DSI สแกนเทือกเขากมลา ทวงคืนผืนป่าจากนายทุน-พร้อมหาผู้ว่าฯกรณีรุกล้ำที่ดินบนหาดเลพัง

DSI สแกนเทือกเขากมลา ทวงคืนผืนป่าจากนายทุน-พร้อมหาผู้ว่าฯกรณีรุกล้ำที่ดินบนหาดเลพัง

เมื่อวันที่ 7 มิถุนายน กรมสอบสวนคดีพิเศษ กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (บก.ปทส.) ส่วนป้องกันรักษาป่าและควบคุมไฟป่า สจป.12 สาขากระบี่ เจ้าพนักงานที่ดิน อ.กะทู้ บูรณาการตรวจสอบพื้นที่บุกรุกป่าเทือกเขากมลา ตามเลขสืบดีเอสไอ ที่ 109/2656 และตามคำสั่งนายกเทศมนตรีเมืองกะทู้ ให้หยุดการขุดดินหรือถมดิน หรือจัดการป้องกันความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นหรือจัดการแก้ไขการขุดดินหรือถมดิน ตามมาตรา 31 วรรคหนึ่ง กรณีการขุดดินหรือถมดิน ได้ก่อหรืออาจให้เกิดความเสียหายต่อทรัพย์สินของบุคคลอื่น

สืบเนื่องจากกรณีดีเอสไอ ได้รับการร้องเรียนว่า มีผู้ใช้รถแบ๊กโฮ ขุดดินในเขตป่าสงวนแห่งชาติป่าเทือกเขากมลา คาบเกี่ยว ต.กะทู้ อ.กะทู้ จ.ภูเก็ต กับพื้นที่ ต.เกาะแก้ว อ.เมือง จ.ภูเก็ต โดยอ้างเอกสารสิทธิ์ นส.3ก เลขที่ 32 ต.กะทู้ อ.กะทู้ เนื้อที่ประมาณ 12 ไร่เศษ ออกเมื่อปี 2508 ก่อนประกาศเขตป่าไม้ถาวรป่าควนเขากมลา เพียงปีเดียว (2509)

ทั้งนี้ เจ้าหน้าที่ส่วนแผนที่และเทคโนโลยีภูมิสารสนเทศ ดีเอสไอ ได้นำโดรนขึ้นบินสำรวจพื้นที่ เนื้อที่ประมาณ 130 ไร่ ส่วนจุดเกิดเหตุที่มีการขุดหน้าดิน ประมาณ 5 ไร่ คาบเกี่ยว 3 พื้นที่คือ เขตป่าไม้ถาวรป่าควนเขากมลา เขตป่าสงวนแห่งชาติป่าเทือกเขากมลา และเขต สปก.ด้วย โดยพนักงานสอบสวน ดีเอสไอ จะตรวจสอบการออกเอกสารสิทธิ์ ว่าถูกต้องหรือไม่ เอกสารสิทธิ์ที่นำมาแสดงตรงแปลงหรือไม่

Advertisement

 

แหล่งข่าวจากกรมสอบสวนคดีพิเศษ กล่าวว่า การสั่งการของอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ ให้ผู้อำนวยการศูนย์ปฎิบัติการคดีพิเศษ พื้นที่ 8 สืบสวนสอบสวนเอาผิดกับนายทุนที่ครอบครองพื้นที่ป่าโดยผิดกฏหมาย สืบเนื่องจากข้อมูลทางลับ พบว่า พื้นที่จังหวัดกระบี่ พังงา และภูเก็ต มีนายทุนครอบครองพื้นที่ป่า มากกว่า ชาวบ้านที่เป็นเกษตรกรหรือผู้ยากไร้ ซึ่งมีสิทธิอยู่ในพื้นที่ป่าตามมติคณะรัฐมนตรี และมติของคณะกรรมการจัดที่ดินแห่งชาติ แต่ไม่ได้ครอบคลุม หรือไม่ได้อนุญาตให้นายทุนที่มีอันจะกิน หรือคนรวยครอบครองพื้นที่ป่า แต่ที่ผ่านมาพบว่าหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและรับผิดชอบหลายหน่วย ไม่ลงรายละเอียดหรือละเลยที่จะลงรายละเอียดในการครอบครองพื้นที่ป่าของนายทุน ซึ่งการครอบครองพื้นที่ป่าของนายทุน มีความซ้ำซ้อน และมีอิทธิพลเกี่ยวข้อง และส่วนใหญ่จะมีอำนาจทางด้านการเงิน

Advertisement

 

