นายกอ๋า ยกปรากฏการณ์ ‘ชัชชาติ’ แรงขับเคลื่อนพัฒนาท้องถิ่น

‘นายกอ๋า’ เดินหน้าหลักสูตร ‘นักพัฒนาเมืองระดับสูง’ ยกปรากฏการณ์ ‘ชัชชาติ’ แรงขับเคลื่อนพัฒนาท้องถิ่นในยุคเศรษฐกิจใหม่

เมื่อวันที่ 10 มิถุนายน ที่สมาคมสันนิบาตเทศบาลแห่งประเทศไทย กรุงเทพมหานคร นายพงษ์ศักดิ์ ยิ่งชนม์เจริญ นายกเทศมนตรีนครยะลา/นายก ส.ท.ท. แถลงข่าวเปิดหลักสูตร “นักพัฒนาเมืองระดับสูง” โดยสมาคมสันนิบาตเทศบาลแห่งประเทศไทย (ส.ท.ท.) ร่วมกับ หน่วยบริหารและจัดการด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) มีกิจกรรมการบรรยายพิเศษ เรื่อง “นักพัฒนาเมืองระดับสูง” โดย รศ.ดร.ปุ่น เที่ยงบูรณธรรม รองผู้อำนวยการฝ่ายแผนและยุทธศาสตร์ องค์กร หน่วยบริหารจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.)

นายพงษ์ศักดิ์กล่าวว่า หลักสูตรสันนิบาตเทศบาลร่วมกับสถาบันพระปกเกล้า ดำเนินการในรุ่นที่ 3 ที่จะเริ่มในวันที่ 13 มิถุนายนนี้ ที่ผ่านมาได้รับการตอบรับจากพี่น้องนายกเทศมนตรีเป็นอย่างดี เข้ามาสมัครเต็มทุกรุ่น วันนี้ตั้งใจเอาสิ่งที่เรียนมาใช้ในพื้นที่ วันนี้สันนิบาตเทศบาลพยายามที่จะยกระดับ รวมถึงเทศบาลทุกแห่งด้วย อย่างเช่น ปรากฏการณ์ชัชชาติที่เกิดขึ้นมามันเป็นโอกาสอย่างดีของพวกเรา ที่สะท้อนเป็นส่วนหนึ่งที่ให้คนรู้จักท้องถิ่นกันมากขึ้น

หลายคนในกรุงเทพฯ หรือส่วนกลาง ยังไม่รู้จักคำว่าท้องถิ่นคืออะไร บางครั้งมองว่า ท้องถิ่นคือ อบต. ชุมชน ฯลฯ ถือเป็นโอกาสที่ปรากฏการณ์ชัชชาติได้สร้างการตระหนักขึ้นมาให้คนได้รู้จักคำว่าท้องถิ่นกันมากขึ้น นอกเหนือจากที่ประชาชนได้รู้จักท้องถิ่นมากขึ้น สิ่งที่ตามคือบทบาทของท้องถิ่น ต้องยอมรับว่าบริบทของสังคมโลกที่เปลี่ยนแปลง การทำงานของท้องถิ่นเหมือนในอดีตก็คงไม่ได้ จะเห็นว่าการเลือกตั้งนายกเทศมนตรีที่ผ่านมา หลายนายกที่คิดว่าไม่น่าจะสอบตกก็สอบตก เพราะบางครั้งมันก็เกิดตามปรากฏการณ์ตามสังคม วันนี้ถือเป็นครั้งแรกที่พยายามตอบโจทย์ ทำอย่างไรให้พื้นที่ท้องถิ่นเข้มแข็ง แน่นอนว่าประเทศชาติจะเข้มแข็งตามมา

Advertisement

“หลายท่านจะจำภาพในวันที่เปิดวีดิทัศน์ ในงานเปิดประชุมสันนิบาตที่ผ่านมา ผมได้พูดคำว่าทางรอดของเทศบาลคือทางรอดของประเทศไทย เพราะเทศบาลคือผู้ที่อยู่ในเมืองทั้งสิ้น เทศบาลตำบลคือศูนย์กลางของชุมชน เทศบาลเมืองคือศูนย์กลางของเศรษฐกิจ เทศบาลนครคือศูนย์กลางเศรษฐกิจของนครนั้นๆ เช่นเดียวกัน เราจึงเป็นศูนย์กลางของการดูแลเศรษฐกิจทั้งหมด ดังนั้น ถ้าเมืองมีความเข้มแข็งประเทศชาติก็จะเดินไปได้เป็นอย่างดี จึงเป็นที่มาของการทำหลักสูตรนี้ขึ้นมา” นายพงษ์ศักดิ์กล่าว

นายพงษ์ศักดิ์กล่าวภาพรวมหลักสูตรนักพัฒนาระดับสูง ว่าเป็นการพัฒนานายกเทศมนตรีนำประสบการณ์มาแลกเปลี่ยน หาทางออกด้านงบประมาณกว่า 400 เทศบาล หลักสูตรนี้ถือว่าเป็นองค์ความรู้ใหม่ ซึ่งได้ร่วมมือกับ อปท.ได้ออกแบบหลักสูตรที่นำไปใช้ได้จริง มีทั้งหลักสูตรแกนกลาง มีการเรียนรู้ประมาณ 6 สัปดาห์ และหลักสูตรเฉพาะทาง นำเมืองมาแลกเปลี่ยนประสบการณ์ เช่น บางเมืองทำเรื่องการเกษตร บางเมืองทำเรื่องวัