ใส่กระดุมผิดเม็ดแรก ส่งผลมัสยิดตรังพ่นพิษ สร้างมากว่า 10 ปี ใช้งบสร้างสะสมมาแล้วกว่าร้อยล้าน แต่ยังไม่มีวี่แววจะแล้วเสร็จ
เมื่อวันที่ 1 มิถุนายน 2565 ที่ห้องประชุม อบจ.ตรัง นายราม วสุธนภิญโญ ผู้อำนวยการสำนักงาน ป.ป.ช. ประจำจังหวัดตรัง พร้อมด้วยชมรมตรังต้านโกง เข้าพบนายบุ่นเล้ง โล่สถาพรพิพิธ นายก อบจ.ตรัง พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่ ที่เกี่ยวข้อง เพื่อสอบถามความก้าวหน้าในการแก้ปัญหาสิ่งก่อสร้างที่ยังไม่แล้วเสร็จหรือใช้ประโยชน์ไม่คุ้มค่าเกี่ยวกับ มัสยิดกลางจังหวัดตรังที่สร้างมากว่า 10 แต่ยังไม่แล้วเสร็จ ซึ่งได้รับการร้องเรียนจากประชาชนให้มีการตรวจสอบ
ขณะที่นายบุ่นเล้ง โล่สถาพรพิพิธ นายก อบจ.ตรัง เปิดเผยว่า การสร้างมัสยิดตรังหลังนี้สร้างมากว่า 10 ปี ซึ่งใช้งบประมาณไปแล้ว กว่าร้อยล้านบาท แต่ยังไม่แล้วเสร็จ ซึ่งสร้างมาตั้งแต่สมัยนายกิจ หลีกภัย อดีตนายก อบจ.ตรัง คนเก่า ซึ่งสมัยตนได้เข้ามารับไม้ต่อ โดยมองว่าการสร้างมัสยิดหลังนี้เปรียบเสมือนการใส่กระดุมผิดเม็ดแรก จึงทำให้ผิดทั้งหมด ปัญหาจึงตามมาเรื่อยๆ ที่ผ่านมามัสยิดหลังนี้จะมีปัญหายามหน้าฝน น้ำรั่วไหลจนทำให้ฝ้าเพดานต่าง ๆ ผุพัง เกิดความเสียหาย ซึ่งสมัยตนผู้บริหารชุดใหม่ได้พยายามหาแนวทางแก้ไขปัญหาแบบยั่งยืน คือทำรางระบายน้ำรอบหลังคาโดม และมีรางรองรับน้ำที่ลงจากโดมซึ่งต้องแก้ปัญหาส่วนนี้ให้ได้ก่อน ก่อนที่จะดำเนินการแก้ฝ้าเพดาน เพราะตอนนี้ยังแก้ไม่ได้ เพราะหลังคายังมีน้ำรั่วไหล จึงจำเป็นต้องทำตามสเต็ปขั้นตอนเพื่อการแก้ไขปัญหาที่ยั่งยืน ซึ่งยังอยู่ในขั้นตอนเสนอรายการอยู่ในการแก้ไขฝ้าเพดาน ซึ่งได้ผ่านการเข้าประชุมสภาเรียบร้อยแล้ว กำลังดำเนินการในเรื่องพัสดุ หลังจากเสร็จสิ้นก็จะมอบให้กับกรรมการอิสลามจังหวัดตรังเข้ามาดูแล แต่ตอนนี้ยังไม่ส่งมอบได้ และที่สำคัญคือเกิดความขัดแย้งในคณะกรรมการอิสลามได้มีการแบ่งออกเป็น 2 ฝ่าย ซึ่งตนก็ลำบากใจเช่นกัน แต่ก็ต้องประนีประนอมกันไป ซึ่งก่อนหน้าที่นายพิสิฐ ลี้อาธรรม อดีตผู้ตรวจการแผ่นดิน ได้ลงพื้นที่ตรวจสอบและตั้งข้อสังเกตให้ตนไปดูและแก้ไขหลายข้อ
