นายกสมาคมหมูเผยปัญหาหมูแพง เหตุจากหมูตายจำนวนมาก และอีกหลายปัจจัย

นายกสมาคมหมูเผยปัญหาหมูแพง เหตุจากหมูตายจำนวนมาก และอีกหลายปัจจัย

เมื่อวันที่ 29 ธันวาคม  นายพิพัฒน์ เนื้อนิ่ม นายกสมาคมผู้เลี้ยงสุกรราชบุรี กล่าวถึง ปัญหาราคาหมูแพงช่วงเทศกาลปีใหม่ว่า เกิดจากปัญหาเรื่องของมีน้อย แต่ความต้องการเพิ่มขึ้น ด้วยปัจจัยอีกหลายอย่างทั้งโรคระบาดที่รุมเร้าให้ผู้เลี้ยงเกิดความเสียหาย เรื่องการเปิดเมือง แต่โดยหลักๆ คือ เรื่องปริมาณหมูที่มีอยู่ในประเทศไทยตอนนี้มีน้อยมาก เพราะสูญเสียมาจากโรคระบาด ซึ่งมีผู้เลี้ยงสุกรอยู่ในจังหวัดราชบุรีประมาณ 2,118 ราย วันนี้เกษตรกรรายกลาง รายย่อย รายเล็ก รายระดับพันตัว เสียหายมากมาย เมื่อช่วงบ่ายนี้เพิ่งประชุมกับปศุสัตว์จังหวัดราชบุรีมาว่า เราอยากจะสำรวจตรวจสอบผู้เลี้ยงหมูในราชบุรีมีจำนวนเท่าไหร่ ที่ผ่านมาจังหวัดราชบุรีเป็นผู้เลี้ยงรายใหญ่ของประเทศ จึงอยากรู้ว่าปริมาณหมูในจังหวัดที่แท้จริงมีอยู่เท่าไหร่ มากหรือน้อยกว่าในอดีตเท่าไหร่ จึงขอให้ปศุสัตว์จังหวัดสำรวจทุกอำเภอ ทุกหมู่บ้าน โดยการนำของปศุสัตว์ทุกอำเภอ จะได้ทราบปัญหาที่แท้จริงว่ามีอะไรบ้าง แต่ส่วนใหญ่ที่รู้ชัดเจนคือ โรคระบาดจากสัตว์ทำให้เสียหายเยอะมาก ช่วงเวลาที่เลี้ยงหมูมานานไม่เคยเจอโรคระบาดแบบนี้ เสียหายจนจะไม่มีหมูเลี้ยงแล้ว

สำหรับเรื่องราคาหมูแพงนั้นปีนี้ถือเป็นปีแรกตั้งแต่มีการเลี้ยงหมูในประเทศไทย ที่ปริมาณหมูเหลือน้อยมาก โดยโรคนี้เคยเกิดมาเมื่อ 3 ปีที่แล้ว จีนเจอปัญหามาเมื่อปี 2561 หมูจีนกว่า 500 ล้านตัว เสียหายไป 50 เปอร์เซ็นต์ เหลือประมาณ 240-250 ล้านตัว โดยสิ่งที่เกิดขึ้นถือเป็นโรคระบาดที่มีความรุนแรง ทางราชการเรียกว่าโรค เพิร์ส ในอดีตไม่รุนแรงขนาดนี้อาจจะเป็นโรคที่ไปผสมอะไรยังไม่รู้

