เจ้าอาวาสวัดบ้านเกิดอดีตพระมหาไพรวัลย์ ยอมรับเสียดายความสามารถ มีปฏิภาณความจำดีแต่เด็ก

เจ้าอาวาสวัดบ้านเกิดอดีตพระมหาไพรวัลย์ ยอมรับเสียดายความสามารถ มีปฏิภาณความจำดีแต่เด็ก

เจ้าอาวาสวัดวัดดัง ญาติพี่น้อง ชาวบ้านถิ่นเกิดอดีตพระมหาไพรวัลย์ เผยเสียดายความสามารถ อยากให้ครองผ้าเหลืองพัฒนาพุทธศาสนาต่อ ขณะบ้านพ่อปิดเงียบ หลบสื่อรบกวน

เมื่อวันที่ 3 ธันวาคม 2564 เวลา 14.00 น. ผู้สื่อข่าวได้เดินทางไปยังบ้านของอดีตพระมหาไพรวัลย์ หรือนายไพรวัลย์ วรรณบุตร พื้นที่บ้านหนองคัน หมู่ 4 ต.ตะกาดเง้า อ.ท่าใหม่ จ.จันทบุรี เพื่อพบกับครอบครัวของอดีตพระมหาไพรวัลย์

เมื่อเดินทางไปถึงพบบ้านของอดีตพระมหาไพรวัลย์ เป็นบ้านปูนหลังเดี่ยวชั้นเดียว ปลูกอยู่ระหว่างกลางบ้านของญาติพี่น้องและเพื่อนบ้าน รวมอยู่ด้วยกันหลายหลังคาเรือน แต่พบว่าประตูบ้านถูกปิดเงียบ มีเพียงคนงานก่อสร้างที่กำลังต่อเติมหลังบ้าน ขณะเพื่อนบ้านบอกว่าพ่อของอดีตพระมหาไพรวัลย์ไม่อยู่ ไปทำธุระ และไม่อยากพบสื่อ ต้องการใช้เวลาส่วนตัว

Advertisement

ต่อมาผู้สื่อข่าวได้เดินทางไปยังโรงเรียนวัดตะกาดเง้า และวัดตะกาดเง้า ต.ตะกาดเง้า อ.ท่าใหม่ จ.จันทบุรี เพื่อตามรอยประวัติ จุดเริ่มต้นเส้นทางสายธรรมของอดีตพระมหาไพรวัลย์ โดยได้ไปพบกับ นายทัน มงคลสงวน อายุ 76 ปี อยู่บ้านเลขที่ 3 ต.ตะกาดเง้า ซึ่งมีศักดิ์เป็นก๋ง ลำดับญาติเป็นลูกพี่ลูกน้องกับแม่ของอดีตพระมหาไพรวัลย์

โดยนายทันเปิดเผยว่า ครอบครัวอดีตพระมหาไพรวัลย์ หรือนายไพรวัลย์ วรรณบุตร เดิมประกอบอาชีพก่อสร้าง มีบุตรคืออดีตพระมหาไพรวัลย์คนเดียว ไม่มีพี่น้อง การศึกษาตั้งแต่เล็กได้เข้าเรียนในระดับชั้นประถมศึกษาโรงเรียนวัดตะกาดเง้า

โดยนิสัยวัยเด็กของอดีตพระมหาไพรวัลย์ เป็นเด็กเล่นซุกซนทั่วไป ชอบดูนางรำ การเล่นรำสวดไม่ยอมกลับบ้านจนกว่าการละเล่นจะเลิก นอกจากนี้ครอบครัว พี่น้องของอดีตพระมหาไพรวัลย์เป็นตระกูลที่มีปฏิภาณไหวพริบ ความจำดีทุกคน

ส่วนที่อดีตพระมหาไพรวัลย์ตัดสินใจลาสิกขา ในส่วนของครอบครัว ญาติพี่น้อง ตลอดจนชาวบ้านใน ต.ตะกาดเง้า รู้สึกใจหายและเสียดายความสามารถของอดีตพระมหาไพรวัลย์ หากยังครองผ้าเหลืองและกลับมาจำวัดที่บ้านเกิดคาดหวังว่าจะสามารถพัฒนาพระพุทธศาสนาให้เจริญก้าวหน้าดีแน่นอน แต่ทั้งนี้ ก็เคารพสิทธิส่วนตัวในการตัดสินใจครั้งนี้

