ชลประทานระบายน้ำลงคลองบางแก้ว ชะลอน้ำเหนือเข้าอยุธยา ผอ.เขื่อนเจ้าพระยายันกทม.ไม่กระทบ(คลิป)

วันที่ 1 ต.ค. 59  ผู้สื่อข่าวรายงาน ที่บริเวณประตูระบายน้ำคลองบางแก้ว ภายหลังชลประทานได้เปิดประตูระบายน้ำคลองบางแก้ว ปล่อยน้ำลงสู่คลองบางแก้ว ซึ่งเป็นคลองสาขาของแม่น้ำเจ้าพระยา บริเวณหมู่ที่ 10 ตำบลบ้านอิฐ อำเภอเมือง จังหวัดอ่างทอง  เพื่อไหลสู่คลองบางแก้ว ผ่านตำบนบ้านอิฐ ตำบลบ้านรี อำเภอเมืองจังหวัดอ่างทอง ผ่านไปบังตำบลบ้านนา อำเภอมหาราช จังหวัดพระนครศรีอยุธยา เพื่อเป็นการช่วยชะลอน้ำจากแม่น้ำเจ้าพระยาที่ไหลมาจากภาคเหนือเข้าสู่ทุ่งอยุธยาและยังเป็นการช่วยเก็บกักน้ำไว้ใช้สำหรับพื้นที่การเกษตรในช่วงฤดูแล้ง โดยประตูระบายน้ำคลองบางแก้วเป็นโครงการป้องกันอุทกภัยในพื้นที่ทางด้านท้ายประตูระบายน้ำ ในเขต อำเภอเมือง จังหวัดอ่างทอง และ อำเภอมหาราช จังหวัดพระนครศรีอยุธยา

สถานการณ์น้ำเจ้าพระยาไหลผ่านจังหวัดอ่างทองยังคงเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ล่าสุดที่บริเวณสถานีวัดน้ำบางแก้วหน้าศาลกลางจังหวัดอ่างทอง มีน้ำไหลผ่านอยู่ที่ 1997 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ระดับน้ำสูง  7.57 เมตร จากระดับตลิ่ง 9.32 เมตร  มีผู้ประสบภัยแล้ว 3 อำเภอ 12 ตำบล 34 หมู่บ้าน จำนวน 885 ครัวเรือน พื้นที่การเกษตร 3,644 ไร่  สร้างความเดือดร้อนขยายวงกว้างเพิ่มขึ้น

201610011241524-20130424114532

ขณะที่เขื่อนเจ้าพระยา ต.บางหลวง อ.สรรพยา จ.ชัยนาท ได้ลดอัตราการระบายน้ำลงสู่ท้ายเขื่อนไว้ที่ 1,926 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ต่อเนื่องเป็นวันที่ 3 โดยระดับน้ำเหนือเขื่อนเจ้าพระยาล่าสุดวัดได้ 15.52 เมตรจากระดับน้ำทะเลปานกลาง ลดลง71เซนติเมตร ส่วนระดับน้ำท้ายเขื่อนวัดได้14.80 เมตรจากระดับน้ำทะเลปานกลาง ทรงตัวต่อเนื่องจากเมื่อวาน ขณะที่เขื่อนเจ้าพระยาการระบายน้ำลงท้ายเขื่อนไว้ที่ 1,926 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที แม้ว่าจะลดการระบายลง แต่ยังไม่มีผลกับระดับน้ำท้ายเขื่อน เพราะยังมีแนวโน้มที่จะเพิ่มขึ้น5-10ซ.ม. ประชาชนในพื้นที่ริมแม่น้ำเจ้าพระยาตั้งแต่ อ.สรรพยา จ.ชัยนาท อ.อินทร์บุรี อ.พรหมบุรี จ.สิงห์บุรี อ.ป่าโมกข์ จ.อ่างทอง อ.บางบาล และ อ.เสนา จ.พระนครศรีอยุธยา รวมถึงบริเวณท้ายแม่น้ำน้อย จึงต้องเฝ้าสังเกตุความเปลี่ยนแปลงของระดับน้ำ และการประกาศจากทางราชการอย่างใกล้ชิดต่อไป

Advertisement

นายเอกศิษฐ์ ศักดีธนาภรณ์ ผู้อำนวยการโครงการเขื่อนเจ้าพระยาเปิดเผยว่า จากปริมาณน้ำที่ระบายลงพื้นที่ท้ายเขื่อน ในจังหวัดภาคกลาง แม้จะมีพื้นที่ริมตลิ่งถูกน้ำเอ่อล้นเข้าท่วมบ้านเรือนประชาชนในพื้นที่ จ.สิงห์บุรี อ่างทอง พรถนครศรีอยุธยาแล้ว แต่สำหรับพื้นที่กรุงเทพพมหานคร จะยังไม่ได้รับผลกระทบในระยะนี้ เนื่องจากปริมาณน้ำที่ปล่อยลงไปยังไม่เต็มความจุของลำน้ำเจ้าพระยาที่ไหลผ่านกรุงเทพมหานคร

นอกจากนี้ ในพื้นที่ โพนางดำออก อ.สรรพยา นายนพดล พรหมแก้ว กำนันตำบลโพนางดำออก เปิดเผยว่าจากการสำรวจล่าสุด พบว่าในพื้นที่รับผิดชอบมีบ้านเรือนประชาชนที่อยู่ริมแม่น้ำเจ้าพระยา ถูกน้ำเอ่อล้นเข้าท่วมแล้วจำนวน35หลังคาเรือน โดยมีความสูงของน้ำตั้งแต่ 30-100ซ.ม.ในขณะที่ระดับน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยายังไม่มีแนวโน้มที่จะลดลง จึงได้ตั้งชุดเฉพาะกิจอาสาสมัครป้องกันภัยฝ่ายพลเรือ หรือ อ.ป.พ.ร.ขึ้น 2 ชุดแบ่งเป็นชุดละ6คน เพื่อทำหน้าที่ออกตรวจตามแนวตลิ่งแม่น้ำเจ้าพระยาตลอด 24 ชั่วโมง เป็นการป้องกันแนวกันน้ำที่ชาวบ้านช่วยกันก่อกระสอบทรายและทำคันดินไว้โดยแบ่งการทำงานชุดละ12ชั่วโมง คือแบ่งชุดทำงานกลางวัน1ชุดและกลางคืนอีก1ชุด ส่วนพื้นที่อพยพตามแผนของทางอำเภอนั้น นายประภาส วันเดีย นายอำเภอสรรพยา เปิดเผยว่าได้ประสานเตรียมพื้นที่สูงไว้รองรับการอพยพของประชา ในกรณีฉุกเฉินน้ำท่วมสูงไว้ที่โรงเรียนชยานุกิจ ซึ่งอยู่ในพื้นที่แนวกันน้ำ ของ อ.สรรพยาโดยศูนย์อพยพจะสามารถรองรับประชาชนได้จำนวนกว่า 3,000 คน

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image