มหกรรมยาง วันสุดท้ายยังคึก! เกษตรกรภูเก็ตปลื้มได้ความรู้ต่อยอด ประสานเสียงวอน ‘จัดอีก’

มหกรรมยาง วันสุดท้ายยังคึก! เกษตรกรภูเก็ตปลื้มได้ความรู้ต่อยอด ประสานเสียงวอน 'จัดอีก'

มหกรรมยาง วันสุดท้ายยังคึก! เกษตรกรภูเก็ตปลื้มได้ความรู้ต่อยอด ประสานเสียงวอน ‘จัดอีก’

เมื่อวันที่ 10 เมษายน ที่สนามการยางแห่งประเทศไทยเขตภาคใต้ตอนกลาง อ.ช้างกลาง จ.นครศรีธรรมราช  วันสุดท้ายของการจัดงาน “มหกรรมยางพารา 2564” นครฯ แห่งนวัตกรรมยางพารา ผู้สื่อข่าวรายงานบรรยากาศว่า มีประชาชน เกษตรกรจำนวนมาก ได้เข้าร่วมงานตั้งแต่ช่วงเช้า มีการจับจ่ายใช้สอยสินค้าโอท็อป ตามบูธร้านค้าต่างๆ

น.ส.วาสนา จูจิตร เกษตรกรเจ้าของสวนยาง อ.นาบอน จ.นครศรีธรรมราช และสมาชิกวิสาหกิจชุมชนหมอนยางพาราคลองโอม กล่าวว่า 2 วันที่ผ่านมาขายหมอนยางพาราไปได้แล้ว 80 กว่าใบ คิดเป็นมูลค่ามากกว่า 50,000 บาท ส่วนวันนี้วันสุดท้ายขายหมอนยางพาราไปได้มากกว่า 20 ใบ

“ตัวเราเองทำอาชีพชาวสวนยางอยู่แล้ว พอมีเวลาว่างก็จะไปผลิตหมอนยางพารากับกลุ่มเพื่อนสมาชิก พอได้มางานมหกรรมนี้ ทำให้เพื่อนๆ ในกลุ่มดีใจเป็นอย่างมากที่มีคนสนใจซื้อหมอนยางพาราไปเป็นจำนวนมาก จึงอยากให้มีการจัดงานมหกรรมแบบนี้อีกเรื่อยๆ” น.ส.วาสนากล่าว

มหกรรมยางพารา 2564
มหกรรมยางพารา 2564
มหกรรมยางพารา 2564

นายไมตรี หมั่นแก้ว เจ้าของบริษัท MT Green Group ผู้จำหน่ายผลิตภัณฑ์น้ำตาลจากต้นจาก กล่าวว่า มีลูกค้าสนใจผลิตภัณฑ์ดังกล่าวเป็นจำนวนมาก อาทิ น้ำตาลผงจากลูกจาก น้ำส้มจากลูกจาก สุราขาว โดยตลอดการจัดงานมหกรรมทั้ง 3 วัน มียอดขายรวมประมาณ 7,000 บาท

Advertisement

“ผลิตภัณฑ์จากต้นจาก สามารถมาทำประโยชน์ได้หลายอย่าง ตั้งแต่มุงหลังคา ขนมจาก น้ำหวานจาก แต่พอน้ำหวานจากตั้งไว้นานๆ จะกลายเป็นน้ำส้ม ซึ่งจะมีจุลินทรีย์เหมือนนมเปรี้ยว สามารถใช้แทนเป็นน้ำส้มสายชู นำมาเป็นเครื่องปรุงใส่ในต้มส้มปลากระบอก เป็นเมนูเด็ดของปากพนัง

นายไมตรีกล่าวว่า ส่วนสุราขาว ผลิตจากโรงกลั่นชุมชน มีการเสียภาษีสรรพสามิต มีแสตมป์ภาษีติดอยู่ที่ฉลาก ซึ่งตอนนี้ทางกรมการพัฒนาชุมชน กระทรวงมหาดไทย ก็มีการส่งเสริมด้วย

“อยากให้มีการจัดงานมหกรรมแบบนี้อีก โดยผู้เข้างานส่วนใหญ่เป็นผู้สูงอายุที่สนใจผลิตภัณฑ์ส่งเสริมสุขภาพเครือข่ายเพื่อนฝูงที่มาขายสินค้าด้วยกัน เช่น ยาสมุนไพร ผลิตภัณฑ์กัญชงกัญชา ก็ขายได้ จึงเป็นผลดีทั้ง 2 ฝ่าย ผู้ร่วมงานก็ได้มาจับจ่ายใช้สอยสินค้าส่งเสริมสุขภาพ

Advertisement

มาออกบูธครั้งนี้เป็นครั้งแรก ก็ตกใจเหมือนกันว่าคนมาเยอะมากยิ่งใหญ่มาก มีท่านรัฐมนตรีมาเปิดงาน ทีมงานข้าราชการมาเต็มไปหมด ก็ดีใจที่ได้มาร่วมงาน” นายไมตรีกล่าว

น.ส.เรณุภา ชูอุดมทรัพย์ ครอบครัวเกษตรกรชาวสวนยาง ซึ่งมีพื้นที่ปลูกยางกว่า 100 ไร่ ใน จ.ภูเก็ต ขับขี่รถยนต์ส่วนตัวมาร่วมงาน โดยเล่าว่า สิ่งที่ชอบมากที่สุดในงานมหกรรม คือส่วนของนิทรรศการ และเสวนาวิชาการ ที่ได้มีการพูดคุยเรื่องนวัตกรรมทิศทางในอนาคตของยางพาราจะไปในทิศทางใด ซึ่งก็หวังว่าจะมีการจัดงานแบบนี้ในอนาคต

“สิ่งที่ได้รับความรู้จากงาน เป็นเรื่องของพืชที่จะปลูกควบคู่ไปกับการปลูกยาง การต่อยอดผลิตภัณฑ์จากยางพาราที่นำไปใช้ได้ในชีวิตประจำวัน แต่จากที่ฟังมาต้องอาศัยจากทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และตัวเกษตรกรเอง ผลักกันควบคู่กันไปหมด เกษตรกรก็จะพยายามทำสวนยางยั่งยืนตามคำแนะนำที่มีการบอกไว้” น.ส.เรณุภากล่าว

ด้านนางฉันทนา ส่อเจริญ มารดา น.ส.เรณุภา กล่าวเสริมว่า ครอบครัวตั้งแต่รุ่นพ่อรุ่นแม่ประกอบอาชีพเกษตรกรชาวสวนยางมาโดยตลอด เราก็ต้องต่อยอด เพื่อให้มีการสืบทอดอาชีพนี้ต่อไปในครอบครัว ซึ่งในงานนี้ได้มีการสั่งสมความรู้ เพื่อเอาไปใช้พัฒนาต่อยอด โดยสวนยางของครอบครัวก็ได้มีการปลูกพืชผสมผสานไปบ้างแล้ว

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image