“ผู้ว่าฯชุมพร” สั่งตั้งคณะอนุกรรมการรับมือภัยพิบัติกรณีเร่งด่วน

“ผู้ว่าฯชุมพร” สั่งตั้งคณะอนุกรรมการรับมือภัยพิบัติกรณีเร่งด่วน

เมื่อวันที่ 12 ตุลาคม 2564 นายธีรวัฒน์ ธีระรัฐพล ผู้อำนวยการสถานีอุตุนิยมวิทยาจังหวัดชุมพร เปิดเผยว่า เมื่อเวลา 04.00 น.วันเดียวกัน พายุโซนร้อน “คมปาซุ” บริเวณทะเลจีนใต้ตอนบน มีศูนย์กลางอยู่ที่ละติจูด 19.1 องศาเหนือ ลองจิจูด 120.0 องศาตะวันออก มีความเร็วลมสูงสูดใกล้ศูนย์กลางประมาณ 100 กิโลเมตรต่อชั่วโมง กำลังเคลื่อนตัวทางทิศตะวันตกด้วยความเร็วประมาณ 25 กิโลเมตรต่อชั่วโมง คาดว่าจะเคลื่อนผ่านเกาะไหหลำ ประเทศจีน และขึ้นฝั่งที่ประเทศเวียดนามตอนบนในวันที่ 13-14 ตุลาคม 2564 โดยจะอ่อนกำลังลงตามลำดับ ลักษณะเช่นนี้จะทำให้ภาคตะวันออกเฉียงเหนือในวันดังกล่าวมีฝนเพิ่มมากขึ้น โดยมีฝนตกหนักถึงหนักมากบางแห่ง และยังมีร่องมรสุมพาดผ่านภาคเหนือตอนล่าง ภาคกลาง ภาคตะวันออก และภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง ขณะที่มรสุมตะวันตกเฉียงใต้กำลังแรงพัดปกคลุมทะเลอันดามัน ภาคใต้ และอ่าวไทย ลักษณะเช่นนี้ทำให้ภาคเหนือตอนล่าง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง ภาคกลาง ภาคตะวันออก และภาคใต้ฝั่งตะวันตก มีฝนตกหนักถึงหนักมากบางแห่ง ส่วนคลื่นลมบริเวณทะเลอันดามันและอ่าวไทยตอนบนมีกำลังแรงขึ้น โดยทะเลอันดามันและอ่าวไทยตอนบนมีคลื่นสูง 2-3 เมตร ส่วนอ่าวไทยตอนล่างมีคลื่นสูงประมาณ 2 เมตร และบริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 3 เมตร ขอให้ชาวเรือเดินเรือด้วยความระมัดระวัง เรือเล็กควรงดออกจากฝั่งในระยะนี้

“ช่วงวันที่ 13-14 ตุลาคม 2564 พายุโซนร้อน คมปาซุ จะเคลื่อนตัวไปทางเวียดนามตอนบน ประเทศไทยจะได้รับอิทธิพลเรื่องฝนตกหนักถึงหนักมาก นอกจากนั้น มรสุมตะวันตกเฉียงใต้ยังมีกำลังแรง จึงสอดรับกับพายุที่จะทำให้เกิดฝนตกหนัก ดังนั้น ประชาชนที่อยู่ในพื้นที่เสี่ยงภัยและพื้นที่ราบลุ่ม ต้องติดตามประกาศเตือนภัย เฝ้าระวังฝนตกหนัก น้ำป่าไหลหลาก และเตรียมพร้อมรับมือเอาไว้ด้วย” นายธีรวัฒน์ กล่าว

นายณรงค์ หลักกำจร ประชาสัมพันธ์จังหวัดชุมพร เปิดเผยว่า จังหวัดชุมพร โดย นายสมพร ปัจฉิมเพ็ชร รองผู้ว่าราชการจังหวัดชุมพร รักษาราชการแทนผู้ว่าราชการจังหวัดชุมพร ได้มีคำสั่งแต่งตั้งคณะอนุกรรมการศูนย์ข้อมูลข่าวสารเพื่อการประชาสัมพันธ์ป้องกันและแก้ไขภัยพิบัติจังหวัดชุมพร เพื่อต้องการให้สื่อมวลชนทุกแขนงเข้ามามาส่วนร่วมในการประชาสัมพันธ์การป้องกันและแก้ไขปัญหาภัยพิบัติต่างๆ ทั้งภัยธรรมชาติ เช่น อุทกภัย วาตภัย ภัยแล้ง ภัยหนาว รวมทั้งภัยที่เกิดจากการกระทำของมนุษย์ เช่น อัคคีภัย อุบัติภัย การรั่วไหลของสารเคมีและวัตถุอันตราย ฯลฯ ที่มีแนวโน้มว่าจะเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องและมีความซับซ้อนมากขึ้น โดยจะมีการเชิญคณะอนุกรรมการรวม 26 คน เข้าประชุมด่วนในครั้งแรก เวลา 14.30 น.วันที่ 12 ตุลาคมนี้

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image