‘เชียงใหม่’ เคาะมาตรการช่วงสงกรานต์ พื้นที่สาธารณะห้ามสาดน้ำ-ปาร์ตี้โฟม

แฟ้มภาพ

‘เชียงใหม่’ ออกมาตรการจัดงานสงกรานต์ พื้นที่สาธารณะห้ามเล่นสาดน้ำเด็ดขาด ส่วนพื้นที่จัดงานห้ามประแป้ง-ปาร์ตี้โฟม-ขายดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์

เมื่อวันที่ 1 เมษายน คณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดเชียงใหม่ออกคำสั่งคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดเชียงใหม่ ที่ 37/2565 ลงวันที่ 31 มีนาคม 2565 เรื่อง มาตรการจัดงานในช่วงเทศกาลสงกรานต์ในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ โดยคำสั่งระบุถึงมาตรการจัดงานในช่วงเทศกาลสงกรานต์ในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ กำหนดเป็น 3 ช่วง ได้แก่ มาตรการก่อนจัดงาน คำสั่งระบุว่า ผู้เข้าร่วมงานต้องได้รับวัคซีนครบตามเกณฑ์ที่กระทรวงสาธารณสุขกำหนด จำนวนไม่น้อยกว่า 3  เข็ม/โดส หรือแสดงผลการตรวจหาเชื้อ (ATK) ก่อนร่วมงานภายใน 72 ชั่วโมง ให้ผู้จัดงาน หรือผู้รับผิดชอบสถานที่จัดงาน ลงทะเบียนในระบบ Thai Stop Covid 2 plus และผ่านการประเมินตนเองตามมาตรฐานปลอดภัยสำหรับองค์กร (Covid Free Setting) ของกระทรวงสาธารณสุข กรณีจำนวนคนที่ร่วมกิจกรรมให้ดำเนินการตามคำสั่งเกี่ยวกับกิจกรรมรวมคนจำนวนมากที่ไม่เกิน หรือมากกว่า 500 คน

ส่วนมาตรการที่ 2 เป็นมาตกราร ระหว่างช่วงจัดงาน โดยคำสั่งระบุว่า ในพื้นที่จัดงานสงกรานต์ที่มีการจัดเตรียมสถานที่ ควบคุมกำกับ และได้รับอนุญาตให้จัดงานแล้ว การจัดกิจกรรมที่สามารถจัดได้จะมีในลักษณะของการเล่นน้ำ หรือจัดกิจกรรมตามวัฒนธรรมประเพณี เช่น การสรงน้ำพระ รดน้ำดำหัว การละเล่นตามประเพณี การแสดงทางวัฒนธรรม ประเพณีท้องถิ่น ขบวนแห่ หรือการแสดงดนตรี

โดย ห้าม จัดกิจกรรมที่มีการเล่นประแป้งและกิจกรรมในลักษณะปาร์ตี้โฟม ห้ามจำหน่ายและการบริโภคสุรา หรือเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในบริเวณพื้นที่จัดกิจกรรม ให้มีจุดคัดกรองบริเวรทางเข้าออก และให้มีการลงทะเบียนก่อนเข้าและออกจากสถานที่ หรือพื้นที่จัดกิจกรรม และให้ควบคุมจำนวนผู้เข้าร่วมกิจกรรมมิให้แออัดตามขนาดของสถานที่หรือพื้นที่ โดยใช้เกณฑ์ไม่น้อยกว่า 4 ตารางเมตรต่อผู้เข้าร่วมกิจกรรม 1 คน

ทั้งนี้ คำสั่งนี้ สั่งห้ามเล่นสาดน้ำ ประแป้ง และปาร์ตี้โฟม โดยเด็ดขาด ในพื้นที่สาธารณะที่ไม่มีการควบคุมกำกับ และไม่ได้รับอนุญาตให้จัดงาน

Advertisement

มาตรการที่ 3 เป็นมาตรการ หลังกลับจากงานสงกรานต์ ระบุว่า ให้ผู้กลับจากการเข้าร่วมงานสังเกตอาการตนเอง 7 วัน และหากพบว่ามีอาการสงสัยติดเชื้อให้ตรวจหาเชื้อด้วย ATK ทันที หลีกเลี่ยงการพบปะผู้คนจำนวนมากโดยไม่จำเป็นในช่วงที่อยู่ระหว่างสังเกตอาการ

คลิกอ่าน ข้อกำหนดออกตามความในมาตรา 9 แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 (ฉบับที่ 43)

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image