วิกฤตการณ์แพลงก์ตอนบลูม น้ำแบ่ง 2 สี ปลาตายเกลื่อนปากอ่าวมหาชัย เผยสาเหตุน้ำเสียโรงงานมีส่วน

วิกฤตการณ์แพลงก์ตอนบลูม น้ำแบ่งเป็น 2 สี ปลาตายลอยเกลื่อนปากอ่าวมหาชัย เผยสาเหตุน้ำเสียโรงงานมีส่วน

เมื่อวันที่ 07 ตุลาคม 2564 นายอำนาจ หนูทอง ประมงจังหวัดสมุทรสาคร พร้อมด้วย นางสาวจอมขวัญ กลับบ้านเกาะ ส.ส.สมุทรสาคร และ เจ้าหน้าที่จากกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ได้ลงเรือตรวจการณ์ของกรมทรัพยากรทางทะเลฯ ออกตรวจเยี่ยมชาวประมงชายฝั่งตรงแนวเขตพื้นที่ตำบลบางกระเจ้า อ.เมือง จ.สมุทรสาคร และดูสภาพแม่น้ำ 2 สี หรือน้ำเบียดจากการไหลมาเจอกันระหว่างน้ำจืด กับ น้ำเค็ม ตลอดจนแนวโน้มของวิกฤตการณ์ “แพลงก์ตอนบลูม” ที่ส่งผลให้ปลาทั้งตัวเล็กและตัวใหญ่ที่แสดงให้เห็นถึงความอุดมสมบูรณ์ของทรัพยากรชายฝั่งทะเลนั้น ลอยตายเป็นแพสีขาวเกลื่อนบริเวณปากอ่าวมหาชัย

ซึ่งสภาพน้ำที่เห็น ณ ขณะนี้ มีสภาพเป็น 2 สี คือสีคล้ำแดงดำ กับ สีเขียว แบ่งแยกกันชัดเจน 2 ฝั่ง เป็นปรากฏการณ์ที่เกิดเองตามธรรมชาติ ในทุกๆ ปี ช่วงที่มีน้ำจืดไหลมาปะทะกับน้ำทะเล โดยเฉพาะอย่างยิ่งช่วงที่มีฝนตกหนัก และมีน้ำจืดไหลลงมาจากทางตอนบนของแม่น้ำท่าจีน ผสมกับน้ำเสียจากโรงงานอุตสาหกรรม กลายเป็นปัจจัยสำคัญทำให้เกิดปรากฎการณ์แพลงก์ตอนบลูมใต้ท้องทะเลตามมา

เมื่อแพลงก์ตอนมีจำนวนมากเกินไปได้รับแสงไม่เพียงพอประกอบกับสัตว์น้ำกินแพลงก์ตอนไม่ทัน ก็ทำให้แพลงก์ตอนตายลงจนเป็นปัจจัยทำให้น้ำเน่าเสียส่งผลให้ปลาและสัตว์น้ำหน้าผิวดินตายลอยเกลื่อน ยิ่งในส่วนตรงที่เป็นรอยเชื่อมต่อระหว่างน้ำสีเขียวกับน้ำสีคล้ำนั้น จะมีปลาตัวเล็กลอยตายเป็นสายยาวพร้อมกับมีฟองสำเทาดำคล้ายกับฟองอากาศ ลอยควบคู่กันไป

Advertisement

นายสายธาร แหวนทองคำ อายุ 51 ปี ชาวประมงชายฝั่งบอกว่า ปีนี้สภาพน้ำเสียส่งผลทำให้ปลาตัวเล็ก ตัวใหญ่ ที่อาศัยอยู่ตามแนวชายฝั่งทะเลตายเป็นแพลอยขาวไปหมด ก่อให้เกิดความเสียหายต่อทรัพยากรชายฝั่งเป็นจำนวนมาก ขนาดปลากะพงตัวใหญ่ยังตายเลย แล้วปลาตัวเล็กๆ จะไปเหลืออะไร

ขณะที่นายอำนาจ หนูทอง ประมงจังหวัดสมุทรสาคร ก็บอกว่า ปรากฏการณ์แม่น้ำสองสีหรือน้ำเบียดนี้ เป็นปรากฎการณ์ธรรมชาติที่เกิดขึ้นทุกปี ยิ่งในช่วงที่น้ำจืดจำนวนมากไหลมาเจอกับน้ำทะเล ก็จะส่งผลทำให้เกิดปรากฎการณ์แพลงก์ตอนบลูมตามมาด้วย โดยจะเกิดขึ้นในช่วงเดือนตุลาคม ถึงประมาณต้นเดือนพฤศจิกายน จากนั้นก็จะสภาพน้ำก็จะกลับเข้าสู่สภาวะปกติ

ส่วนความเสียหายจากวิกฤตการณ์แพลงก์ตอนบลูมในช่วงระยะเวลาดังกล่าว ก็จะส่งผลทำให้สัตว์น้ำวัยอนุบาลที่อาศัยอยู่ตามแนวชายฝั่งทะเลสมุทรสาคร และสัตว์น้ำที่หากินบริเวณหน้าผิวดินใต้ท้องทะเลนั้น ตายลงอย่างที่เห็น โดยในบางปีก็ยังส่งผลต่อการทำฟาร์มหอยสองฝาแถบชายฝั่งทะเลอีกด้วย ทั้งนี้แม้ชาวประมงจะไม่สามารถห้ามน้ำจืดจากทางตอนบนที่ไหลลงมา กับห้ามน้ำฝนไม่ให้ตกลงมาได้นั้น แต่สิ่งหนึ่งที่คนบนฝั่งสามารถช่วยชาวประมงชายฝั่ง หรือผู้ที่ทำมาหากินในทะเลได้ คือ การไม่ปล่อยน้ำเสีย ขยะ หรือสารพิษลงสู่แม่น้ำ เพราะสิ่งเหล่านี้เมื่อผสมปนลงมากับน้ำจืดนั้น ยิ่งส่งผลทำให้เกิดน้ำเสียในทะเลมากยิ่งขึ้น แล้วก็ส่งผลทำให้สัตว์น้ำในทะเลตายลง ก่อให้เกิดความสูญเสียทรัพยากรธรรมชาติทางทะเลเป็นอย่างมาก

Advertisement

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image