นอกจากนั้น ยังพบว่าพื้นที่ภูเขาและพื้นที่สูงที่มีการบุกรุกปลูกยางพารา ทุเรียน สะตอ และ ผลอาสินอื่นๆ เกิดจากการครอบครองพื้นที่รอบภูเขาจากอำนาจของเงินในการกว้านซื้อที่ดิน ที่มีเอกสารสิทธิ์ในเชิงเขา และบุกรุกครอบครองในพื้นที่ลาดชันสูงไว้ทั้งหมดเนื่องจากมีความยากลำบากของเจ้าหน้าที่รัฐที่จะเข้าตรวจสอบ การใช้อากาศยานไร้คนขับ (โดรน) ซึ่งเป็นเครื่องมือพิเศษที่สามารถวัดพิกัดทางอากาศได้ และมีความแม่นยำสูงและสามารถที่จะนำเอาระวางที่ดินของกรมที่ดินมาทับซ้อนลงไปภาพถ่ายทางอากาศที่วัดพิกัดโดยอากาศยานไร้คนขับซึ่งเป็นเครื่องมือพิเศษที่ทันสมัยและมีความเที่ยงตรงสูงมาก

การปฎิบัติการในครั้งนี้จึงพบว่า พื้นที่บนภูเขาที่เป็นเทือกเขามีการบุกรุกครอบครองพื้นที่จำนวนมาก การปฎิบัติการของกรมสอบสวนคดีพิเศษในครั้งนี้ จึงถือว่า เป็นการปฎิบัติการทวงคืนพื้นที่ป่าจากนายทุนที่เกิดจากจุดเริ่มต้นของการขุดหน้าดินในพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติป่าเทือกเขากมลา ในพื้นที่เขตอิทธิพลที่มีฉายาฮีตเลอร์

นายไตรยฤทธิ์ เตมหิวงศ์ อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ พร้อมด้วย ร้อยตำรวจเอก ปิยะ รักสกุล ผู้อำนวยการกองคดีการเงินการธนาคารและการฟอกเงิน ร้อยตำรวจเอก ธรรศ เลาห์ทวี เลขานุการกรม นางญาณิณี เกียรติไพบูลย์ ผู้อำนวยการส่วนประชาสัมพันธ์ และรองโฆษกกรมสอบสวนคดีพิเศษ และนายศุภชัย คำคุ้ม ผู้อำนวยการศูนย์ปฏิบัติการคดีพิเศษ เขตพื้นที่ 8 เดินทางเข้าพบ นายณรงค์ วุ้นซิ้ว ผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต นายอำนวย พิณสุวรรณ รองผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต และหัวหน้าส่วนราชการในจังหวัดภูเก็ตที่เกี่ยวข้อง ประกอบด้วย นายอำเภอถลาง เจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดภูเก็ต ณ ห้องประชุมศาลากลางจังหวัดภูเก็ต เพื่อประชุมหารือ กรณีการสงวนหวงห้ามที่ดินเพื่อใช้ประโยชน์ร่วมกัน เกี่ยวข้องกับคดีพิเศษที่กรมสอบสวนคดีพิเศษรับผิดชอบ บริเวณหาดเลพัง ตำบลเชิงทะเล อำเภอถลาง จังหวัดภูเก็ต (คดีพิเศษที่ 4/2560)

อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ กล่าวว่า วันนี้ใด้ขออนุญาตเข้าพบผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ตหัวหน้าส่วนราชการในจังหวัดภูเก็ตที่เกี่ยวข้อง เพื่อหารือกรณี รับทราบจากหนังสือของท่านนายอำเภอถลาง เสนอผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต ขอสงวนหวงห้ามที่ดินเป็นสาธารณะ จำนวน 178 ไร่ เพื่อประชาชนจะได้ใช้ประโยชน์ร่วมกัน

จากการหารือทราบจากท่านผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต ว่า กรมที่ดินได้ตั้งคณะกรรมการตามกฎหมายที่ดินขึ้นพิจารณาในเรื่องดังกล่าว ตามรายละเอียดคำพิพากษาศาลที่เกี่ยวข้องแล้ว โดยจะให้ความเป็นธรรมกับทุกฝ่าย รวมทั้งผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย เช่น ผู้เช่า ผู้รับจำนอง ฯลฯ และในขณะนี้อยู่ในขั้นตอนการดำเนินการของคณะกรรมการฯ สำหรับคดีพิเศษเรื่องดังกล่าวได้มีการดำเนินคดีกับเจ้าหน้าที่รัฐที่เกี่ยวข้องจนศาลมีคำพิพากษาถึงที่สุดลงโทษผู้กระทำผิด ตามที่เป็นข่าวไปก่อนหน้านี้แล้ว ในคำพิพากษาระบุอย่างชัดเจนแล้วว่าที่ดินบริเวณดังกล่าวเป็นที่สาธารณสมบัติของแผ่นดิน ส่วนกรณีเดียวกันที่ดำเนินคดีกับเอกชน
อยู่ระหว่างการสอบสวนของกรมสอบสวนคดีพิเศษ จะได้เร่งรัดดำเนินการตามขั้นตอนและสั่งคดีโดยเร็วต่อไป

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image