กาฬสินธุ์เดินหน้า พัฒนาแหล่งน้ำบาดาลเพื่อการเกษตรแก้จน

กาฬสินธุ์เดินหน้า พัฒนาแหล่งน้ำบาดาลเพื่อการเกษตรแก้จน

เมื่อวันที่ 30 มีนาคม ที่สำนักงานเทศบาลตำบลกมลาไสย อ.กมลาไสย จ.กาฬสินธุ์ นายเถลิงศักดิ์ เพ็ชรสุวรรณ ผู้ตรวจราชการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมและคณะ ตรวจติดตามความก้าวหน้าและปัญหาการดำเนินงานก่อสร้างระบบจัดการขยะเพื่อเป็นเชื้อเพลิง (RDF) และผลิตพลังงานไฟฟ้าจากเชื้อเพลิงขยะมูลฝอยของเทศบาลตำบลกมลาไสยโดยมีนายอัครพงษ์ เขียวแจ่ม ผู้อำนวยการสำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จ.กาฬสินธุ์ (ทสจ.กาฬสินธุ์) พ.จ.ต.สำเนียง หวังเจริญ รักษาราชการแทนท้องถิ่น จ.กาฬสินธุ์, นางสาววิจิตรา ภูโคก นายกเทศมนตรีตำบลกมลาไสย และนายสักรินทร์ ภูงามเงิน ปลัดเทศบาลกมลาไสย ต้อนรับและรายงาน

จากนั้น นายเถลิงศักดิ์ เพ็ชรสุวรรณ ผู้ตรวจราชการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และคณะ ตรวจติดตามความสำเร็จโครงการพัฒนาน้ำบาดาลเพื่อการเกษตรแก้จน ที่ศูนย์กสิกรรมธรรมชาติกาฬสินธุ์ บ้านหัวแฮด ต.ธัญญา อ.กมลาไสย จ.กาฬสินธุ์ โดยมีนายเฉลิมศักดิ์ ถนอมสิทธิ์ ประธานศูนย์ฯพร้อมเกษตรกรต้อนรับ และจุดสุดท้ายเดินทางไปที่แปลงเกษตรผสมผสานบ้านหนองกุง อ.เมือง จ.กาฬสินธุ์

นางสาววิจิตรา ภูโคก นายกเทศมนตรีตำบลกมลาไสย กล่าวว่า ตามที่รัฐบาลประกาศให้มีการกำจัดขยะเป็นวาระแห่งชาติ เทศบาลตำบลกมลาไสยจึงได้ร่วมกับองค์กรปกครองท้องถิ่นหลายแห่งใน จ.กาฬสินธุ์ ลงนามความร่วมมือ สร้างระบบกำจัดขยะอย่างยั่งยืน กำหนดสร้างโรงงานกำจัดขยะในพื้นที่เทศบาลตำบลกมลาไสย ซึ่งที่ผ่านมาได้ร่วมกับหลายภาคส่วน

ด้านนายเถลิงศักดิ์ เพ็ชรสุวรรณ ผู้ตรวจกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กล่าวว่า กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม มีหน่วยงานในพื้นที่คือสำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัด (ทสจ.) ซึ่งจะทำหน้าที่ให้การส่งเสริม ผลักดันเกษตรกรในด้านการประกอบอาชีพ และสนับสนุนปัจจัยการผลิตที่เกี่ยวข้อง ซึ่งกำลังทำแผนที่สำรวจว่ามีความต้องการแหล่งน้ำอย่างไร หรือต้องการพันธุ์ไม้ในการเพาะปลูกอย่างไร ทั้งนี้ก็ขึ้นอยู่กับท้องถิ่นและตัวเกษตรกรเอง ว่ามีความสนใจ และความพร้อมแค่ไหน

Advertisement

ขณะที่นายอัครพงษ์ เขียวแจ่ม ผู้อำนวยการสำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จ.กาฬสินธุ์ (ทสจ.กาฬสินธุ์) กล่าวว่า เดิมฤดูแล้งพื้นที่ของศูนย์กสิกรรมธรรมชาติกาฬสินธุ์ขาดแคลนน้ำ ทสจ.กาฬสินธุ์จึงได้เข้ามาสนับสนุนบ่อบาดาล โดยเป็นแหล่งน้ำใต้ดินพลังงานแสงอาทิตย์ ตามโครงการเพิ่มปริมาณเก็บกักระบบน้ำ และระบบกระจายน้ำเพื่อสนับสนุนการผลิตสินค้าเกษตรแก้ปัญหาภัยแล้ง และโครงการกาฬสินธุ์กรีนมาร์เก็ต สามารถกระจายน้ำไปยังพื้นที่เกษตรรายอื่นที่อยู่ใกล้เคียงอย่างทั่วถึง

อย่างไรก็ตามสิ่งที่เกิดขึ้นในศูนย์กสิกรรมแห่งนี้คือต้นไม้ ธรรมชาติ ความชุ่มชื้นกลับคืนมา ประโยชน์ตามมาอีกมากมาย เช่น เป็นแหล่งเรียนรู้ แหล่งอาหาร ปลูกผักขายรายวันวัน รายเดือน รายปี มีผลไม้ตามฤดูกาล เกษตรกรมีรายได้ตลอดปี ถือเป็นต้นแบบของการบริหารจัดการน้ำ ที่เกิดจากโครงการเพิ่มปริมาณเก็บกักระบบน้ำ และระบบกระจายน้ำเพื่อสนับสนุนการผลิตสินค้าเกษตรแก้ปัญหาภัยแล้งดังกล่าว

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image