จนท.นำปูนขาว 400 กก. โรยซาก 5 ช้างป่าตกหลุมยุบ ป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อโรค

จนท.นำปูนขาว 400 กก. โรยซาก 5 ช้างป่าตกหลุมยุบ ป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อโรค พร้อมเฝ้าระวังลักซากหวั่นนำไปหาประโยชน์

ความคืบหน้ากรณีช้างป่า 5 ตัว ตกหลุมยุบเสียชีวิตเหลือแต่ซากโครงกระดูก เหตุเกิดบริเวณป่าเหมืองสองท่อ พิกัดที่ 47P 477562E 16238442N ท้องที่หมู่ 7 บ้านชะอี้ ตำบลชะแล อำเภอทองผาภูมิ จังหวัดกาญจนบุรี ที่อยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติ ป่าเขาพระฤๅษี และป่าเขาบ่อแร่แปลงที่ 1 ตามที่ได้เสนอข่าวไปแล้ว
ล่าสุด เมื่อเวลา 10.30 น. วันที่ 6 พ.ค. คณะเจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติลำคลองงู ได้ดำเนินการจดทำบันทึกรายละเอียดการตายของช้างป่า จำนวน 5 ตัว เพื่อไปลงบันทึกประจำวันเอาไว้เป็นหลักฐาน ที่ สภ.ทองผาภูมิ ตาม ปจว. ข้อ 2 ลงวันที่ 6 พฤษภาคม 2565 เวลา 10.30 น.

หลังจากลงบันทึกประจำวันเอาไว้เป็นหลักฐานแล้วเสร็จ นายประทีป เอกฉันท์ ผอ.ศูนย์ป่าไม้กาญจนบุรี นายพิเชษฐ ชัยสวัสดิ์ หัวหน้าอุทยานแห่งชาติลำคลองงู นายวิวรรธน์ มองเห็นทวีโชค หน.เจ้าพนักงานป่าไม้ชำนาญการ (กรมป่าไม้) ร.ต.อ.มานพ สุทธิบุตร รอง สว.กก.5 บก.ปทส. (กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม) นายเชน ศรีเสมอ ผู้ใหญ่บ้านหมู่ 7 บ้านชะอี้ ต.ชะแล เจ้าหน้าที่หน่วยป้องกันรักษาป่า ที่ กจ.4 (กรมป่าไม้) เจ้าหน้าที่ชุดปฏิบัติการเฉพาะกิจทิพุเย รวมทั้งเจ้าหน้าที่ทหารหน่วยเฉพาะกิจลาดหญ้า กกล.สุรสีห์ ได้ร่วมกันเดินทางไปยังจุดเกิดเหตุ

ซึ่งคณะเจ้าหน้าที่เดินทางโดยใช้รถกระบะ ก่อนจะต้องลงเดินเท้าต่อเข้าไปยังจุดเกิดเหตุที่ช้างป่า 5 ตัว ตกหลุมยุบตาย ซึ่งต้องใช้เวลานานหลายชั่วโมง เมื่อเดินทางไปถึงพบหลุมยุบดังกล่าวมีความกว้างประมาณ 13 เมตร ลึกประมาณ 6 เมตร โดยเจ้าหน้าที่ได้นำปูนขาว จำนวน 400 กิโลกรัม โรยไปบริเวณบ่อและรอบๆ บริเวณที่ช้างตาย เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อโรค ทั้งนี้ คณะเจ้าหน้าที่จะได้นำปูนขาวมาโรยเพิ่มเติม พร้อมกับเฝ้าระวังที่จุดเกิดเหตุเพื่อป้องกันไม่ให้มีใครเข้ามาลักนำซากช้างป่าทั้ง 5 ตัว เพื่อนำไปหาผลประโยชน์ส่วนตัวอีกด้วย จากนั้นในช่วงหน้าแล้งจะนำรถแบ๊กโฮมาฝังกลบอีกครั้งหนึ่ง

จากสภาพของซากช้างป่าที่ตายทั้ง 5 ตัว คาดว่าตายมาแล้วประมาณ 2-3 เดือน จากซากที่เน่าเปื่อยทำให้ส่งกลิ่นเหม็นไปทั่วบริเวณ หนังและเนื้อบางส่วนหลุดล่อนออกจนมองเห็นแต่โครงกระดูก ซึ่งภายในบ่อเป็นโคลนที่มีน้ำขัง ลักษณะเป็นโคลนดูด และพบร่องรอยการตะเกียกตะกายของช้างเพื่อขึ้นมาบนฝั่ง แต่ก็ไม่สามารถขึ้นมาได้จนหมดแรงทำให้เสียชีวิตดังกล่าว

Advertisement

จากการตรวจสอบพื้นที่โดยรอบของเจ้าหน้าที่ พบว่ามีหลุมยุบตัวอีกจำนวนหลายหลุม ซึ่งแต่ละหลุมมีความลึกประมาณ 2-3 เมตร คณะเจ้าหน้าที่คาดว่าขณะที่ช้างป่าทั้ง 5 ตัว รวมตัวยืนอยู่บนพื้นดิน แล้วอยู่ๆ ดินก็ยุบลงมาอย่างกะทันหัน ประกอบกับช่วงเวลาดังกล่าวมีฝนตกลงมาทำให้เกิดมีสภาพเป็นดินโคลนและลื่น ทำให้ช้างป่าขึ้นมาไม่ได้ และเสียชีวิตในที่สุด ขณะที่จุดเกิดเหตุนั้นอยู่ห่างไกลจากชุมชนมากถึง 7 กิโลเมตร จึงไม่มีผู้ใดพบเหตุการณ์

นายพิเชษฐ ชัยสวัสดิ์ หัวหน้าอุทยานแห่งชาติลำคลองงู เปิดเผยว่า จากการลงพื้นที่จะสังเกตได้ว่า พื้นที่บริเวณนี้มีลักษณะเป็นหลุมยุบ สันนิษฐานว่า เกิดจากการยุบตัวของแผ่นดิน จนด้านล่างกลายเป็นโพรง โดยเบื้องต้นคาดว่า เมื่อช้างป่าเดินมาถึงจุดเกิดเหตุได้เกิดพลัดตกลงไปในหลุม และเกิดอาการบาดเจ็บ หรือขาหัก จนทำให้ไม่สามารถกลับขึ้นมาได้ และบริเวณโดยรอบบ่อยังพบร่องรอยช้างป่าตัวอื่นช่วยตะกุยดินอีกด้วย
จากสภาพของช้างป่าที่ตาย ทั้ง 5 ตัว ที่มีสภาพเน่าเปื่อยเห็นโครงกระดูก ไม่สามารถพิสูจน์ได้แน่ชัดว่า แต่ละตัวมีเพศใด และมีอายุเท่าไร แต่สันนิษฐานว่า ตายมาแล้วประมาณ 2 เดือน เป็นช้างโตเต็มวัย 2 ตัว และช้างรุ่น 1 ตัว และลูกช้าง 2 ตัว

สำหรับพื้นที่แถบนี้เป็นพื้นที่ที่อยู่ในวงรอบหากินของช้างป่า โดยช้างจะเดินหากินอยู่ในพื้นที่อุทยานฯ เขื่อนศรีนครินทร์ และอุทยานฯลำคลองงู ซึ่งเบื้องต้นพบว่า มีช้างป่าอาศัยอยู่ประมาณ 20-30 ตัว

Advertisement

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image