นอภ.เชียงคำวอนเห็นใจ ‘อำเภอเชียงคำสีฟ้า’ ทำงานหนักจริง มี จนท.รับสาย 2 คน ควักเงินนอกงบประมาณจ้าง

นอภ.เชียงคำวอนเห็นใจศูนย์คัดกรองโควิด ‘อำเภอเชียงคำสีฟ้า’ ทำงานสายแทบไหม้ เผยเจ้าหน้าที่มีเพียง 2 คนต่อผู้โทรเข้ามากว่า 100 สาย

เมื่อวันที่ 22 ตุลาคม ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หลังจากมีการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ในระลอก 2-3 ที่ผ่านมาทำให้ จ.พะเยา เริ่มมีมาตรการการคัดกรองที่เข้มงวดขึ้น ส่งผลให้หลายอำเภอเตรียมรับมือเรื่องประชาชนชาว จ.พะเยา ที่จะกลับมาบ้านเกิดในช่วง 4-5 เดือนที่ผ่านมา ทั้งนี้ ในส่วนของ อ.เชียงคำ ถือว่าเป็นอำเภอใหญ่และประชากรมาก ซึ่งนายวิรุฬห์ สิทธิวงศ์ นายอำเภอเชียงคำ ได้ออกมาตรการคัดกรองในระบบของอำเภอเองคือ “อำเภอเชียงคำสีฟ้า” เพื่อคัดกรองผู้จะเข้ามาในพื้นที่ อ.เชียงคำ และหลังจากทำได้มีสักพักก็มีปัญหาเกิดขึ้น

นายวิรุฬห์กล่าวว่า หลังจาก จ.พะเยา วางมาตรการรับคนพะเยากลับบ้านในช่วงโควิดระบาดหนักในพื้นที่ภาคกลาง ได้พบปัญหาขึ้นคือ ผู้ที่ติดต่อผ่านทางศูนย์รับคนพะเยากลับบ้านในจังหวัดมีมากเกินกว่าจำนวนเจ้าหน้าที่ที่ทำการคัดกรองได้แบบทันท่วงที จึงได้ประชุมกับทุกฝ่ายในอำเภอและมีการจัดตั้ง “อำเภอเชียงคำสีฟ้า” ขึ้น เพื่อเป็นการคัดกรองให้ผู้ที่กลับมาจากพื้นที่เสี่ยงได้ทำการคัดกรองเบื้องต้นว่าคนไหนติดเชื้อหรือไม่ หากติดเชื้อก็จะส่งตัวไปยัง รพ.สนาม หรือจุดพักคอยตามจุดต่างๆ ที่อำเภอได้ประสานกับทางกำนัน-ผู้ใหญ่บ้านไว้

นายวิรุฬห์กล่าวว่า ศูนย์ดังกล่าวเจ้าหน้าที่ได้ทำมาประมาณ 2 เดือนกว่าๆ พบว่าได้รับความสนใจเป็นอย่างมาก โดยก่อนหน้านั้นมีน้องๆ เป็นเจ้าหน้าที่สมาร์ททีม จำนวน 20 คน คอยทำงานด้านต่างๆ ให้ตลอด และเจ้าหน้าที่ชุดนี้ทางกรมการปกครองได้จ้างมาช่วยทางอำเภอทั่วประเทศในระยะเวลา 1 ปี ซึ่งก็หมดสัญญาจ้างไปเมื่อตอน 30 ก.ย.64 ที่ผ่านมา ทำให้เจ้าหน้าที่ที่คอยรับโทรศัพท์เหลือเพียง 2 คนเท่านั้น ต้องขอจ้างพิเศษ โดยช่วงที่มีเจ้าหน้าที่ดำเนินการจะอยู่ในช่วงเวลา 08.00-20.00 น.แต่หลังจากเหลือเจ้าหน้าที่ 2 คน ต้องปรับเวลาใหม่เป็น 08.30-16.30 น. เพราะเจ้าหน้าที่ทำงานอย่างหนักและอ่อนล้าเป็นอย่างมาก

