ชาวไร่ปลูกข้าวโพดยื่นร้องแก้ราคาตกต่ำ ผู้ผลิตอาหารสัตว์นำเข้าข้าวสาลี-กากข้าวโพดจากตปท.แทน

วันที่ 28 กันยายน เมื่อเวลา 10.00 น. ที่จังหวัดอุทัยธานี กลุ่มเกษตรกรผู้ปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์จังหวัดอุทัยธานีกว่า 300 คน รวมตัวกันเดินทางมายื่นหนังสือร้องเรียนต่อผู้ว่าราชการจังหวัดอุทัยธานี ในการเรียกร้องให้แก้ปัญหาผลกระทบการนำเข้าข้าวสาลีและกากข้าวโพดเพื่อผลิตอาหารสัตว์ จนมีผลกระทบต่อเกษตรกรผู้ปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ตามที่รัฐบาลส่งเสริมให้ปลูกทดแทนการทำนา ส่งผลให้ราคาซื้อผลผลิตตกต่ำ เกษตรกรได้รับความเดือดร้อนในเรื่องดังกล่าวเป็นอย่างมาก ในครั้งนี้มีนายประภัสสร์ มาลากาญจน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดอุทัยธานี นายภูมิบุญญ์ แช่มช้อย รองผู้ว่าราชการจังหวัดอุทัยธานี และส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง เข้ารับหนังสือร้องเรียนจากกลุ่มเกษตรกรดังกล่าว

กลุ่มเกษตรกรผู้ปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์จังหวัดอุทัยธานีรายหนึ่ง เล่าว่า วันนี้มายื่นหนังสือเรียกร้องเกี่ยวกับราคาผลผลิตตกต่ำเนื่องจากกระทรวงพาณิชย์สั่งให้นำเข้าข้าวสาลีจากต่างประเทศมาก จนทำให้โรงงานที่ผลิตอาหารสัตว์ไม่รับซื้อข้าวโพดจากเกษตรกรภายในประเทศ หรือรับซื้อในราคาที่ถูกกว่าปกติ และในปีการผลิตนี้จะได้ผลิตมากกว่า 1,200 กิโลกรัมต่อไร่ ซึ่งมากกว่าที่กรมส่งเสริมการเกษตรประเมินการไว้เกือบเท่าตัว พร้อมกับมันสำปะหลังจะมีผลผลิตมากขึ้นเช่นกัน เนื่องจากพื้นที่การเกษตรได้รับน้ำในการเพาะปลูกอย่างเพียงพอ จึงได้ผลผลิตสูงขึ้นมาก ประกอบกับเมล็ดพันธุ์ข้าวโพดที่ใช้ เป็นพันธุ์ข้าวโพดลูกผสม เดี่ยวซึ่งหลายบริษัทผู้ผลิตต่างบอกว่าผลผลิตเฉลี่ย 1,500-1,800 กิโลกรัมต่อไร่ แต่ผู้ผลิตอาหารสัตว์กำหนดการรับซื้อเพียง 600-800 กิโลกรัมต่อไร่ ซึ่งมีผลทำให้ราคาข้าวโพดในพื้นที่ตกต่ำยิ่งขึ้น จึงทำให้เกษตรกรต้องออกมารวมตัวกันร้องเรียนในเรื่องดังกล่าว เพื่อให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องช่วยเร่งแก้ปัญหา
“เนื่องจากเบื้องต้นในตอนนี้ ราคาอยู่ที่ประมาณกิโลกรัมละ 2.50-4 บาทเท่านั้น ทำให้ 1 ไร่จะได้ราคาผลผลิตเพียง 4,000-5,000 บาท ซึ่งต้นทุนของเกษตรกรโดยใช้จริงอยู่ที่ไร่ละ 6,000 บาท ทำให้เกษตรกรอยู่ในภาวะขาดทุน ซึ่งในจังหวัดอุทัยธานีมีเกษตรกรร่วมลงชื่อได้รับความเดือดร้อนในเรื่องดังกล่าวแล้วประมาณ 2,000-3,000 ราย จึงอยากให้ทางพาณิชย์ช่วยชะลอการนำเข้าข้าวสาลีจากต่างประเทศในเบื้องต้นก่อน เพื่อให้ทางโรงงานผู้ผลิตอาหารสัตว์มารับซื้อข้าวโพดจากเกษตรกรในราคาที่ยุติธรรม และหวังว่าเรื่องดังกล่าวนั้นจะได้รับการช่วยเหลือและแก้ไข” ผู้ปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์จังหวัดอุทัยธานีรายหนึ่งกล่าว
