รพ.วชิระภูเก็ต แถลงการรักษาเด็ก 12 ปี ตาบอด เกิดจากเชื้อแบคทีเรียลุกลาม ไม่ใช่เพราะฉีดวัคซีน

ทีมแพทย์ รพ.วชิระภูเก็ต ชี้แจงการรักษาผู้ป่วยเด็ก 12 ปี ตาบอด เกิดจากเชื้อแบคทีเรียลุกลามเข้าตาและฐานสมองแบบฉับพลัน ไม่ใช่ฉีดวัคซีนโควิดแล้วตาบอด

เมื่อวันที่ 9 พฤษภาคม ทีมแพทย์โรงพยาบาลวชิระภูเก็ต นำโดย นายแพทย์วีระศักดิ์ หล่อทองคำ ผู้อำนวยการ รพ.วชิระภูเก็ต ชี้แจงกรณีมีการพาดหัวข่าว เด็ก 12 ปี ฉีดวัคซีนแล้วตาบอด ว่าผู้ป่วยรายนี้ คือ ด.ช.นนทพัทธ์ (สงวนนามสกุล) อายุ 12 ปี เข้ารักษาที่ รพ.วชิระภูเก็ต ตั้งแต่วันที่ 6 ธ.ค.64-10 ม.ค.65 ได้รับการส่งตัวจาก รพ.ถลาง วันที่ 6 ธ.ค.64

โดยประวัติวันที่ 15 พ.ย.64 ได้รับวัคซีนไฟเซอร์ เข็มที่ 2 เป็นเวลา 10 วัน ก่อนมา รพ.และพบว่าในช่วง 7 วันก่อนมา รพ.มีตุ่มหนองหน้าแข้งด้านขวา บีบหนองออกเอง แผลหายไป และ 3 วันก่อนมา รพ. ผู้ป่วยมีไข้ หนาวสั่น ผ่านมา 2 วันก่อนมา รพ. เปลือกตาด้านขวาบวมแดง เริ่มตามัว และวันที่ 6 ธ.ค.ก่อนมา รพ.เริ่มรู้สึกว่าลืมตาขวาไม่ค่อยขึ้น เปลือกตาบวมมากขึ้น

เช้าวันที่ 6 ธ.ค.ไปที่ รพ.ถลาง มีอาการซึมลง ต้องใส่ท่อช่วยหายใจ นำส่งที่ รพ.วชิระภูเก็ต ในวันเดียวกันมีอาการชักเกร็ง ได้รับยากันชักทางหลอดเลือดดำ ส่งตรวจเอกซเรย์ CT สแกนสมอง หาสาเหตุอาการชัก อาการไข้และเปลือกตาที่บวมแดง ผลเอกซเรย์พบว่า มีเนื้อสมองอักเสบ เปลือกตาขวาอักเสบที่บริเวณเปลือกตาและเบ้าตาด้านขวา และยังพบว่า มีการอักเสบของไซนัสหลายตำแหน่ง ในวันนั้นได้รับการรักษาในห้องไอซียูเด็ก ตั้งแต่วันที่ 6-22 ธ.ค.64 ได้ใส่ท่อช่วยหายใจวันที่ 6-16 ธ.ค.64 เมื่ออาการคงที่ได้ย้ายมาที่หอผู้ป่วยกุมารเวชกรรม รักษาต่อเนื่องจนออกจาก รพ.ได้วันที่ 10 ม.ค.65

Advertisement

สรุปการวินิจฉัยโรคของผู้ป่วยรายนี้ คือมีไซนัสอักเสบฉับพลันจากทุกไซนัสจากเชื้อแบคทีเรีย “สแตปฟิโลคอคคัส ออเรียส” (Staphylococcus Aureus) เป็นเชื้อที่พบได้ตามการอักเสบติดเชื้อที่ผิวหนัง และพบในการติดเชื้อไซนัสอักเสบฉับพลันได้ มีเบ้าตาอักเสบและฝีหนองในเบ้าตาด้านขวาจากเชื้อเดียวกัน มีเยื่อหุ้มสมองอักเสบและเนื้อสมองอักเสบจากเชื้อแบคทีเรียนี้ มีการอักเสบของกระดูกรอบโพรงไซนัสและกระดูกรอบเบ้าตา มีภาวะอุดตันของแอ่งเลือดดำบริเวณฐานกะโหลก ทั้งหมดนี้เป็นภาวะที่เกิดขึ้นร่วมกัน

