ตรังข้องใจ ซ่อมฝายน้ำล้น แพงกว่าสร้าง ร้อง ป.ป.ช.ตรวจสอบ

ตรังข้องใจ ซ่อมฝายน้ำล้น แพงกว่าสร้าง ซ่อมแล้วยังชำรุดอีก ร้อง ป.ป.ช.ตรวจสอบโครงการ อบต.ละมอ

วันที่ 12 ม.ค. นายยุทธนา วิมลเมือง เจ้าพนักงานป้องกันการทุจริตชำนาญการพิเศษ (ป.ป.ช.ตรัง) พร้อมด้วย นายชัยวุฒิ สวัสดิรักษ์ ประธานชมรมตรังต้านโกง เครือข่ายภาคประชาชน สื่อมวลชน และนายอำนวย นวลทอง ประธานศูนย์เรียนรู้ตามพระราชดำริเศรษฐกิจพอเพียงตำบลละมอ ลงพื้นที่ตรวจสอบโครงการก่อสร้างฝายน้ำล้น มข.2527 คลองนางน้อยหน้าศาลาเอนกประสงค์ หมู่ที่ 9 ต.ละมอ อ.นาโยง จ.ตรัง ซึ่งเป็นขององค์การบริหารส่วนตำบลละมอ โครงการก่อสร้างฝายน้ำล้น มข.2527 คลองนางน้อยหน้าศาลาเอนกประสงค์ หมู่ที่ 9 ขนาดสันฝายสูง 2 เมตร ผนังข้าง 3.50 เมตร กว้าง 12 เมตร ปีงบประมาณ 2560 วงเงินค่าก่อสร้าง 595,000 บาท แหล่งงบประมาณ จ่ายขาดเงินสะสม วันเริ่มต้นการรับประกัน กรกฎาคม 2561 วันสิ้นสุดการรับประกัน กรกฎาคม 2563

ซึ่งฝายน้ำล้นดังกล่าว ใช้ผลิตน้ำประปาแจกจ่ายให้ประชาชนในหมู่บ้าน แต่ต่อมาฝายดังกล่าวถูกมวลน้ำกัดเซาะทำให้คันดินพังทลายน้ำหลากเข้าสวนยาง สวนปาล์มชาวบ้านจนได้รับความเสียหาย

และต่อมาทางองค์การบริหารส่วนตำบลละมอได้ตั้งงบประมาณโครงการก่อสร้างเพื่อซ่อมแซมคันดินฝายน้ำล้น ขนาดคันดินระยะทางยาว 55 เมตร กว้างไม่น้อยกว่า 10 เมตร ห้างหุ้นส่วนจำกัด จักรมณีการโยธา 88/6 หมู่ที่ 4 ตำบลปากนคร อำเภอเมืองนครศรีธรรมราช จังหวัดนครศรีธรรมราช วันเริ่มต้นสัญญา 5 มีนาคม 2563 วันสิ้นสุดสัญญา 2 มิถุนายน 2563 ระยะเวลาก่อสร้าง 90 วัน งบประมาณที่ตั้งไว้ 1,260,000 บาท ราคากลางค่าก่อสร้าง 1,300,000 บาท วงเงินค่าก่อสร้างตามสัญญาจ้าง 945,000 บาท ผู้ควบคุมงาน นายสาคร ชัยทอง กรรมการตรวจการจ้าง นายธวัชชัย ดำยัง ประธานกรรมการ นายอุทัย นุ่นแจ้ง กรรมการ นายชลิต หนูยิ้มซ้าย กรรมการ

Advertisement

ซึ่งจากการลงพื้นที่ตรวจสอบพบว่าเป็นคลองที่มีสายน้ำไหลที่มีชาวบ้านอาศัยน้ำในคลองดังกล่าวในการดำรงชีพ มีบ้านเรือนตั้งแต่ต้นน้ำลงไป โดยบนเนินสูงมีถังเหล็กสำเร็จรูปสำหรับการสูบน้ำขึ้นไปเพื่อแจกจ่ายให้ประชาชน มีฝ่ายคันน้ำล้นที่มีน้ำไหลเอ่อแต่ภายในลำคลองเต็มไปด้วยเศษกิ่งไม้ที่อุดตันอยู่จำนวนมาก ในขณะที่มีร่องรอยการเก็บเศษกิ่งไม้มาสุมเผาบนโขดหินที่น้ำลดในลำคลอง

Advertisement

เมื่อมองไปอีกฝั่งคลองพบว่ามีร่องรอยการไหลหลากกัดเซาะของน้ำจนคันดินพังทลายเป็นวงกว้าง จนเปิดเส้นทางน้ำไหลอีกเส้นทางหนึ่ง โดยได้มีการก่อสร้างซ่อมแซมคันดินเป็นกล่องเคเบี้ยน(ตะเกรงใส่หิน)สร้างเป็นคันดินแนวยาวมีแผ่นพลาสติกคลุมเคเบี้ยนกันน้ำไหลออกมา แต่ก็ยังมีน้ำรั่วไหลออกมาจำนวนมาก ซึ่งตั้งข้อสังเกตว่าการทำเคเบี้ยนนั้นได้ตอกเสาเข็มหรือไม่เพราะกระแสน้ำได้กัดเซาะไหลออกมาจากด้านล่างเคเบี้ยน ทำให้ช่วงหน้าแล้งฝายน้ำล้นไม่สามารถเก็บกักน้ำได้

นายอำนวย ประธานศูนย์เรียนรู้ตามพระราชดำริเศรษฐกิจพอเพียงตำบลละมอ กล่าวว่า ที่ตนมาร้องเรียนในวันนี้ก็เพื่อให้มาดูการใช้งบประมาณของ อบต.ที่ทำโครงการฝายน้ำล้น ด้วยงบประมาณเกือบ 600,000 บาท หลังจากทำเสร็จก็ไม่ได้ใช้ประโยชน์ พัง ไม่สามารถเก็บกักน้ำได้ ไม่สามารถใช้ได้ตามวัตถุประสงค์ แต่หลังจากนั้น อบต.ก็จัดงบมาซ่อมแซมมากกว่างบก่อสร้างอีก 900,000 กว่าบาท ซ่อมเสร็จไม่ถึงเดือนก็พังอีกตามสภาพที่เห็น ซึ่งไม่ตอบโจทย์ ไม่เป็นไปตามเป้าหมายที่ตั้งไว้และไม่มีการดูแล

ซึ่งกำลังเข้าหน้าแล้ง น้ำที่คาดว่าจะได้ใช้ก็คงไม่ได้ใช้เหมือนเดิม ชาวบ้านใช้น้ำในลำคลองนี้ใช้เพื่อการเกษตรทั้งตำบล น้ำบริโภคก็สูบจากในคลองนี้ไปใช้เป็นน้ำประปา ซึ่งตำบลละมอในช่วงหน้าแล้งจะมีปัญหาเรื่องน้ำเป็นเรื่องแรก ตนต้องการให้ ป.ป.ช.มาตรวจสอบงบประมาณที่ทำไปว่าถูกต้องตามแบบหรือไม่ เพราะถ้าทำถูกต้องตามแบบก็ต้องคุ้มกับงบประมาณ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image