โดยในหนังสือร้องเรียนนั้นได้กล่าวอ้างว่า เหตุดังกล่าวสืบเนื่องจากการที่โรงงานอาหารสัตว์ได้นำเข้าข้าวสาลีและกากข้าวโพด เอทานอลจากต่างประเทศมาผลิตอาหารสัตว์ นับตั้งแต่ปี 54/ 55 กระทรวงพาณิชย์ได้นำเข้าข้าวสาลีและข้าวโพดเพื่อผลิตอาหารสัตว์ที่มีต่อเกษตรกรชาวไทย และยังมีการกำหนดอัตราภาษีนำเข้าข้าวสาลีเหลืออัตรา 0% ทำให้กลุ่มผู้ประกอบการอาหารสัตว์ไทยเริ่มมีการนำเข้าข้าวสาลีจากต่างประเทศมาใช้เป็นวัตถุดิบเพื่อผลิตอาหารสัตว์ตั้งแต่ปี 2556 มีการนำเข้าข้าวสาลีและ ddgs เข้ามา 810,424.29 ตัน และ  226,176.11 ตัน มาเป็น 3,467,117.12 ตัน และ 462,347.33 ตัน ในปี 2558 ตามลำดับ เพียงไตรมาสแรกของปี 2559 มีการนำเข้าถึง 777,276.87 ตัน และ 166,471.02 ตัน ตามลำดับ (ข้อมูลนำเข้าจากกระทรวงพาณิชย์) และยังมีการนำข้าวรำข้าวสาลีมาเป็นวัตถุดิบอาหารสัตว์ในจำนวนมากขึ้นเช่นกัน แสดงให้เห็นว่ากลุ่มผู้ผลิตอาหารสัตว์ไทยหันไปพึ่งพาวัตถุดิบในการผลิตจากต่างประเทศมากขึ้น ลดสัดส่วนการใช้ข้าวโพดมันสำปะหลัง ปอยเข้า ปลายข้าว และรำข้าว ที่ผลิตโดยเกษตรกรไทย ในขณะเดียวกันโรงงานอาหารสัตว์หลายแห่ง เริ่มกำหนดเงื่อนไขไม่ยอมรับซื้อข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ที่ปลูกในดินตามเอกสารสิทธิ์บางประเภทที่ทางราชการอนุญาตให้ปลูกได้ และไม่ถึงการลงทะเบียนเกษตรกรในสมุดทะเบียนเกษตรกรที่ออกโดยภาคราชการ หรือไม่มีการตรวจสอบให้ถูกต้อง ทั้งที่หลายพื้นที่เกษตรกรทำกินมานานกว่า 20 เปอร์เซ็นต์ ในพื้นที่ที่ยอมรับซื้อมีการกำหนดปริมาณรับซื้อข้าวโพดเพียง 600 ถึง 800 กิโลกรัมต่อไร่เท่านั้น
ขณะที่ฤดูกาลผลิตปี 59/60 พื้นที่ส่วนใหญ่ในจังหวัดอุทัยธานีจะมีการปลูกข้าวโพดมากกว่าไร่ละ 1,300 กิโลกรัม เนื่องจากพื้นที่การเกษตรได้รับน้ำในการเพาะปลูกอย่างเพียงพอ จึงได้ผลผลิตสูงขึ้นมาก ประกอบกับเมล็ดพันธุ์ข้าวโพดที่ใช้เป็นพันธุ์ข้าวโพดลูกผสม เดี่ยว ซึ่งหลายบริษัทผู้ผลิตต่างบอกว่าผลผลิตเฉลี่ย 1,500-1,800 กิโลกรัมต่อไร่ แต่ผู้ผลิตอาหารสัตว์กำหนดการรับซื้อเพียง 600-800 กิโลกรัมต่อไร่ ทั้งที่บริษัทอาหารสัตว์รายใหญ่มีบริษัทในเครือเดียวกันจำหน่ายเมล็ดพันธุ์ปุ๋ยและยังมีการขายเข้าไปในทุกพื้นที่ รวมถึงพื้นที่ที่โรงงานอาหารสัตว์เห็นว่าไม่ถูกต้องด้วยเงื่อนไขพื้นที่การรับซื้อและปริมาณรับซื้อข้าวโพดอาหารสัตว์ ซึ่งมีผลทำให้ราคาข้าวโพดในพื้นที่ตกต่ำยิ่งขึ้น จึงทำให้เกษตรกรรวมตัวกันออกมาร้องเรียนในเรื่องดังกล่าว เพื่อให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องช่วยเร่งแก้ปัญหา
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image