นครพนม คุมเข้มโควิด จำกัดรวมกลุ่มไม่เกิน 500 คน ห้ามขาย-ดื่มแอลกอฮอล์ในร้าน 22-28 ก.พ.นี้
เมื่อเวลา 14.00 น. วันที่ 21 กุมภาพันธ์ ที่ห้องประชุมพระธาตุพนม ชั้น 5 ศาลากลางจังหวัดนครพนม จังหวัดนครพนมจัดประชุมคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดนครพนม ครั้งที่ 9/2565 โดยนายชาธิป รุจนเสรี ผู้ว่าราชการจังหวัดนครพนม มอบหมายนายชาญชัย คงทัน รองผู้ว่าราชการจังหวัดนครพนม เป็นประธานการประชุมฯ มีนายแพทย์กิตติเชษฐ์ ธีรกุลพงศ์เวช รองนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดนครพนม (ด้านเวชกรรมป้องกัน)ร่วมประชุมฯ ซึ่งได้รายงานสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 วันนี้ (วันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2565)
มีรายงานพบผู้ป่วยยืนยัน จำนวน 123 ราย เป็นการติดเชื้อในพื้นที่จังหวัดนครพนม 94 ราย และเป็นผู้ที่เดินทางมาจากจังหวัดบึงกาฬ 8 ราย กรุงเทพมหานคร 9 ราย สกลนคร 2 ราย อุดรธานี 2 ราย และจังหวัดอุบลราชธานี ปทุมธานี สมุทรปราการ นครสวรรค์ พิษณุโลก นนทบุรี บุรีรัมย์ ภูเก็ต จังหวัดละ 1 ราย เข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลนครพนม 56 ราย รพ.ปลาปาก 13 ราย รพ.นาแก 10 ราย รพ.บ้านแพง 9 ราย รพ.นาทม 7 ราย รพ.ท่าอุเทน 6 ราย โรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชธาตุพนม 5 ราย รพ.เรณูนคร 5 ราย รพ.โพนสวรรค์ 4 ราย รพ.ศรีสงคราม 3 ราย
รพ.วังยาง 3 ราย และ รพ.นาหว้า 2 ราย รวมจำนวนผู้ป่วยติดเชื้อสะสม (ข้อมูลตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2565) จำนวน 2,278 ราย หายป่วยสะสม 1,481 ราย หายป่วยกลับบ้านวันนี้ 76 ราย กำลังรักษาอยู่ 856 ราย (อาการของผู้ป่วยทั้ง 856 ราย ไม่มีอาการ 745 ราย มีอาการเล็กน้อย 71 ราย อาการปานกลาง 39 ราย อาการรุนแรง 1 ราย เสียชีวิตสะสม 3 ราย (ข้อมูล ณ วันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2565 เวลา 08.00 น.)
