มหกรรมกัญชา เขต 12 วันสุดท้ายคึกคัก แจงขั้นตอนปลูก-ผลิตสำหรับ ปชช.
เมื่อวันที่ 1 พฤษภาคม 2565 ที่บริเวณหอประชุมเฉลิมพระเกียรติ มหาวิทยาลัยทักษิณ วิทยาพัทลุง จ.พัทลุง ซึ่งเป็นสถานที่จัดงานประชุมวิชาการกัญชาทางการแพทย์ เขตสุขภาพที่ 12 “กัญชา เพื่อประชาชน” ซึ่งบรรยากาศช่วงเช้าพบว่า ยังคงมีประชาชนโดยเฉพาะจากต่างจังหวัด ทยอยเดินทางเข้ามาร่วมในกิจกรรมดังกล่าวจำนวนมาก ขณะที่บรดาพ่อค้า แม่ค้า ผู้ประกอบการห้างร้าน 78 บูธ
โดยเฉพาะลานสาธิตกิจกรรม/ฝึกปฎิบัติการ 10 รายการ ซึ่งกิจกรรมต่างๆ จะเริ่มในเวลา 11.00 น. เป็นต้นไป สำหรับวันนี้จะมีกิจกรรม 3 รายการด้วยกัน อาทิ การสาธิตการผลิตเครื่องดื่มจากกัญชา โดยวิสาหกิจชุมชนหม่อนผลใต้ร่มบุญ จ.สงขลา, ฝึกปฏิบัติการการทำลูกประคบกัญชา โดย รพ.สต.บ้านทุ่งนุ้ย จ.สตูล และสาธิตการปรุงเทมปุระกัญชา, การหุงข้าวกัญชาในกระบอกไม้ไผ่โดยวิสาหกิจชุมชนบ้านโตนปาหนัน จ.สตูล
ส่วนงานประชุมสัมมนาทางวิชาการ ที่ห้องประชุมใหญ่นั้น เริ่มกิจกรรมตั้งแต่เวลา 09.00 น.เป็นการบรรยาย “การปลูกกัญชาภาคประชาชน ต้องเตรียมการอย่างไร” ต่อด้วยการเสวนา “การใช้ยากัญชาทางการแพทย์แผนปัจจุบันสำหรับประชาชน” และ “การใช้ยากัญชาทางการแพทย์แผนไทยสำหรับประชาชน” ส่วนภาคบ่ายเป็นการอภิปรายแลกเปลี่ยนประสบการณ์ “กัญชา กัญชงกับการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ” และ “การปลูกกัญชาของวิสาหกิจชุมชนในเขตสุขภำพที่ 12”
ส่วนบรรยากาศโดยทั่วไปบริเวณส่วนการตัดนิทรรศการยังคงมีประชาชนทัางใน และต่างจังหวัดให้ความสนใจเป็นจำนวนมากเช่นกัน สำหรับเขตสุขภาพที่ 12 ประกอบด้วย พัทลุง ตรัง สงขลา สตูล ปัตตานี ยะลา และนราธิวาส โดยทุกจังหวัดมีโรงพยาบาลที่มีศักยภาพในการผลิตยาจากกัญชา และผลิตภัณฑ์สมุนไพร ได้แก่ รพ.ห้วยยอด จ.ตรัง, รพ.ป่าบอน จ.พัทลุง, รพ.สิงหนคร จ.สงขลา, รพ.ละงู จ.สตูล, รพ.สมเด็จพระยุพราชสายบุรี จ.ปัตตานี, รพ.สมเด็จพระยุพราชยะหา จ.ยะลา และ รพ.จะแนะ จ.นราธิวาส สามารถเปิดคลินิกกัญชาทางการแพทย์ในโรงพยาบาลภาครัฐ และคลินิกกัญชาทางการแพทย์ภาคเอกชน รวม 97 แห่ง ทำให้ผู้ป่วยเข้าถึงยากัญชาทั้งแผนไทย และแผนปัจจุบัน โดยในปี 2564 มีผู้เข้ารับบริการในคลินิกกัญชาทางการแพทย์กว่า 7,000 คน และรับยากัญชากว่า 6,500 คน
ทั้งนี้ มีรายงานเพิ่มเติมระบุว่า ในเขตสุขภาพที่ 12 มีการปลูกกัญชา เพื่อการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ พื้นที่ปลูกกัญชา 21 แห่ง 2,636.50 ตารางเมตร ปลูกกัญชง 17 แห่ง 22,102 ตารางเมตร
น.ส.ปิยญาฎา สุภาภูมิ ตัวแทนกลุ่มวิสาหกิจชุมชนกลุ่มปลูก และแปรรูปบุกเกษตรอินทรีย์บ้านทุ่งแพม และเขาค้อ เปิดเผยว่า ทางกลุ่มเริ่มขออนุญาติปลูกกัญชา เริ่มต้นตั้งแต่กฎหมายเริ่มออก ก็ติดตามมาตลอดในเรื่องกฎหมาย และก็ติดตามไปทั่วทั้งที่มีการประชุมในกระทรวง ส่วนขั้นตอนครั้งแรกเลยเราจะต้องมีกลุ่มวิสาหกิจชุมชน ตั้งแต่ 7คนขึ้นไป รวมตัวกัน หลังจากนั้นก็ต้องคุยกับท้องถิ่น ทางผู้ใหญ่บ้าน กำนัน อำเภอ จังหวัด จนถึงกระทรวง เราตั้งใจปลูกกัญชา เพื่อผลิตส่งให้กับกรมการแพทย์ แผนไทยแล้วกรมการแพทย์แผนไทยก็จะผลิตเป็นตัวยาออกมา ให้กับ รพ.สต. เพื่อรักษาผู้ป่วยต่อไป นอกจากนี้ ยังมีการคิดค้นเรื่องกัญชาเพื่อปรุงอาหารอีกด้วย