‘หมอล็อต’ เข้าช่วยช้างป่าเขาใหญ่พลายงาเดี่ยว ‘ปวดฟัน’!

 ‘หมอล็อต’ เข้าช่วยช้างป่าเขาใหญ่พลายงาเดี่ยว ‘ปวดฟัน’!

เมื่อเวลา 09.00น.วันที่ 20 มีนาคม นายชัยยา ห้วยหงส์ทอง หัวหน้าอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ กล่าวว่า พบช้างป่าพลายงาเดี่ยวหรือพลายเดี่ยวหลับ อายุประมาณ 30 ปี ซึ่งเป็นช้างป่านิสัยดี มีลักษณะงาข้างซ้ายสั้น ส่วนงาข้างขวายาว ตัวขนาดใหญ่ ที่หากินบนอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ ได้เดินออกจากป่ามาหากินบริเวณหน้าที่ทำการอุทยานฯ และข้ามถนนไปยืนอยู่บริเวณหน้าศูนย์อาหาร เจ้าหน้าที่เกรงว่าช้างป่าจะเดินเข้าไปในศูนย์อาหาร ที่มีเด็กนักเรียนกำลังเข้าค่าย เขาใหญ่วิทยา จึงได้ส่งให้เจ้าหน้าที่ นำรถไปกันเอาไว้ สังเกตุเห็นช้างยืนใช้งวงโกยดินมาพ่นบริเวณงาด้านซ้าย ไล่แมลงที่มาตอมที่มีรอยแตกยาว น่าจะเกิดการเน่าเจ็บปวด

ช้าง

ช้าง

จึงได้ประสานไปยัง นายสัตวแพทย์ ภัทรพล มณีอ่อน หรือหมอล็อต สัตวแพทย์ประจำกรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช พร้อมเดินทางมาตรวจสอบ โดยพลายงาเดี่ยว ไม่เดินไปไหนไกลวนเวียนอยู่บริเวณศูนย์บริการ ต่อมาเมื่อช่วง 12.00 น.หลังหมอล็อตดูอาการพลายงาเดี่ยว ก็พบว่าเกิดจากการการปวดงาหรือฟันที่แตก น่าจะเกิดจากการลัดงากับก้อนหินหรือต้นไม้ หรือต่อสู้กับช้างป่าตัวอื่น จากนั้น นายสัตวแพทย์ภัทรพล ร่วมเจ้าหน้าที่ผลักดันช้างไปบริเวณค่ายกองแก้วให้ห่างจากคน เกรงว่าอาการปวดงาจะทำให้ช้างหงุดหงิดได้ จึงได้ให้ยาลดอาการปวด โดยไม่ต้องยิงยาสลบแต่อย่างใด เนื่องจากพลายงาเดี่ยวไม่มีนิสัยดุร้าย และได้มอบหมายให้สัตวแพทย์ประจำอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่คอยติดตามดูอย่างใกล้ชิดสักระยะหนึ่งไปก่อน

Advertisement

ช้าง

ช้าง

ด้านหมอล็อต กล่าวว่า อันที่จริงตนได้เดินทางมาวางแผนแนวกันไฟบริเวณพื้นที่ป่าอุทยานฯเขาใหญ่ ที่ จ.นครนายก และได้รับรายงานจากทางหัวหน้าอุทยานฯเขาใหญ่ ก็ได้เดินทางมาตรวจสอบ พบว่าช้างป่าพลายงาเดี่ยว หรือเจ้าหน้าที่ให้ฉายา “พลายเดี่ยวหลับ” ซึ่งมีนิสัยชอบยืนหลับตลอด พบบริเวณงาด้านซ้ายมีรอยแตกยาวเกิดอาการเน่า มีแมลงวันตอมเพราะช้างใช้งวงโกยดินพ่นไล่แมลงบริเวณงาตลอดเวลา สาเหตุน่าจะเกิดจากการลัดงา งาไม่แข็งแรง ขาดแคลเซียมบำรุงกระดูก จึงอยากเชิญชวนกลุ่มอนุรักษ์ต่างๆ หรือสถานศึกษา ร่วมกันอนุรักษ์และประสานอุทยานฯ เพื่อทำโป่งเทียมบนพื้นที่อุทยานฯ เพื่อให้สัตว์ป่า เก้งกวางที่มีลูกอ่อน ตั้งท้อง หรือช้างป่าได้เข้ามากิน จะได้เกลือแร่บำรุงกระดูก เพื่อให้งาและกระดูกแข็งแรง เนื่องจากเกลือแร่ตามธรรมชาติมีน้อยมาก ส่วนช้างป่าพลายงาเดี่ยวหลังให้ยาเพื่อลดอาการปวดแล้วก็กินอาหารได้ น่าจะดีขึ้นและมอบให้น้องๆสัตวแพทย์ประจำอุทยานฯคอยดูแลตรวจสอบตลอดในช่วงนี้

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image