เริ่มแล้ว สงกรานต์เมืองลิง อัญเชิญเจ้าพ่อพระกาฬ ให้ ปชช.สรงน้ำขอพร-ทำบุญให้อาหารลิง

เริ่มแล้ว สงกรานต์เมืองลิง อัญเชิญเจ้าพ่อพระกาฬ ให้ ปชช.สรงน้ำขอพร-ทำบุญให้อาหารลิง ตลอดสงกรานต์

เมื่อวันที่ 10 เมษายน ผู้สื่อข่าวรายงานว่า บรรยากาศที่ศาลพระกาฬ สิ่งศักดิ์สิทธิ์ คู่บ้านคู่เมืองลพบุรี คณะกรรมการและผู้บริหารงานศาลพระกาฬ ได้อัญเชิญรูปหล่อ องค์เจ้าพ่อพระกาฬ ซึ่งเป็นที่เลื่อมใสศรัทธา ของชาวจังหวัดลพบุรี และจังหวัดใกล้เคียง ลงมาประดิษฐาน บริเวณด้านหน้าทางขึ้นศาลพระกาฬ เพื่อให้ประชาชนทั่วไป ได้ร่วมสรงน้ำ ขอพรจากองค์เจ้าพ่อพระกาฬ ซึ่งจัดขึ้นเป็นประจำทุกปี ในช่วงเทศกาลวันสงกรานต์ หรือวันขึ้นปีใหม่ไทย

โดยมีประชาชนเดินทางมากราบไหว้ สรงน้ำ ขอพร และทำบุญเลี้ยงอาหารลิงภายในพื้นที่โดยรอบศาลพระกาฬ เพื่อความเป็นสิริมงคล แก่ตนเองและครอบครัว เนื่องในเทศกาลสงกรานต์ และวันขึ้นปีใหม่ไทย ประจำปี 2565 กันอย่างคึกคัก

Advertisement

แต่เนื่องจากการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ทำให้มูลนิธิศาลพระกาฬ ต้องกำหนดมาตรการแก่นักท่องเที่ยว โดยมีการตรวจคัดกรองทั้งตรวจวัดอุณหภูมิร่างกาย จัดตั้งจุดให้บริการเจลแอลกอฮอล์ล้างมือ และกำหนดให้นักท่องเที่ยวสแกนคิวอาร์โค้ดไทยชนะ โดยจำกัดจำนวนผู้เข้าสักการะและสรงน้ำขอพรเจ้าพ่อพระกาฬในแต่ละรอบให้เหมาะสมกับพื้นที่ เพื่อลดความแออัดในพื้นที่ของการจัดกิจกรรม เพียงรอบละ 25-30 คน

ซึ่งนักท่องเที่ยวทุกคนต้องสวมใส่หน้ากากอนามัยตลอดเวลา และผ่านจุดคัดกรองก่อนเข้าสักการะ และสรงน้ำองค์เจ้าพ่อพระกาฬ เพื่อเป็นการสร้างความมั่นใจให้แก่นักท่องเที่ยว และป้องกันการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อโควิด-19 ตามที่คณะกรรมการควบคุมโรคจังหวัดลพบุรีกำหนด อย่างเคร่งครัด

Advertisement

สำหรับ ศาลพระกาฬ ในรัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช โปรดเกล้าฯ ให้สร้างศาลเทพารักษ์ขนาดย่อมก่ออิฐ มีลักษณะสถาปัตยกรรมพระราชนิยม ทรงตึกเป็นแบบฝรั่ง หรือเปอร์เซียผสมผสานกับไทย บนฐานศิลาแลงเดิม ตัวศาลเป็นอาคารชั้นเดียวหลบแดดขนาดสามห้อง ภายในบรรจุทับหลังนารายณ์บรรทมสินธุ์ กับเทวรูปสีดำองค์หนึ่ง ถือกันว่าเป็นศาลประจำเมือง

ส่วน เจ้าพ่อพระกาฬ ถือเป็นเทวรูปเก่าแก่ ซึ่งอาจเป็นพระวิษณุ หรือพระโพธิสัตว์ ศิลปะลพบุรี เดิมมีสีดำ ไม่มีเศียร ไม่มีพระกรทั้งหมด ต่อมาภายหลังได้มีผู้ศรัทธาจัดหาเศียรพระศิลาทรายศิลปะสมัยอยุธยา ส่วนพระกรนั้นหามาต่อได้เพียงสองข้าง ปัจจุบันไม่เหลือเค้าเดิมที่มีสีดำแล้ว เพราะถูกปิดทองดูเหลืองอร่าม และถือเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์คู่บ้านคู่เมือง เป็นที่เลื่อมใส่ศรัทธาของประชาชนทั่วไปมาช้านาน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image