ขณะที่ พระครูมุณีวรานุวัตร ญาณวโร เจ้าอาวาสวัดคลองตาสังข์ ต.ตะกาดเง้า ซึ่งเป็นวัดที่อดีตพระมหาไพรวัลย์เคยมาบรรพชาในโครงการบวชสามเณรภาคฤดูร้อน จุดเริ่มต้นสู่เส้นทางสายธรรม เปิดเผยว่า

อดีตพระมหาไพรวัลย์เคยมาบวชเณรภาคฤดูร้อนที่วัดแห่งนี้ 2 ครั้ง สมัยตอนเรียน ป.5 และ ป.6 โดยมีความตั้งใจที่จะบวชเพื่อมาศึกษาธรรม ไม่ใช่บวชตามเพื่อนเหมือนกับเณรองค์อื่นๆ โดยให้ผู้ปกครองพามาฝากตัวที่วัด โดยส่วนตัวเท่าที่ได้รู้จักกับอดีตพระมหาไพรวัลย์ หรือเณรเอก สมัยนั้น พบว่าสามเณรรูปนี้มีความสามารถปฏิภาณไหวพริบ ความจำดีกว่าสามเณรรูปอื่นๆ

โดยสามารถท่องบทกลอน บทสวด ในการสอนธรรมในโครงการได้อย่างแม่นยำ แม้ว่าจะเปิดอ่านได้เพียงแค่ครั้งเดียว จนเคยเปรยทำนายภายในอนาคตว่า หากเณรเอกได้อยู่ศึกษาธรรมครองผ้าเหลืองต่อไปจนถึงบรรพชาเป็นพระภิกษุ อาจจะสอบได้เปรียญธรรม 9 ประโยค ได้เป็นนาคหลวงการศึกษาคณะสงฆ์ไทยได้อย่างแน่นอน และก็เป็นจริงอย่างที่เคยทำนายไว้

โดยภายหลังจากที่เณรเอกได้บวชสามเณรฤดูร้อน ครั้งที่ 2 พระมหาไพฑูรย์ ซึ่งมีศักดิ์เป็นลูกพี่ลูกน้องกัน ได้พาไปอยู่ที่ จ.สุโขทัย เรียนนักธรรมและบาลีจนถึงอายุ 18 ปี จบเปรียญธรรม 7 ประโยค และไปเรียนต่อที่วัดสร้อยทองจนจบนักธรรมเอก และเปรียญธรรม 9 ประโยค ซึ่งเป็นระดับชั้นสูงสุดของการศึกษาแผนกบาลีของคณะสงฆ์ไทย ซึ่งสามเณรไพรวัลย์ หรือเณรเอก ได้สร้างประวัติศาสตร์หน้าใหม่ให้กับวงการสอบบาลีสนามหลวงหลังจากนั้น เมื่อครบอายุ 20 ปี ได้รับพระมหากรุณาธิคุณอุปสมบทเป็นนาคหลวง และจำพรรษาที่วัดสร้อยทองเรื่อยมาจนปัจจุบัน

ร่ำเรียนด้านต่างๆ เพิ่ม ปริญญาโทพุทธศาสตร์ มจร. และนิติศาสตร์ ม.รามคำแหง ปัจจุบันกำลังศึกษาปริญญาเอก สาขาวิชาสันติศึกษา มจร. พร้อมทั้งยังเป็นอาจารย์สอน ที่โรงเรียนวัดสร้อยทอง และวิทยาลัยเทคโนโลยีวิมลบริหารธุรกิจ

โดยส่วนตัวก็รู้สึกเสียดายความสามารถของอดีตพระมหาไพรวัลย์ที่ได้ตัดสินใจลาสิกขากลับเข้าสู่ทางโลก ทั้งนี้ คาดว่าเป็นเรื่องส่วนตัว และเคารพในการตัดสินใจของอดีตพระมหาไพรวัลย์

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image