ถ้าหากตรวจสอบพื้นที่การเลี้ยงหมูของทุกอำเภอเสร็จแล้วจึงจะนำข้อมูลที่ได้มาวิเคราะห์สิ่งที่เกิดขึ้นจริงเสียหายจริงหรือไม่ ต้องไปหาต้นตอของปัญหาและนำมาวิเคราะห์แก้ไขว่าจะทำอย่างไร หากหมูมีไม่พอก็ไม่ต้องส่งออกก็จะอยู่กันภายในประเทศ และถ้าไม่พออีกอาจจะต้องนำเข้าจากต่างประเทศ จำเป็นต้องหาวิธี โดยวันนี้ปัญหาเกิดจากซัพพลายที่หายไปจากสูญเสียจากโรคระบาด ทำให้ประเมินปริมาณยากมาก ณ วันนี้ยังมีการสูญเสียอยู่ ทำให้ต้องมาประเมินให้ชัดว่าแนวทางแก้ไขปัญหาปริมาณหมูนั้นลดหายไปกี่ตัว เหลือกี่ตัว และที่เหลือมีต้นทุนเท่าไหร่ เกษตรกรที่เลี้ยงหมูเจอปัญหาแล้วจะช่วยเหลือเกษตรกรอย่างไร พอหมูมาเข้าสู่ตลาดผู้บริโภครับไป ซึ่งเคยซื้ออยู่ไม่เกิน 120-130 บาท วันนี้ขึ้นราคาเป็น 160-170 บาท ผู้บริโภคจะรับไหวหรือไม่ ถ้ารับไปไม่ไหวจะทำอย่างไร กรมการค้าภายใน กระทรวงพาณิชย์ต้องมานั่งคุยกับกรมปศุสัตว์ สมาคมผู้เลี้ยงสุกรว่าแนวทางแก้ไขปัญหา ซึ่งสมาคมได้คุยกับภาคราชการมานานเป็นปี เพราะเราเจอปัญหามานานถึง 2 ปีแล้ว ภายใน 2 ปี มีปริมาณหมูเริ่มลดลงมาเรื่อยๆ ต่อเนื่อง ส่วนการจะเพิ่มปริมาณหมูนั้นต้องใช้ระยะเวลาการเลี้ยงจนโตประมาณ 9 เดือน กว่าจะเตรียมแม่ในการเพาะอีกใช้เวลาประมาณ 1 ปี ครึ่ง สมาคมทราบปัญหามานานแล้ว

“อยากถามไปยังกรมปศุสัตว์รู้ดีไหมกับปัญหาเรื่องนี้ กรมการค้าภายในรู้ไหมกับเรื่องนี้นานกี่ปี ทางสมาคมได้พูดคุยกับสภาเกษตรกรแห่งชาติร่วมมือกับสมาคมไปขอร้องกรมปศุสัตว์ ไปขอร้องกระทรวงพาณิชย์ให้คุยเรื่องนี้ คุยมาเป็นปีตั้งแต่วันที่ 6 มกราคม เพราะเรารู้ปัญหานี้มานานแล้ว เริ่มมีปัญหาตั้งแต่ 1 กุมภาพันธ์ 2561 จากเวียดนามมีหมูอยู่ 4 ล้านแม่ ตายเหลือกว่า 1 ล้านแม่ ถามว่าข้อมูลเหล่านี้ทางสมาคมรู้ กรมปศุสัตว์รู้ กระทรวงพาณิชย์รู้ แต่ถามว่าทำอะไรไหม แต่มาถามวันนี้นั้น พอหมูหมดแล้วจะทำอย่างไร ก็จะต้องมานั่งแก้กันว่าต้นเหตุมาจากไหน หมูขาดจริงหรือไม่ หรือ คนเลี้ยงโกหก ทำให้จะต้องสำรวจตรวจสอบผู้เลี้ยง จากนั้นก็จะต้องเข้ามาหารือแนวทางแก้ไขปัญหากันเป็นรูปธรรมที่ชัดเจน ต้องวางแผน บริหารจัดการ นอกจากมีหมูแล้ว ก็ยังมีสินค้าอย่างอื่นอีกที่จะมาทดแทนได้”

Advertisement

“ซึ่งทางสมาคมได้เคยเสนอไปแล้ว พร้อมที่จะคุยว่าเราจะไปหาหมูจากต่างประเทศมา เมื่อก่อนนั้นมีการห้ามการนำเข้า เพราะหมูล้นตลาด แต่วันนี้หมูเราขาดจะต้องซื้อเขา โดยขอให้สมาคมเป็นผู้ดูแลได้หรือไม่ เราจะไปหาซื้อที่ไหนได้อย่างไร แล้วกำไรส่วนต่างนั้นเอาไปจ่ายชดเชยให้เกษตรกรที่มีความเสียหาย ไปดูแลคนเลี้ยงรายย่อยเล็กๆ ที่มีความเสียหาย ซึ่งทางรัฐบาลไม่ได้ช่วยเหลือเขาเลย ให้นำเงินก้อนนี้ไปช่วยเยียวยาเขาได้หรือไม่ เป็นเรื่องที่สมาคมคิดไว้ แต่หากว่าหมูเราพอ หรือ เปลี่ยนไปบริโภคสินค้าอื่นได้ก็ไม่ต้องไปนำเข้าหมู ทำให้ขาดดุลการค้าซึ่งก็ไม่อยากทำ ทุกสิ่งทุกอย่างมีทางออกเสมอถ้าทุกคนร่วมมือกันทำ”

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image