บิ๊กโจ๊กขันนอต! เส้นทางน่านน้ำอพยพโรฮีนจา เบื้องต้นพบขบวนการค้ามนุษย์จากต่างชาติ ยังไร้คนไทยเอี่ยว

บิ๊กโจ๊กขันนอต! เส้นทางน่านน้ำอพยพโรฮีนจา เบื้องต้นพบขบวนการค้ามนุษย์จากต่างชาติ ยังไร้คนไทยเอี่ยว

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันที่ 5 มิถุนายน 2565 จากการที่ทัพเรือภาคที่ 3 โดยหน่วยปฏิบัติการหน่วยบัญชาการต่อสู้อากาศยานและรักษาฝั่งที่ 491 กองทัพเรือพร้อมเจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติตะรุเตา เข้าช่วยเหลือชาวโรฮีนจา จำนวน 59 คนที่ถูกนายหน้านำมาปล่อยไว้ที่เกาะดง ของจังหวัดสตูล โดยทางเจ้าหน้าที่ได้รีบเข้าช่วยเหลือหลังพบว่ากลุ่มคนดังกล่าวขาดข้าวและน้ำอยู่ในสภาพอิดโรย โดยหนึ่งในนั้นมีทั้งเด็กและสตรีจำนวนมากรวมอยู่ด้วย

ทันทีที่หลายส่วนราชการเข้าช่วยเหลือนำมาพำนักภายใน ตำรวจตระเวนชายแดนที่ 436 สตูล ตำบลคลองขุด อำเภอเมือง จังหวัดสตูล ด้านพลตำรวจโทสุรเชษฐ์ หักพาล ผู้ช่วย ผบ.ตร.ทราบข่าวรีบบินตรงลงพื้นที่จังหวัดสตูล เพื่อตรวจสอบในทันทีโดยเน้นย้ำในการทำงานที่บูรณาการร่วมกันทุกฝ่าย พร้อมย้ำว่าเบื้องต้นยังไม่พบว่ามีคนไทยร่วมขบวนการเคลื่อนย้ายถิ่นฐานชาวโรฮีนจาในครั้งนี้

พลตำรวจโท สุรเชษฐ์ หักพาล ผู้ช่วย ผบ.ตร.กล่าวว่า ขณะนี้ยังไม่มีข้อมูลว่าเกี่ยวพันกับคนไทยหรือไม่ โดยเรือพบว่าต้องการมุ่งตรงจากเมียนมาเพื่อไปบังกลาเทศ โดยยังไม่มีขบวนการขนย้ายโดยคนไทย แต่ว่ายังไม่ทิ้งประเด็นเหล่านี้ ต้องหาข้อมูลความเชื่อมโยงทั้งหมดโดยเริ่มต้นจากการใช้ข้อมูลทางโทรศัพท์ จำนวน 10 เครื่อง และการสอบปากคำ โดยจากการตรวจสอบเบื้องต้นพบเส้นทางการเข้ามาของชาวโรฮีนจาในครั้งนี้ว่า ใช้เรือจากมาเลเซียและบังกลาเทศจำนวน 3 ลำ (โดยไม่มีเรือของไทย) ลำเลียงเข้าบังกลาเทศและถูกจับกุมเมื่อวันที่ 1 พ.ค.ที่ผ่านมา จากนั้นวันที่ 24 ได้ถูกจับกุมเพิ่มอีก 199 คน เมื่อเรือลำที่ 1 และลำที่ 2 ถูกจับกุม เมื่อเข้าไม่ได้ก็ย้อนกลับมาทำงานที่มาเลเซีย เรือลำที่ 3 พบว่าได้นำชาวโรฮีนจามาปล่อยที่เกาะดง เขตอุทยานแห่งชาติตะรุเตาจำนวน 59 คนดังกล่าว

Advertisement

ในขั้นตอนหลังจากมีการคัดแยกเหยื่อแล้ว หากเป็นเหยื่อค้ามนุษย์เราก็จะช่วยเหลือ และไล่ตรวจสอบว่ามีใครเป็นขบวนการนายหน้าบ้าง ใครเป็นคนจัดหาเรือ จัดหาน้ำท่า ส่วนบุคคลที่ไม่ใช่เหยื่อค้ามนุษย์กลุ่มนี้เป็นผู้ที่หลบหนีเข้าเมือง ต้องมาดูว่าเป็นคนสัญชาติอะไร หากเป็นพม่าก็จะผลักดันตามช่องทางที่เข้ามา ซึ่งมีข้อยกเว้นอยู่แล้วในการให้ผลักดันเลย โดยสิ่งสำคัญคือการดูแลในเรื่องของอาหารการกิน สุขอนามัย พร้อมตรวจโรคไวรัสโควิด-19 และฝีดาษลิง ให้มีความเป็นอยู่ที่ดีตามหลักมนุษยธรรม ไม่หิวโซ

Advertisement

ผู้ช่วย ผบ.ตร.กล่าวเพิ่มเติมว่า หลังจากนี้ไปต้องนำเรื่องนี้เข้าพูดคุยในหลากหลายเวที โดยเฉพาะเวทีต่างประเทศ เช่นการรับรองสถานะของชาวเมียนมากลุ่มต่างๆ เพื่อไม่ให้มีการโยกย้ายถิ่นฐานหรือไปแสวงหาโอกาสที่ดีกว่าอีก เรื่องมาตรการการตรวจการบูรณาการของศรชล.ต่างๆ ในการตรวจพบกลุ่มคนเหล่านี้และการดำเนินคดีต่างๆ ซึ่งต้องพูดคุยกันหลายส่วน และยังพบว่าเส้นทางที่ใช้ลำเลียงผ่านมาประเทศไทยยังเป็นเส้นทางล่องน้ำเดิมที่เคยพบในอดีต ต้องมาพูดคุยกันใหม่ทั้งกองทัพเรือ ศรชล. ตำรวจน้ำ หากไม่มีมาตรการที่ดีก็จะมีมาอีกและก็จะมาเป็นภาระของประเทศไทยอีก วันนี้ต้องทำให้ต่างชาติได้เห็นว่ารัฐไทยได้ช่วยเหลือ เยียวยา ดูแล ปกป้อง

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image