ส่วนทางด้าน นายราม ผ.อ.ป.ป.ช.ตรัง กล่าวว่า เป็นที่รับทราบกันว่าทาง อบจ.ตรัง ได้สร้างมัสยิดกลาง และวัตถุประสงค์เพื่อถ่ายโอนให้กับคณะกรรมการอิสลามจังหวัดตรัง ใช้เป็นที่ปฏิบัติศาสนกิจ หรือประกอบพิธีกรรมของศาสนา ซึ่งเท่าที่ติดตามปรากฏว่าทาง อบจ.ตรัง ยังไม่สามารถให้บรรลุเป้าหมายตามจุดประสงค์ได้ ซึ่งตรงนี้มันอาจผิดวัตถุประสงค์การใช้งบประมาณที่ไม่คุ้มค่า ประชาชนไม่รู้ทิศทางว่าเมื่อไหร่จะได้ใช้ประโยชน์จากโครงการดังกล่าว ซึ่งจากการต้องใช้งบประมาณต้องระบุชัดเจน กำหนดเวลาที่ชัดเจนว่ากี่เดือน กี่ปี แล้วเสร็จ ถึงจะมอบต่อ แต่มันเกิดปัญหาคาราคาซังเรื่องการบริหารจัดการของท้องถิ่นเองที่ไม่สามารถดำเนินการได้ตามเป้าหมายได้ ซึ่งในบริบทของหน่วยงาน ป.ป.ช. เอง อย่างเรื่องของการไต่สวนเพื่อเอาผิดการทุจริต และบริบทอื่นเรื่องการป้องกันการทุจริต การเฝ้าระวัง เราก็เข้าไปส่งเสริมแนะนำหน่วยงานของรัฐให้ดำเนินการให้ถูกต้อง ตามกฎหมาย ในชั้นนี้ทาง ป.ป.ช. เข้าไปเสนอแนะว่าทาง อบจ.ดำเนินการไม่ถูกต้อง ทำแล้วต้องทำให้บรรลุเป้าหมายจริง ๆ ซึ่งปัญหาแท้จริงคือทาง อบจ.ไม่สามารถส่งมอบมัสยิดกลางแห่งนี้ได้ อาจจะเกิดความไม่พร้อมทางตัวอาคาร ปัญหาอาคารที่ยังมีการรั่วไหลของน้ำฝน ซึ่งถ้าจะส่งมอบทาง อบจ.ต้องแก้ปัญหาตรงนี้ก่อน จึงสามารถส่งมอบได้ ในส่วนความผิดพลาดในอดีตก็ต้องว่ากันไปอีกฉ๊อตหนึ่ง
ซึ่งที่ทาง ป.ป.ช. ทำในวันนี้ก็เพื่อแก่ปัญหาให้งบประมาณที่ลงไปแล้วหลายสิบล้านบาท ให้มันเกิดประโยชน์สูงสุดกับประชาชน จึงได้เข้าพูดคุยปรึกษาหารือกับผู้บริหารชุดปัจจุบันเพื่อให้แก้ไขให้บรรลุวัตถุประสงค์ด้วย ไม่อย่างนั้นเท่ากับว่างบประมาณในส่วนของการก่อสร้างมัสยิดสูญเปล่าก็เหมือนการก่อสร้างทิ้งร้างเลย ในส่วนของการจะเอาผิดหรือใครต้องรับผิดก็ต้องว่ากันอีกทีว่ากันไปตามกระบวนการ ทั้งนี้ที่มีผู้บริหารมองว่า ใส่กระดุมผิดเม็ดแรก ตนมองว่าผู้บริหารอาจมีมุมมองที่แตกต่างกันได้ ซึ่งในชั้นนี้ทาง ป.ป.ช. จะบอกว่าใครผิดอาจจะยังชี้แจงไม่ได้ เพราะเรายังไม่ได้ไปดูข้อเท็จจริง ปัญหาเกิดจากตรงไหน ถ้าถามว่าเอาผิดกับผู้บริหารชุดเก่าได้หรือไม่นั้นมันก็เป็นความผิดทางอาญาประเภทหนึ่งซึ่งมีอายุความตามหลักทั่วไป ซึ่งจากการดูข้อมูลยังอยู่ในปี 2552 สามารถดำเนินการได้