เตือนระวังสูงสุด! พลายโหนกช้างป่าทำร้ายนักข่าว ตกมันระยะ 3 นำฝูงหากินใกล้พื้นที่เกษตรกรรม

เครดิตภาพ “พลายโหนก” อาสาสมัครพิทักษ์ช้างป่า นาฬาคีริง

เตือนระวังสูงสุด! พลายโหนกช้างป่าทำร้ายนักข่าว ตกมันระยะ 3 นำฝูงหากินใกล้พื้นที่เกษตรกรรม

เมื่อวันที่ 28 พฤศจิกายน เวลา 09.10 น. ผู้สื่อข่าวได้รับแจ้งจากชาวบ้านว่า พบมีฝูงช้างป่ากว่า 20 ตัว เข้ามากินในพื้นที่เกษตรกรรมชาวบ้าน ภายในสวนปาล์ม พื้นที่หมู่ 9 บ้านคลองตาอิน รอยต่อหมู่ 7 บ้านชำตาเรือง ต.คลองพลู อ.เขาคิชฌกูฏ จ.จันทบุรี โดยมีพลายโหนก ช้างป่าอันธพาล ที่เคยทำร้ายชาวบ้านและผู้สื่อข่าวเสียชีวิตรวม 3 ศพ มีพฤติกรรมตกมันระยะที่ 3 รวมอยู่ในฝูงด้วย

เครดิตภาพ “พลายโหนก” อาสาสมัครพิทักษ์ช้างป่า นาฬาคีริง

ทั้งนี้ ทางอาสาสมัครพิทักษ์ช้างป่า นาฬาคีริง สามารถใช้กล้องไนท์วิชั่น อินฟาเรด บันทึกภาพ พลายโหนก ตามช้างป่าตัวเมียฝูงนี้ เข้ามาหากินอยู่ในสวนปาล์ม หมู่ 9 บ้านคลองตาอิน ขณะเฝ้าสังเกตการณ์ในระยะห่าง เพื่อคอยผลักดัน ไม่ให้เข้าใกล้เขตชุมชน

เครดิตภาพ “พลายโหนก” อาสาสมัครพิทักษ์ช้างป่า นาฬาคีริง

จากการสอบถาม น.ส.ชุติมา เหลืองอ่อน อายุ 31 ปี อาสาสมัครพิทักษ์ช้างป่า เขาสอยดาว ชุดนาฬาคีริง เบื้องต้นทราบว่า จากการปฏิบัติงานอาสาสมัครพิทักษ์ช้างป่า ช่วงตั้งแต่คืนวันที่ 26-27 พ.ย.ที่ผ่านมา ได้แกะรอย เฝ้าสังเกตการณ์ช้างป่า 2 ฝูง ที่รวมกลุ่มเป็นฝูงใหญ่ เมื่อช่วงอาทิตย์ที่ผ่านมา ซึ่งมีจำนวนมากถึง 25 ตัว มีทั้งช้างป่า ตัวผู้และตัวเมีย ตลอดจนลูกช้างรวมอยู่ด้วย 3-4 ตัว

เครดิตภาพ “พลายโหนก” อาสาสมัครพิทักษ์ช้างป่า นาฬาคีริง

โดยฝูงช้างป่า มีเส้นทางหากินอยู่ช่วงบริเวณรอยต่อของพื้นที่หมู่ 7 และหมู่ 9 ต.คลองพลู อ.เขาคิชฌกูฏ และพื้นที่หมู่ 12 อ.แก่งหางแมว ในสวนปาล์ม สวนผลไม้ และยางพารา โดยจะกระจายหากินในช่วงหัวค่ำ แยกออกเป็นกลุ่มละประมาณ 2-3 ตัว

Advertisement

นอกจากนี้ ยังพบมีช้างป่าตัวผู้ที่ตกมัน เกิดการต่อสู้กันในฝูง เพื่อแย่งช้างตัวเมียเนื่องจากอยู่ในช่วงหาคู่ผสมพันธุ์ รวมถึงพลายโหนก ซึ่งอยู่ช่วงที่มีพฤติกรรมตกมันระยะที่ 3 รวมอยู่ในฝูงด้วย ทั้งนี้ เนื่องจากในฝูงมีช้างตัวเมียอยู่จำนวนมาก

อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ทางเจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติเขาคิชฌกูฏ พร้อมด้วยอาสาสมัครพิทักษ์ช้างป่าเขาสอยดาวชุด นาฬาคีริง, อาสาติดตามช้างป่า แก่งหางแมว ชุดคลองพลู ตลอดจนชุด ชรบ. หมู่ 7 หมู่ 9 ต.คลองพลู ร่วมจัดเวรยาม ทำการเฝ้าติดตามและระวังผลักดันช้างป่าให้ออกห่างจากเขตชุมชน พร้อมทั้งมีการแจ้งเตือนให้ชาวบ้าน โดยเฉพาะคนกรีดยางในละแวกที่อยู่ใกล้กับฝูงช้าง ซึ่งถือเป็นพื้นที่เสี่ยง
ให้ระมัดระวังสูงสุด

ทั้งนี้ ให้คอยฟังประกาศจากทางเจ้าหน้าที่ หรือผู้นำชุมชน หากพบเห็นช้างป่าให้หลีกเลี่ยง อย่าเข้าใกล้ พร้อมทั้งให้รีบแจ้งเจ้าหน้าที่ทันที เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดเหตุอันตราย ลดการสูญเสียระหว่างทั้งคน และช้างป่า
นอกจากนี้ เจ้าหน้าที่ยังแนะนำให้สังเกตพฤติกรรมช้างป่าที่ตกมัน ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นช้างที่อยู่ในช่วงเต็มวัย และร่างกายมีความสมบูรณ์สูงสุด มีโอกาสตกมันได้ทั้งเพศผู้และเพศเมีย

Advertisement

โดยช่วงการตกมันจะเริ่มตั้งแต่ปลายฤดูฝนจนถึงต้นฤดูแล้ง โดยสังเกตช่วงเวลาตกมันได้ดังนี้
1.มีคราบมองเห็นเป็นสีดำไหลที่ขมับ
2.ปล่อยอวัยวะเพศห้อยและมีน้ำข้นเหนียวไหลตลอด
3.มีคราบเปียกมองเห็นเป็นสีดำบริเวณง่ามขาหลัง
4.มีกลิ่นเหม็นเขียวคล้ายขี้ไก่แต่กลิ่นรุนแรงกว่า
5.อาการตกมันในช่วงบ่ายจะรุนแรงกว่าช่วงเช้า
ส่วนอาการตกมันจะแบ่งเป็น 4 ระยะ
ระยะที่ 1 มีรอยเปียกตรงขมับเล็กน้อย
ระยะที่ 2 มีคราบมองเห็นเป็นสีดำไหลลงมาที่แก้ม
ระยะที่ 3 มีคราบไหลตรงแก้มและปล่อยอวัยวะเพศห้อยมีของเหลวไหลตลอดพร้อมกับมีคราบเปียกบริเวณขาหลัง
ระยะที่ 4 หากสังเกตในช่วงบ่าย จะพบว่ามีคราบแห้งที่แก้ม ถือว่าสิ้นสุดการตกมันแล้ว ส่วนความรุนแรงของอาการตกมัน ช่วงเช้าช้างจะมีอาการหงุดหงิด โมโหง่าย คล้ายอยากจะมีปัญหากับทุกสิ่งที่อยู่ใกล้ และในช่วงบ่ายอาการตกมันจะเข้าขั้นรุนแรงที่สุด

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image