สสจ.มหาสารคามเผย รพ.คุยกับคนร้องเรียนเข้าใจแล้ว เหตุทำ Hi โดนเรียกเก็บเงินกว่า 4 หมื่น

สสจ.มหาสารคามแจง ทำ Hi เรียกเก็บเงินค่ารักษาพยาบาล

เมื่อวันที่ 29 มีนาคม นายแพทย์สมชายโชติ ปิยวัชน์เวลา นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด (สสจ.) มหาสารคาม เปิดเผยว่า จากกรณีมีข้อร้องเรียนการเรียกเก็บเงินผู้ป่วยที่รักษาแบบ Home Isolation ผ่านทางสื่อสารมวลชน โดยโรงพยาบาลวาปีปทุมได้เรียกเก็บค่ารักษาพยาบาลกับผู้ป่วยโรค-19 ที่รักษาตัวหายแล้ว และได้ขอใบรับรองไปเบิกกับต้นสังกัด ซึ่งเป็นหน่วยงานรัฐวิสาหกิจ ซึ่งผู้ร้องมีสมาชิกในครอบครัวติดเชื้อรวม 4 คน มีค่าใช้จ่ายคนละ 10,059 บาท รวมเป็นเงิน 40,236 บาท โดย สสจ.มหาสารคามมีหนังสือด่วนที่สุดไปที่โรงพยาบาลวาปีปทุมเพื่อตรวจสอบข้อเท็จจริงแล้ว ได้รับคำชี้แจงว่า กรณีมีการนำเสนอข่าวจากหลายช่องทาง เมื่อวันที่ 26 มีนาคมที่ผ่านมา กรณีมีผู้ป่วย 4 คน รักษาตัวแบบ Hi ซึ่งเป็นพนักงานรัฐวิสาหกิจ ต่อมาพบว่า ต้องการใบรับรองแพทย์เพื่อนำไปเบิกกับต้นสังกัด โดยมีหนังสือส่งกลับมาถึง สสจ.ชี้แจงใน 3 ประเด็น

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง

นายแพทย์สมชายโชติกล่าวว่า ประเด็นที่ 1 การเรียกเก็บค่ารักษาพยาบาลและออกใบเสร็จรับเงินมีรหัสในการออกใบเสร็จรับเงินที่เป็นกรณีเบิกได้อยู่ 2 รายการ เป็นการให้บริการวันละ 1,000 บาท 10 วัน คือ 10,000 บาท ค่ายา 59 บาท ทั้งหมดนี้เป็นการลงรายละเอียดในหัวข้อที่กำหนดจากส่วนกลาง หมายถึง มีแพลตฟอร์มระบุไว้จากส่วนกลาง ไม่ได้เขียนด้วยลายมือ ซึ่งทางโรงพยาบาลไม่ได้เรียกเก็บเงินค่าห้องและค่าอาหารแต่อย่างใด แต่จะใช้เฟลตฟอร์มตามที่ระบบประกัน หรือระบบเบิกจ่าย ซึ่งไม่ได้มีการชี้แจงให้ผู้ป่วยทราบ

นายแพทย์สมชายโชติกล่าวว่า ข้อ 2 กรณีผู้ป่วยอ้างว่าไม่ได้รับการดูแลรักษา ตลอดระยะเวลาการรักษา 10 วัน เจ้าหน้าที่ได้มีการแจกปรอทวัดไข้ เครื่องวัดออกซิเจน และติดตามอาการผู้ป่วยตลอด 10 วัน เพื่อรับทราบอาการของผู้ป่วย โดยการติดตามผ่านทางแอพพลิเคชั่นไลน์ ซึ่งมีเอกสารแนบมาในรายงาน แสดงว่ามีการให้บริการผู้ป่วย มีขั้นตอนการติดตามผู้ป่วย มีการสื่อสารเป็นเอกสารสอดคล้องกับการรักษาแบบ Hi และ ประเด็นที่ 3 ทางโรงพยาบาลได้มีการพูดคุยทำความเข้าใจกับผู้ร้องเรียนเรียบร้อยแล้ว ซึ่งทางผู้ร้องก็เข้าใจถึงการดำเนินการของเจ้าหน้าที่แล้ว

Advertisement

ผู้สื่อข่าวถามว่า ประชาชนส่วนใหญ่มองว่ากรณีที่ผู้ป่วยรักษาตัวแบบ Hi แต่มีค่าใช้จ่ายวันละ 1,000 บาท ตรงนี้แพงเกินไปหรือไม่ ได้รับคำตอบว่า กรณีนี้ประชาชนทั่วไปอาจมองว่าเป็นแค่การเยี่ยมทางไลน์ แต่โดยระเบียบที่อ้างอิงคือระเบียบกลางของ สปสช.กับกรมการแพทย์ที่กำหนดไว้ว่าถ้าเป็นการรักษาแบบ Hi ก็ไม่จำเป็นต้องไปราวน์วอร์ด เหมือนกับไปตรวจคนไข้ในตึกโรงพยาบาล แต่หากคนไข้มีอาการผิดปกติ ก็ต้องมีการประสาน ติดตามผู้ป่วยให้คำแนะนำ เคลื่อนย้ายผู้ป่วยอย่างทันท่วงที ซึ่งเคสนี้ทางโรงพยาบาลมีแสดงหลักฐานว่ามีการสื่อสาร ติดตามสอบถามเพื่อประเมินอาการกับผู้ป่วยหลายครั้ง ซึ่งถือว่าเป็นไปตามระบบการดูแลที่ตั้งไว้ และเป็นระบบกลางที่หลายจังหวัดได้ปฏิบัติกัน

“ปัญหานี้มองว่าน่าจะเกิดจากเจ้าหน้าที่การเงินไม่ได้อธิบายข้อมูลที่มาของค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นให้เข้าใจกับผู้ป่วยที่มารับใบรับรองแพทย์และชำระเงิน แม้จะมีการอิงตามเกณฑ์ที่กำหนดโดยกรมการแพทย์และ สปสช. และคีย์ข้อมูลผ่านระบบโปรแกรมอัตโนมัติ แต่ไม่ได้ลงรายละเอียดให้ชัดเจน จึงเกิดการสื่อสารที่ผิดพลาด จนเกิดความไม่เข้าใจกัน

“ล่าสุดในส่วนผู้บริหารโรงพยาบาลวาปีปทุมได้เข้าชี้แจงทำความเข้าใจกับผู้ป่วยแล้ว แต่หากยังมีข้อติดใจอะไรก็สามารถสอบถามมาได้ นอกจากนี้ สาธารณสุขจะหารือเพื่อปรับรูปแบบการทำงานในกรณีดังกล่าวให้มีความเข้าใจง่าย ป้องกันมิให้เกิดปัญหาเช่นนี้ขึ้นอีก” นายแพทย์ สสจ.มหาสารคามกล่าว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image