โคราชป่วยโรคไข้หูดับสูงสุดของประเทศ สสจ.เตือน ปชช.อย่ากินหมูสุกๆ ดิบๆ ย้ำร้านอาหารปรุงสุกให้ลูกค้า

ป่วยโรคไข้หูดับสูงสุดของประเทศ สสจ.เตือน ปชช.อย่ากินหมูสุกๆดิบๆ พร้อมกำชับร้านอาหาร งดปรุงเมนูสุกๆดิบๆให้ลูกค้า

วันนี้ (4 พฤษภาคม 2565) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำนักสาธารณสุขจังหวัดนครราชสีมา ได้รายงานสถานการณ์โรคไข้หูดับในพื้นที่จังหวัดนครราชสีมา ต่อที่ประชุมคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดนครราชสีมาว่า จากข้อมูลวันที่ 20 เมษายน 2565 ของสำนักระบาดวิทยา กระทรวงสาธารณสุข พบว่า จังหวัดนครราชสีมา มีผู้ป่วยโรคไข้หูดับ จำนวน 29 ราย และเป็นจังหวัดเดียวที่มีผู้เสียชีวิต จำนวน 7 ราย ซึ่งสอดรับกับรายงานของกลุ่มระบาดวิทยาและตอบโต้ฯ สำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 9 นครราชสีมา ที่ระบุว่า ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2565 – 20 เมษายน 2565 ทั้งประเทศพบผู้ป่วยโรคไข้หูดับ จำนวน 86 ราย มีผู้เสียชีวิต 7 ราย ภาคที่มีอัตราป่วยสูงสุด คือ ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคใต้ และภาคกลาง ตามลำดับ ในขณะที่อัตราป่วยสูงสุดของประเทศ คือ จังหวัดนครราชสีมา โดยมีอัตราป่วย 1.14 ต่อประชากรแสนคน

ในขณะที่เขต “นครชัยบุรินทร์” พื้นที่ดูแลของเขตสุขภาพที่ 9 พบว่า ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม – 23 เมษายน 2565 พบผู้ป่วยโรคไข้หูดับ 31 ราย และเสียชีวิต 7 ราย คิดเป็นอัตราป่วยตาย ร้อยละ 22.58 โดยจังหวัดนครราชสีมา มีอัตราป่วยสูงสุด 1.13 ต่อประชากรแสนคน รองลงมา คือ จังหวัดชัยภูมิ คิดเป็นอัตราป่วย 0.09 ต่อประชากรแสนคน ส่วนจังหวัดบุรีรัมย์ และจังหวัดสุรินทร์ ยังไม่พบผู้ป่วย

ทั้งนี้ ผู้ป่วยจะเป็นเพศชายมากกว่าเพศหญิง และพบในกลุ่มอายุ 65 ปีขึ้นไปมากสุด รองลงมาคือกลุ่มอายุ 55-64 ปี กับกลุ่มอายุ 45-55 ปี ตามลำดับ และเมื่อจำแนกอัตราป่วยระดับอำเภอของจังหวัดนครราชสีมา 3 อำเภอแรกที่พบผู้ป่วยมากสุด ได้แก่ อำเภอเฉลิมพระเกียรติ พบผู้ป่วยมากสุด ในอัตรา 5.55 ต่อประชากรแสนคน รองลงมา คือ อำเภอแก้งสนามนาง อัตรา 5.43 ต่อประชากรแสนคน และอำเภอบ้านเหลื่อม อัตรา 4.83 ต่อประชากรแสนคน

ซึ่งนายแพทย์นรินทร์รัชต์ พิชญคามินทร์ นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดนครราชสีมา ได้สั่งกำชับไปยังสาธารณสุขอำเภอทั้ง 32 อำเภอของจังหวัดนครราชสีมา ให้เร่งประชาสัมพันธ์เตือนประชาชนให้ป้องกันตนเองเพื่อไม่ให้เป็นโรคไข้หูดับ โดยเลือกซื้อเนื้อหมูจากตลาดสดหรือห้างสรรพสินค้าที่ผ่านการตรวจสอบมาตรฐานจากโรงฆ่าสัตว์แล้ว เลี่ยงการซื้อหมูที่จำหน่ายข้างทาง ตลาดขายเร่ ตลาดขายของป่า หรือซื้อหมูมาชำแหละเอง รวมทั้ง กำชับขอความร่วมมือไปยังร้านจำหน่ายอาหาร ห้ามปรุงเมนูหมูสุกๆ ดิบๆ ให้กับลูกค้า

Advertisement

ขณะที่เกษตรกรผู้เลี้ยงหมู ให้เฝ้าระวังสุกรเป็นพิเศษ หากพบป่วยหรือตาย อย่านำหมูมาขายหรือชำแหละรับประทาน ให้รีบแจ้งเจ้าหน้าที่ปศุสัตว์ทราบโดยเร็ว นอกจากนี้ ขอให้เทศบาลฯ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ตรวจประเมินโรงฆ่าสัตว์ สถานที่ชำแหละ ตลาดสด ตลาดนัด แผงหมู และรถพุ่มพวง ตามหลักสุขาภิบาลอย่างเคร่งครัดด้วย พร้อมกับขอให้เจ้าหน้าที่ปศุสัตว์ได้ลงพื้นที่แลกเปลี่ยนข้อมูลระบาดวิทยาและสอบสวนโรคโดยเร็ว หากมีผู้ป่วยโรคหูดับในพื้นที่ใด หรือพบหมูตายผิดธรรมชาติ เพื่อเข้ามาตรวจสอบหาสาเหตุ และควบคุมป้องกันการแพร่ระบาดของโรคโดยเร็ว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image