ในส่วนของภาพรวมจำนวนเตียงสำหรับรองรับการรักษาผู้ปวยโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 เตียงศูนย์ดูแลโควิด-19 ชุมชน (Community Isolate : CI) รวม 1,751 เตียง ใช้ไป 467 เตียง คงเหลือ 1,284 เตียง แยกกักตัวที่บ้าน Home Isolation 94 เตียง จำนวนเตียงของ รพ.ทั่วไป/ รพ.ชุมชน ทั้ง 12 อำเภอ ทั้งหมด 643 เตียง ใช้รองรับผู้ป่วย 395 เตียง คงเหลือ 348 เตียง
รวมจำนวนทั้งหมด 2,394 เตียง ใช้ไป 762 เตียง คงเหลือ 1,632 เตียง (ข้อมูล ณ วันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2565 เวลา 08.00 น.) ด้านการให้บริการฉีดวัคซีนป้องกันการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 มีประชาชนที่ได้รับการฉีดวัคซีน (เข็มหนึ่ง) แล้ว 421,028 คน คิดเป็น 67.66% เทียบกับประชากรตามสิทธิ์การรักษาพยาบาล ฉีดเข็มสองแล้ว 385,650 โด้ส คิดเป็น 61.97% ฉีดเข็มสามแล้ว 76,437 โด้ส คิดเป็น 12.28% ฉีดเข็มสี่ จำนวน 4,954 โด้ส คิดเป็น 0.80% คงเหลือ (เป้าหมาย 70%) จำนวน 14,570 คน
ทั้งนี้ ได้เสนอมาตรการสำคัญในการดำเนินงานเฝ้าระวัง ป้องกัน ควบคุมป้องกันโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ในที่ประชุมคณะกรรมการโรคติดต่อฯ อาทิ การเร่งรณรงค์การฉีดวัคซีนเข็ม 3 เชิงรุกในทุกอำเภอ ตั้งเป้าหมายให้ได้ 20% ภายในเดือนกุมภาพันธ์ 2565 พร้อมกำชับทุกอำเภอควบคุม Cluster สำคัญให้ทันเวลา ซึ่งพบว่าการเกิด Cluster ส่วนใหญ่มาจากงานเลี้ยง งานบุญ ร้านอาหาร ร้านนั่งดื่ม รวมทั้งประสานองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในการจัดซื้อ ATK เตรียมไว้อย่างน้อย 1 เดือน โดยให้ทุกอำเภอรายงานยอดคงเหลือให้ทางสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดนครพนมรับทราบทุกวันพฤหัสบดี และการเตรียมขยายเตียงของศูนย์ดูแลโควิด-19 ชุมชน (Community Isolate : CI) สำหรับดูแลผู้ป่วยสีเขียว และเตรียมเตียงว่างในโรงพยาบาลไว้สำหรับผู้ป่วยกลุ่มสีเหลือง สีแดง
ที่ประชุมฯ ได้มีมติเห็นชอบให้มีการจำกัดจำนวนการรวมกลุ่มของบุคคลจำนวนมาก โดยกรณีการจัดกิจกรรมหรือรวมกลุ่มของบุคคลไม่เกิน 200 คน สามารถดำเนินการโดยกำหนดให้ผู้เข้าร่วมกิจกรรมต้องมีหลักฐานการได้รับวัคซีนครบ 2 เข็ม หรือATK ไม่เกิน 48 ชั่วโมง กรณีจัดกิจกรรมหรือรวมกลุ่มของบุคคล เกิน 200 – 500 คน โดยให้ศูนย์ปฏิบัติการระดับอำเภอ (ศปก.อำเภอ) เป็นผู้พิจารณา และกำหนดให้ผู้เข้าร่วมกิจกรรมต้องมีหลักฐานการได้รับวัคซีนครบ 2 เข็ม หรือATK ไม่เกิน 48 ชั่วโมง โดยมีผลตั้งแต่วันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2565 เป็นต้นไป
นอกจากนี้ยังเห็นชอบให้งดการจำหน่ายและดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในร้านอาหาร มีผลตั้งแต่วันที่ 22 – 28 กุมภาพันธ์ 2565
กรณีข้อเสนอขอเปิดสนามไก่ชน/ สนามกัดปลา เฉพาะกรณีที่ผ่านมาตรฐาน COVID FREE SETTING จาก ศปก.อำเภอ เห็นควรชะลอการเปิดไปก่อน รวมทั้งการขอเปิดศูนย์ดูแลโควิด – 19 ชุมชน (Community Isolation : CI) ซึ่งมีเสนอขอเปิดเพิ่มของอำเภอเรณูนคร ณ โรงยิมเมืองเว จำนวน 100 เตียง อำเภอศรีสงคราม ณ หอประชุมอำเภอศรีสงคราม จำนวน 60 เตียง รวมจำนวนเตียงของศูนย์ดูแลโควิด-19 ชุมชน ทั้งจังหวัด 1,815 เตียง