พ่อค้าขายอาหารลิงสงขลา กังวลข่าว ‘มาลาเรียโนวไซ’ เหตุยังไม่มีการชี้แจงจาก จนท.

พ่อค้าขายอาหารลิงสงขลา กังวลข่าว ‘มาลาเรียโนวไซ’ เหตุยังไม่มีการชี้แจงจาก จนท.

รายงานข่าวจากจังหวัดสงขลาเมื่อวันที่ 8 พฤษภาคมนี้ ว่าพ่อค้าแม่ค้าที่ขายผลไม้สำหรับฝูงลิง บริเวณเขาน้อยและเขาตังกวน ในอำเภอเมืองสงขลา ที่มีฝูงลิงอาศัยอยู่หลายร้อยตัว เริ่มมีความกังวล หลังทราบข่าวว่า มีโรคมาลาเรีย โนวไซ ที่ยุงก้นปล่อง ไปกัดลิง แล้วมากัดคน ทำให้เกิดป่วยด้วยโรคนี้ขึ้น ซึ่งนายวิวัฒน์ บัวผุด พ่อค้าขายผลไม้ให้กับลิง กล่าวว่าทราบข่าวจากสื่อออนไลน์ ที่ไม่ทราบว่าข้อเท็จจริงเป็นอย่างไร แต่ก็ได้ทำการป้องกันตัวเอง ด้วยการสวมใส่เสื้อแขนยาว และใช้ยาทากันยุง เมื่อออกมาขายสินค้า รวมถึงปิดร้านเร็วกว่าปกติ โดยจะไม่รอให้ถึงช่วงค่ำ ซึ่งเป็นช่วงที่ยุงเยอะ

โดยในจุดนี้ซึ่งถือเป็นแหล่งที่อยู่อาศัยของฝูงลิง ทำให้เป็นจุดที่มีความกังวลว่า จะมีเชื้อโรคนี้หรือไม่ โดยยังไม่เห็นว่ามีเจ้าหน้าที่ด้านสาธารณสุขมาชี้แจงหรือว่าฝูงลิงที่นี่มีความเสี่ยงหรือไม่ หรือมาตรวจสอบ พูดคุยติดป้ายเตือน เพื่อให้ประชาชนได้รับทราบว่าควรทำการป้องกัน หรือ มีความเสี่ยงอย่างไรหรือไม่
อย่างไรก็ตามพบว่า มีนักท่องเที่ยวเดินทางมาซื้อผลไม้เพื่อให้อาหารกับฝูงลิงตามปกติ โดยไม่ได้มีความกังวลต่อโรคนี้

ในส่วนของสำนักงานสาธารณสุข นายแพทย์ปพน ดีไชยเศรษฐ รองนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดสงขลากล่าวว่า ในกรณีนี้นั้นได้มีการสุ่มตรวจหาเชื้อมาลาเรียในลิงในพื้นที่ทั้งหมด โดยในอำเภอเมืองสงขลานั้น ยังไม่พบผู้ป่วยจากโรคมาลาเรียโนวไซ และไม่พบเชื้อในฝูงลิง ส่วนใหญ่จะพบผู้ป่วยโรคนี้ ในพื้นที่ป่าเขา อาทิ อำเภอสะบ้าย้อย อำเภอรัตภูมิ และอำเภอนาทวีเป็นต้น โดยสุ่มตรวจหาเชื้อในลิงที่อยู่ใกล้ชุมชนก็ไม่พบเชื้อ ซึ่งประเมินว่าน่าจะมีฝูงลิงที่มีเชื้ออยู่ในป่าลึกเข้าไปอีก

Advertisement

นายแพทย์เฉลิมพล โอสถพรมมา ผู้อำนวยการสำนักป้องกันควบคุมโรคที่ 12 จังหวัดสงขลา กล่าวถึงสถานการณ์โรคไข้มาลาเรียในพื้นที่เขตสุขภาพที่ 12 ว่า ข้อมูลวันที่ 1 มกราคม 2565 – 3 พฤษภาคม 2565 มีรายงานผู้ป่วยไข้มาลาเรีย จำนวน 45 ราย โดยจังหวัดที่มีอัตราป่วยสูงที่สุดคือ จังหวัดยะลา มีอัตราป่วย 0.034 ต่อพันประชากร (18 ราย) รองลงมาคือ จังหวัดสตูล อัตราป่วย 0.016 ต่อพันประชากร (5 ราย) จังหวัดสงขลา อัตราป่วย 0.012 ต่อพันประชากร (17 ราย) และจังหวัดนราธิวาส อัตราป่วย 0.006 ต่อพันประชากร (5 ราย) ทั้งนี้ จังหวัดตรัง พัทลุง และปัตตานี ยังไม่มีรายงานผู้ป่วยในปี 2565 ทั้งนี้ พบสัดส่วนของผู้ป่วยแยกตามชนิดของเชื้อ พบว่าเชื้อชนิด Plasmodium vivax (Pv) มีรายงานผู้ป่วยมากที่สุด จำนวน 27 ราย คิดเป็นร้อยละ 60 และชนิด Plasmodium knowlesi (Pk) จำนวน 18 ราย (ร้อยละ 40) โดยมีรายงานผู้ป่วยเสียชีวิต จำนวน 1 ราย (ชนิด Pk) ในพื้นที่จังหวัดสงขลา

นายแพทย์เฉลิมพล โอสถพรมมา

Advertisement

สคร.12 สงขลา ได้มีการเฝ้าระวังผู้ป่วยไข้มาลาเรียมาอย่างต่อเนื่องตามนโยบายกำจัดมาลาเรียของกรมควบคุมโรค สำหรับไข้มาลาเรียชนิด Plasmodium knowlesi (PK) เป็นเชื้อมาลาเรียในลิงที่นำเชื้อมาสู่คนได้ โดยยุงก้นปล่องกัดลิงที่มีเชื้อแล้วมากัดคน แต่ยังไม่เคยมีรายงานการติดเชื้อจากคนไปสู่คน พบมากในประเทศมาเลเซียและอินโดนีเซีย เชื้อชนิดนี้มีการแบ่งตัวในร่างกายคนได้เร็วและมากกว่าเชื้อชนิดอื่น ทำให้มีอาการคือ ไข้สูง หนาวสั่น ปวดศีรษะ เหงื่อออกมาก โดยในประเทศไทยเริ่มมีรายงานการพบในหลายจังหวัด สำหรับในพื้นที่เขตสุขภาพที่ 12 เริ่มมีรายงานผู้ป่วยตั้งแต่ปี 2559 โดยพบผู้ป่วยจำนวนประปราย และเริ่มพบมากขึ้นในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา ผู้ป่วยไข้มาลาเรีย ชนิด Plasmodium knowlesi (PK) ส่วนใหญ่มีประวัติการเดินทางและพักแรมในป่า หรือทำสวนในบริเวณเชิงเขาที่มีลิงอาศัยอยู่ในพื้นที่

สคร.12 สงขลา เน้นย้ำ สำหรับประชาชนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่เสี่ยง หรือผู้ทำงานในป่า นักท่องเที่ยว ควรป้องกันตนเอง โดยไม่ให้ยุงกัด สวมเสื้อผ้าให้มิดชิด ทายากันยุง และนอนในมุ้ง หากมีข้อสงสัยสามารถสอบถามเพิ่มเติมได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร 1422

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image