สาเหตุที่สูญเสียการมองเห็นเกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรียสแตปฟิโลคอคคัส ออเรียส อาจเริ่มจากไซนัสก่อนลุกลามเข้าไปในตาและบริเวณฐานสมองทำให้เกิดการอักเสบของตาและเส้นประสาทตาและเส้นประสาทที่มาเลี้ยงกล้ามเนื้อตา ทำให้เกิดสูญเสียการมองเห็น

Advertisement

หลักฐานที่พบจากตาจากไขสันหลังทุกอันขึ้นเชื้อตัวเดียวกัน ซึ่งเชื้อนี้เป็นเชื้อที่พบบ่อยและพบได้ แต่ถ้าเป็นเชื้อตัวนี้จะรุนแรงกว่าเชื้อตัวอื่น เชื้อดังกล่าวอาจเกิดจากแผลที่ขาก็ได้ หรืออาจเกิดขึ้นเอง เพราะสามารถพบเชื้อได้ในจมูกของคนทั่วไป ซึ่งก่อนหน้าจะฉีดวัคซีนโควิดได้เจอเชื้ออยู่แล้วกับไซนัสอักเสบเข้าตา มีการรักษาอาการอย่างเต็มที่ ผลการรักษากลับมาไม่ได้ 100% กับทุกคน

สรุป การรักษาในโรงพยาบาล ให้ยาฆ่าเชื้อแบคทีเรียทางหลอดเลือดดำที่ครอบคลุมเชื้อสแตปฟิโลคอคคัส ออเรียส ร่วมกับยาฆ่าเชื้อแบคทีเรียชนิดหยอดตา และให้ยาฆ่าเชื้อชนิดรับประทานต่อที่บ้าน การรักษาโดยวิธีผ่าตัดไซนัสใช้วิธีการส่องกล้อง เมื่อวันที่ 7 ธ.ค.64 ผ่าตัดเพื่อระบายหนองในเบ้าตา 10 ธ.ค.64 ผ่าตัดไซนัส วิธีส่องกล้อง ครั้งที่ 2 วันที่ 7 ม.ค.65 ติดตามอาการ ให้ยาต้านการแข็งตัวของเลือดตามมาตรฐานการรักษาภาวะอุดตันของแอ่งเลือดดำบริเวณฐานกะโหลก ติดตามอาการอย่างใกล้ชิด ในหอผู้ป่วยหนักกุมารเวชกรรมเมื่ออาการคงที่แล้วจึงย้ายมาที่หอผู้ป่วยกุมารเวชกรรม

แนวทางการดูแลรักษาต่อเนื่องและการฟื้นฟู ดังนี้ นัดติดตามตรวจตาและให้คำแนะนำแนวทางการดูแลผู้ป่วยทั้งแก่ผู้ป่วยและญาติที่ดูแล ทำกายภาพบำบัดอย่างต่อเนื่องเพื่อฝึกการเดิน การนั่ง การเคลื่อนไหว และการใช้อุปกรณ์ช่วยเหลือต่างๆ ในชีวิตประจำวัน มีนัดติดตามที่คลินิกเวชศาสตร์ฟื้นฟู ส่งพบผู้เชี่ยวชาญ Low vision clinic ที่แผนกจักษุ รพ.สงขลานครินทร์ เพื่อให้ผู้ป่วยและญาติได้เข้าอบรมแนวทางในการดูแลตนเอง การใช้อุปกรณ์ช่วยเหลือวางแผนด้านการศึกษารวมถึงการงานและพื้นฐานอาชีพในอนาคต นัดติดตามอาการทางระบบประสาทที่คลินิกระบบประสาทเด็ก นัดติดตามอาการเรื่องไซนัสอักเสบที่คลินิกหูคอจมูก

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image