แกนนำภาคธุรกิจเอสเอ็มอี แนะเลื่อนเปิดเมืองหัวหิน 1 พ.ย. ลดความเสี่ยงโควิดกลายพันธุ์

/แฟ้มภาพ

แกนนำภาคธุรกิจเอสเอ็มอี แนะเลื่อนเปิดเมืองหัวหิน 1 พ.ย. ลดความเสี่ยงโควิดกลายพันธุ์

วันที่ 25 ตุลาคม น.ส.พรระวี สีเหลืองสวัสดิ์ ประธานสมาพันธ์ผู้ประกอบการ เอส เอ็ม อี จ.ประจวบคีรีขันธ์ อดีตกรรมการโครงการหัวหิน รีชาร์จ เปิดเผยว่า หลังจากมีตัวเลขผู้ติดเชื้อโควิด 19 รายวันในพื้นที่ อ.หัวหิน เกินจากหลักเกณฑ์ต่อสัดส่วนประชากรตามที่ ศบค.กำหนด เชื่อว่าจะเป็นปัจจัยหลักที่ทำให้การเปิดเมืองตามโครงการ “หัวหินรีชาร์จ” ในวันที่ 1 พฤศจิกายนนี้ จะต้องเลื่อนออกไปอีกระยะตามความเหมาะสม ที่สำคัญหน่วยงานภาครัฐในพื้นที่ควรชี้แจงข้อเท็จจริงกับผู้ประกอบการธุรกิจการท่องเที่ยวและบริการทุกภาคส่วน แจ้งข้อมูลให้ประชาชนรับทราบโดยเร็วเพื่อคลายความหวั่นวิตกตามแนวทางการควบคุมโรคในคลัสเตอร์ต่างๆ

น.ส.พรระวี กล่าวว่า ทุกฝ่ายเห็นตรงกันว่าความปลอดภัยของชีวิตมนุษย์จากโรคระบาดสำคัญกว่าทุกสิ่ง หากเปิดเมืองแล้วยังมีภาระความเสี่ยงกับเชื้อกลายพันธุ์จากต่างประเทศก็ต้องประเมินให้รอบคอบ เพื่อไม่ให้ผู้ประกอบการ เอส เอ็ม อี และร้านค้าย่อยบอบช้ำไปมากกว่านี้ และส่วนตัวขอให้หน่วยราชการไปตรวจสอบตัวเลขผู้ฉีดวัคซีนใน อ.หัวหินให้ชัดเจน เนื่องจากยังมีประชาชนจำนวนมากต้องไปวอร์คอินฉีดวัคซีนโควิดที่ห้างสรรพสินค้า

นายวิรัช ปิยพรไพบูลย์ ประธานสภาอุตสาหกรรม จ. ประจวบคีรีขันธ์พี่ชายนายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ในฐานะนายกสมาคมอุตสาหกรรมสับปะรดไทย กล่าวว่า ขณะนี้หน่วยงานด้านสาธารณสุขสามารถควบคุมคลัสเตอร์การระบาดของเชื้อโควิด 19 ใน 4 โรงงานแปรรูปผลไม้กระป๋อง ที่ ต.หนองตาแต้ม อ.ปราณบุรีได้ทั้งหมด สถานการณ์โดยภาพรวมไม่น่ากังวล ไม่มีผลกระทบกับประชาชนรอบพื้นที่ โรงงานแปรรูปผลไม้กระป๋องทุกแห่งยังคงรับซื้อสับปะรดและว่านหางจระเข้ จากชาวไร่นำไปผลิตเพื่อส่งออกตามปกติ ไม่มีผลกระทบกับกลไกราคา แม้ว่าทุกโรงงานจะลดการซื้อวัตถุดิบจากช่วงปกติเพียงเล็กน้อย หลังจากมีแรงงานชาวเมียนมาร์และพนักงานคนไทยติดเชื้อโควิด 19 กว่า 300 คน ส่วนใหญ่ติดเชื้อแต่ไม่มีอาการ รักษาตัวในโรงพยาบาลสนาม

นายวิรัช กล่าวว่า พนักงานทั้ง 4 โรงงานมีกว่า 1500 คน ที่ผ่านมาได้รับการฉีดวัคซีนครบ 2 เข็มแล้วทุกคน สาเหตุที่ทำให้คนงานในโรงงานติดเชื้อยอมรับว่ามาจากปัจจัยภายนอกเป็นเหตุสุดวิสัย ไม่มีผู้ประกอบการโรงงานแห่งใดต้องการให้มีโรคระบาดเกิดขึ้น ส่วนมาตรการป้องกันหลังจากนี้หากเป็นแรงงานเมียนมาร์ที่อาศัยในหอพัก จะให้ทำงานในโรงงานแล้วกลับไปอาศัยในหอพัก จากนั้นโรงงานจะสนับสนุนอาหารครบ 3 มื้อ ส่วนพนักงานคนไทยได้มอบถุงยังชีพเพื่อเยียวยาผลกระทบ และต่อไปคนงานทุกแผนกต้องได้รับการตรวจหาเชื้อจาก ATK ทุกสัปดาห์

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image