ผจก.ฟาร์มหมูเผยเหตุหมูแพง เพราะโรค ASF ทำวงจรผลิตหมูลด ฟาร์มไม่กล้าเสี่ยงซื้อแม่พันธุ์

หมู

ผจก.ฟาร์มหมูเผยเหตุหมูแพง เพราะโรค ASF ทำวงจรผลิตหมูลด ฟาร์มไม่กล้าเสี่ยงซื้อแม่พันธุ์

นางสาวเพ็ญนภา เศษคง อายุ 49 ปี ผู้จัดการสุรัตน์ฟาร์ม เปิดเผยกับผู้สื่อข่าวถึงกรณีราคาหมูแพงนั้น มาจากปัญหาหมูเป็นโรคแอฟริกันสไวน์ฟีเวอร์ (ASF) หรืออหิวาต์สุกร ซึ่งทำให้หลายๆ ฟาร์มไม่กล้าสั่งแม่พันธุ์จากบริษัทใหญ่ๆ เข้ามา เพราะเกรงว่าจะมีโรคติดมาด้วย นำเชื้อมาแพร่ต่อในฟาร์มหมู และหากหมูในฟาร์มติดเชื้อโรคแล้วจะต้องทำลายหมูทิ้งทั้งหมดในรัศมี 1-3 กิโลเมตร ซึ่งถือว่าเป็นเรื่องเสี่ยงพอสมควร และเชื่อว่าทุกฟาร์มจะไม่มีใครกล้าเสี่ยงซื้อแม่พันธุ์หมูเข้ามาแน่นอนในช่วงนี้

นางสาวเพ็ญนภา เศษคง
นางสาวเพ็ญนภา เศษคง

โดยสุรัตน์ฟาร์มเป็นฟาร์มหมูฟาร์มหนึ่งที่ใหญ่ที่สุดในจังหวัดตราด ปัจจุบันมีแม่พันธุ์พ่อพันธุ์ และลูกหมู ไม่ต่ำกว่า 2,000 ตัว ส่งหมูขายในอำเภอบ่อไร่และอำเภอใกล้เคียงทุกวัน แต่เมื่อมีการระบาดของโรคทำให้ฟาร์มไม่สามารถสั่งซื้อพ่อพันธุ์แม่พันธุ์เข้ามาได้ ทำให้วงจรการผลิตลูกหมูไม่สามารถทำได้ตามปกติ

จากเดิมที่ฟาร์มมีแม่พันธุ์ จำนวน 350 ตัว แม่พันธุ์ 1 ตัว จะผลิตลูกหมูประมาณ 10-12 ตัว และลูก 1 ตัว จะต้องขุนประมาณ 1 ปี จึงจะขายออกสู่ตลาดได้ ส่วนแม่พันธุ์ 1 ตัว เลี้ยงเป็นแม่พันธุ์ประมาณ 10 ปี จึงปลดระวาง และจะซื้อแม่พันธุ์จากบริษัทในราคา 9,800 บาท มาแทนที่ ซึ่งสุรัตน์ฟาร์มดำเนินกิจการแบบนี้มานานกว่า 30 ปีแล้ว

และเมื่อประมาณปี 2563 เริ่มเกิดโรคระบาดทำให้ฟาร์มตัดสินใจไม่ซื้อพ่อพันธุ์แม่พันธุ์เข้ามาอีกจนถึงปัจจุบัน เพราะกลัวปัญหาโรคที่ติดมาจากพ่อพันธุ์แม่พันธุ์ ขณะที่ราคาพ่อพันธุ์แม่พันธุ์ราคาพุ่งสูงขึ้นจากเดิมเป็น 12,000-15,000 บาท ทำให้ฟาร์มเหลือแม่พันธุ์เพียง 250 ตัวเท่านั้น เพราะ 100 ตัวที่หายไปต้องปลดระวางเพราะไม่สามารถผลิตลูกได้แล้ว ทำให้ยอดการผลิตลูกหมูนั้นลดลงน้อย แต่ความต้องการยังคงเดิม

Advertisement

ส่วนการแก้ปัญหาในตอนนี้คือ ดึงแม่พันธุ์ที่ปลดระวางไปแล้วมาผสมพันธุ์แทนไปก่อน แต่การผลิตลูกหมูจะทำได้เพียง 8-10 ตัวเท่านั้น และยอมรับว่าตอนหมูขาดแคลน เพราะหมูโตไม่ทัน กำลังผลิตลดน้อยลงจนส่งผลให้ราคาหมูหน้าฟาร์มราคาสูงถึงกิโลกรัมละ 100-105 บาท แพงกว่าเดิมถึง 30-40 บาท และเมื่อหมูไปอยู่บนเขียงราคาก็จะสูงขึ้นไปอีกประมาณ 200-250 บาท เพิ่มขึ้นกว่าร้อยเปอร์เซ็นต์

นางสาวเพ็ญนภายอมรับว่า มีความกังวลเป็นอย่างมากที่ในอนาคตจะขาดแคลนแม่พันธุ์ เพราะปัจจุบันยังไม่มียารักษาโรคแอฟริกันสไวน์ฟีเวอร์ (ASF) และไม่มีแนวโน้มที่โรคนี้จะหายไป แม้ว่าการเพาะลูกของฟาร์มจะสามารถเพาะเองได้โดยไม่ต้องใช้แม่พันธุ์แต่หมูจะไม่ได้คุณภาพเท่านั้น

Advertisement

ส่วนการแก้ไขปัญหาของรัฐบาลที่ห้ามส่งออกหมูไปยังต่างประเทศนั้น นางสาวเพ็ญนภา เศษคง เชื่อว่าไม่สามารถแก้ไขได้จริง เพราะปัญหาหลักคือหลายๆ ฟาร์มไม่กล้าซื้อพ่อพันธุ์แม่พันธุ์เข้าฟาร์มเพราะกลัวเรื่องโรคระบาด ที่อาจจะทำให้หมูในฟาร์มติดเชื้อจากพ่อพันธุ์แม่พันธุ์ที่สั่งซื้อเข้ามา เว้นแต่ว่าโรคระบาดจะหายไป จะทำให้สถานการณ์นั้นดีขึ้น

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image