้รีบรักษาเพื่อไม่ให้มีการระบาดขึ้นอีก” นพ.ทนง กล่าว และว่า

Advertisement

“นอกจากนี้ ยังได้เน้นมาตรการการฉีดวัคซีนให้ครอบคลุม ร้อยละ 70 ของประชากรในพื้นที่ จะได้สามารถเปิดพื้นที่ จ.ศรีสะเกษ ให้ทำกิจกรรมได้อย่างสบายใจขึ้น เพราะการติดเชื้อนั้นสามารถติดกันได้ แต่หากติดแล้วไม่มีอาการ หรืออาการไม่รุนแรงก็ทำให้ไม่ต้องกังวล อนาคตก็กลายเป็นโรคประจำถิ่น ซึ่งวัคซีนก็จะมาช่วยเรื่องนี้ ซึ่งขณะนี้ใน จ.ศรีสะเกษ มีประชากร 1.5 ล้านคน แต่อยู่ในพื้นที่จริงๆ ประมาณ 1 ล้านคน ที่เหลือก็มีการไปทำงานต่างถิ่น ดังนั้น จะเร่งฉีดวัคซีนให้ได้ ร้อยละ 70 ของประชากร 1 ล้านคน หรือประมาณ 7 แสนคน ขณะนี้ดำเนินการฉีดวัคซีนเข็ม 1 แล้วประมาณ ร้อยละ 40 หรือประมาณ 4 แสนคน ส่วนคนที่ได้รับเข็มที่ 2 แล้ว ร้อยละ 20 หรือ 2 แสนกว่าราย”

นพ.ทนง กล่าวว่า ขณะนี้เน้นว่าทำอย่างไรจะฉีดให้เร็วกว้างที่สุด ครอบคลุมที่สุด หากฉีดได้ ร้อยละ 70 ก็จะเปิดจังหวัดได้แบบสบายๆ กิจกรรมแทบจะไม่ต้องไปปิดกั้นอะไรมาก ก็จะเดินต่อได้ แต่ต้องยอมรับว่าโควิด-19 ติดได้ แต่อาการไม่รุนแรง จึงเน้นให้คนเน้นการป้องกันตัวเองแบบครอบจักรวาลให้เสมือนหนึ่งว่าทุกคน แม้แต่ญาติพี่น้องร่วมบ้านนั้นเป็นผู้มีเชื้อโควิด-19 ต้องมีระยะห่าง สวมหน้ากาก ไม่รับประทานอาหารร่วมกันในระยะนี้

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image