ชาวประมงพื้นบ้าน โวย เรืออวนกุ้ง วางอวน เขตประกาศอนุรักษ์ไม่สนช่วงประกาศปิดอ่าว

ชาวประมงพื้นบ้าน โวย เรืออวนกุ้ง ไม่สนช่วงประกาศปิดอ่าว เข้า วางอวนในเขตประกาศอนุรักษ์ปลาสามเขี้ยว วอน หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจัดการเด็ดขาด

 

วันที่ 25 เม ย. 65 นายปรีชา รักจิตต์ กำนัน ต.เกาะกลาง อ.เกาะลันตา จ.กระบี่ ได้โพสต์เฟซบุ๊ก ข้อความ ประกาศทำไม? เมื่อกฎหมายเอามาบังคับไม่ได้ ช่วงปิดอ่าวตั้งแต่ 1 เม.ย.-30 มิ.ย. ของทุกปี ฝากถึงผู้ถือกฎหมายด้วยคับ “หนุ่มราชสีห์” พร้อมกับคลิปการทำประมงผิดประกาศจังหวัด เป็นข้อตกลงร่วมกันของชาวประมง ในเขตประกาศห้ามทำประมงทุกชนิด ยกเว้นด้วยการตกสัตว์น้ำเท่านั้น ผู้สื่อข่าวจึงได้สอบถามไปยังกำนันปรีชา

โดยนายปรีชา เปิดเผยว่า ได้รับการร้องเรียน จากชาวประมงในพื้นที่ ว่า ได้มีชาวประมงจำนวนมากเข้ามาวางอวนจับสัตว์น้ำ บริเวณอ่าวทองหลาง ม.7 ต.เกาะกลาง อ.เกาะลันตา ซึ่งบริเวณดังกล่าวห้ามทำการประมงทุกชนิด เนื่องจากเป็นถิ่นอาศัยของปลาสามเขี้ยว ยกเว้นทำประมงด้วยการตกกับเบ็ดเท่านั้น ซึ่งเป็นประกาศของจังหวัด ลงนามโดยผู้ว่าราชการจังหวัดกระบี่ เพื่ออนุรักษ์สัตว์น้ำทะเลและปลาสามเขี้ยวให้มีความสมบูรณ์เพิ่มมากขึ้น ซึ่งจากการเข้าไปตรวจสอบพบชาวประมงอวนกุ้งหลายสิบลำ ส่วนใหญ่เป็นเรือต่างถิ่นได้นำอวนมาวางจับสัตว์น้ำโดยที่ไม่ได้สนใจประกาศ ได้แจ้งให้ทางหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้รับทราบและเข้ามาแก้ไขปัญหาโดยด่วน

Advertisement

กำนันปรีชา เปิดเผยอีกว่า การทำประมงของชาวบ้านในอ่าวทองหลาง ได้มีประกาศร่วมกันว่า ชาวประมง จะใช้เบ็ดเท่านั้นในการจับปลา โดยจะไม่ใช้เครื่องมือชนิดอื่น เป็นประกาศจังหวัด โดยผู้ว่าฯ ตั้งแต่วันที่ 15 มี.ค.-15 พ.ค. ของทุกปี เนื่องจากทางชาวบ้านในพื้นที่ได้มีการตกลงร่วมกัน ทั้งนี้เพื่อต้องการอนุรักษ์ปลาสามเขี้ยว ให้มีอย่างยั่งยืน ประกอบกับในช่วงนี้เป็นช่วงปิดอ่าว ฤดูปลามีไข่วางไข่ ทางชาวประมงที่ใช้เบ็ดตกปลา อยากให้เจ้าหน้าที่เข้ามากวดขันด้วย เนื่องจากพื้นที่ดังกล่าวอยู่ในเขตประกาศเฉพาะ ทำการประมงด้วยการตกปลา แต่ห้ามวางอวนเด็ดขาด ในอ่าวทองหลาง

กำนัน ต.เกาะกลาง กล่าวด้วยว่า ก่อนนี้ ได้มีชาวประมงต่างพื้นที่ นำอวนเข้ามาทำการประมง แต่ถูกชาวบ้านในพื้นที่คัดค้าน และได้แจ้งให้ทางประมงอำเภอเกาะลันตา เข้ามาร่วมแก้ไข จนได้ข้อตกลงร่วมกันว่าจะไม่ใช้อวนในการทำประมงอย่างเด็ดขาด ซึ่งทุกคนก็ให้ความร่วมมือ สำหรับปลาสามเขี้ยวในอ่าวทองหลาง จะมีชุกชุม ตั้งแต่เดือนมีนาคม ถึงต้นเดือนมิถุนายน ของทุกปี โดยช่วงที่มีปลาชุกชุม จะอยู่ในช่วงน้ำ 6-13 ค่ำ บางคนสามารถตกได้ 30-40 กิโลกรัม ต่อวัน สร้างรายได้ กว่า 1,000-2,000 บาท

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image