ชาวบ้าน 3 ตำบลจัดทัพเรือประมงพื้นบ้าน ทวงสัญญาทำ SEA ก่อนสร้างนิคมจะนะ ประกาศปกป้องทะเล

ชาวบ้านในเครือข่ายจะนะรักษ์ถิ่นและแนวร่วมสนับสนุน ร่วมกันจัดกิจกรรมทัพเรือประมงพื้นบ้านทวงสัญญา SEA ที่บริเวณชายหาดบ่อโชน ต.สะกอม อ.จะนะ

เมื่อเวลา 14.00 น. วันที่ 10 ธันวาคม ที่บริเวณหาดบ่อโชน หมู่ 7 ต.สะกอม อ.จะนะ จ.สงขลา ขบวนเรือประมงพื้นบ้านจาก 3 ตำบลของ อ.จะนะ ได้แก่ ต.สะกอม นาทับ และตลิ่งชัน กว่า 30 ลำ ทยอยมารวมตัวกันบริเวณคลองสะกอม ซึ่งเชื่อมต่อกับทะเลอ่าวไทย ภายใต้กิจกรรมทัพเรือประมงพื้นบ้านทวงสัญญา SEA

โดยวันนี้พบว่าคลื่นลมในอ่าวไทยมีกำลังแรง ซึ่งเป็นอุปสรรคต่อการจัดกิจกรรม ทำให้ต้องมีการปรับให้เรือเคลื่อนตัวอยู่ในคลองสะกอมแทน โดยชาวบ้านได้ร่วมกันทำแผ่นป้ายขนาดใหญ่มีข้อความทวงสัญญา SEA และ #SAVECHANA

ชาวบ้านบอกว่า นอกเหนือจากหาดสวนกงใน ต.นาทับ แล้ว ยังมีชายหาดอีกหลายจุดที่ยังคงมีความสวยงาม เช่น ชายหาดบ่อโชน สถานที่จัดกิจกรรมในวันนี้

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ชาวบ้านได้ร่วมกันอ่านแถลงการณ์ประกาศจุดยืนเรียกร้อง ทวงสัญญา SEA จากรัฐบาลที่ตกลงกันเมื่อ 14 ธันวาคม 2563 รัฐบาลต้องสั่งให้ยุติการเดินหน้าโครงการนิคมอุตสาหกรรมจะนะไว้ก่อน รวมถึงหยุดการจัดเวทีรับฟังความคิดเห็นการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อม หรือ EIA ที่จะจัดขึ้นในเดือนธันวาคมนี้ ซึ่งขัดกับข้อตกลงและยังขัดต่อหลักสากล ด้วยการจัดรับฟังความเห็นไม่มีคณะกรรมการรับฟังความเห็นที่เป็นกลาง แต่จัดโดยผู้ศึกษา อีกทั้งยั้งจัดทางออนไลน์ ทำให้คนในชุมชนจำนวนมากเข้าร่วมไม่ได้ เพราะไม่สามารถเข้าถึงเทคโนโลยีได้

Advertisement

หากรัฐบาลยังปล่อยให้มีการจัดรับฟังความเห็นต่อไป พวกเราขอประกาศไม่ยอมรับ และถือว่าเป็นการกระทำ ที่ตระบัดสัตย์ของรัฐบาล และต้องยุติการดำเนินคดีกับเครือข่ายจะนะรักษ์ถิ่น ทั้ง 37 คน ซึ่งถูกจับกุมเมื่อวันที่ 6 ธันวาคม 2564 โดยกำหนดจะไปทวงคำสัญญาอย่างเป็นทางการที่ทำเนียบรัฐบาลอีกครั้งในวันที่ 13 ธันวาคม

ชาวบ้านยืนยันว่า การทำโครงการขนาดใหญ่จะต้องมีการประเมินสิ่งแวดล้อมเชิงยุทธศาสตร์ หรือ SEA แบบมีส่วนร่วม เพื่อให้เกิดการพัฒนาประเทศที่ยั่งยืนอย่างแท้จริง ขณะนี้เป็นที่ชัดเจนว่านิคมอุตสาหกรรมจะนะไม่ใช่การพัฒนา แต่คือการอ้างคำว่า “พัฒนา” เป็นหน้ากาก เพื่อสร้างความชอบธรรมในการปล้นทรัพยากรและปล้นสิทธิชุมชนของพวกตนนำไปตอบสนองต่อนายทุนและนักการเมืองฉ้อฉลที่กว้านซื้อที่ดินเพื่อเก็งกำไร

Advertisement

โครงการนี้จึงเป็นโครงการที่ก่อให้เกิดความอยุติธรรมขึ้นมาในสังคม จึงขอประกาศจุดยืนว่าพวกเราจะปกป้องแผ่นดินและทะเลที่เป็นมรดกของบรรพบุรุษ และจะรักษามรดกที่ล้ำค่านี้ไว้ให้กับลูกหลานพวกเราด้วยชีวิต

นายเจะหมัด สังข์แก้ว ตัวแทนชาวบ้านเครือข่ายจะนะรักษ์ถิ่น ระบุว่า การทำ SEA เป็นเรื่องที่รัฐบาลจะต้องดำเนินการ เพราะเป็นเรื่องที่เป็นข้อตกลงกันมาก่อนแล้ว เราจึงต้องทวงสัญญา ส่วนเวทีรับฟังความเห็นครั้งที่ 1 ในวันที่ 13 ธันวาคมนี้ เห็นว่าควรจะหยุดเอาไว้ก่อน เพราะไม่มีความชอบธรรม อีกทั้งเป็นเวทีที่ทำกันแบบออนไลน์ ซึ่งชาวบ้านส่วนใหญ่ไม่มีโอกาสเข้าร่วมแบบนั้นได้ แต่หากยังคงมีการดึงดัน ไม่ยอมทำตามสัญญา ก็พร้อมจะเดินทางไปสมทบใน กทม.ร่วมกับเครือข่ายที่ปักหลักอยู่ก่อนแล้ว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image