“ส่วนงบประมาณก็เป็นเงินนอกงบประมาณด้วยเช่นกัน หลังจากนี้จะได้มีการประชุมหารือกับทุกฝ่ายในเรื่องที่ว่าจะให้ศูนย์ประสานงานอำเภอเชียงคำสีฟ้าคงอยู่ต่อหรือไม่อย่างไร ซึ่งศูนย์แห่งนี้ ในระดับอำเภอทั้ง 9 อำเภอ มีเพียงอำเภอเชียงคำที่เดียวที่เป็นคนทำอยู่ในขณะนี้ อยากให้ชาวบ้านเข้าใจว่าเวลานี้เจ้าหน้าที่ทำงานหนักเช่นกัน คอยรับสายทุกวันไม่เว้นวันหยุด” นายวิรุฬห์กล่าว

Advertisement

ด้าน น.ส.นันทิกานต์ กำทอง เจ้าหน้าที่ประจำศูนย์อำเภอเชียงคำสีฟ้า เปิดเผยว่า ก่อนหน้านี้เคยเป็นเยาวชนสมาร์ททีมที่ทางกรมการปกครองจ้างงาน จำนวน 20 คน และก็เพิ่งหมดสัญญาจ้างไปเมื่อ 30 ก.ย.64 ที่ผ่านมา ก่อนหน้านี้ได้รับมอบหมายให้เป็นคอลเซ็นเตอร์รับโทรศัพท์ของประชาชนชาว อ.เชียงคำ ที่จะเดินทางกลับภูมิลำเนาให้คัดกรองเป็นด่านแรก ก่อนจะส่งต่อให้ผู้นำชุมชน รพ.สต. รวมทั้ง รพ.สนาม หากพบว่ามีผู้ติดเชื้อเข้ามาในพื้นที่ ทั้งนี้ ก็ได้รับความร่วมมือเป็นอย่างจากจากผู้ที่ติดต่อเข้ามา ซึ่งหากพบว่าผู้ใดที่รับวัคซีนครอบ 2 เข็มแล้วก็จะไม่ถูกให้ไปกักตัว เพียงแต่รายงานต่อผู้นำชุมชนเท่านั้น

น.ส.นันทิกานต์กล่าวว่า หลังจากหมดสัญญาจ้างแล้ว นายอำเภอได้ประชุมกันและจ้างตนกับเพื่อนทำงานด้านนี้ โดยใช้เงินนอกงบประมาณ ซึ่งต้องบอกว่าก่อนหน้านี้มีเจ้าหน้าที่หลายคน แต่ตอนนี้เหลือเพียง 2 คน ทำงานกันอย่างลำบากมาก ทุกวันนี้ต้องรับโทรศัพท์เกือบ 100 สาย บางครั้งก็ถูกต่อว่าจากผู้ใช้บริการด้านนี้บ่อยครั้ง

“อยากให้ทุกคนเข้าใจว่าในการรับโทรศัพท์แต่ละครั้งนั้นใช้เวลาพูดไม่ต่ำกว่า 15 นาที บางรายเป็นครึ่ง ชม.ก็มี นอกจากนี้ ยังมีระบบไลน์ที่ตัวเองและเพื่อนต้องตอบคำถามจำนวนมาก อยากให้ทุกคนเข้าในเรื่องนี้ด้วย ส่วนในเรื่องที่มีการบอกว่าศูนย์แห่งนี้ไม่ค่อยรับโทรศัพท์ หรือติดต่อยาก ต้องขออภัยในสิ่งที่เกิดขึ้น เพราะทุกวันนี้งานรับโทรศัพท์และประสานไปยังที่ต่างๆ ก็ต้องใช้เวลาบ้าง เรา 2 คนจะทำงานไปแบบนี้จนกว่าศูนย์นี้จะยุติให้บริการ” น.ส.นันทิกานต์กล่าว

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image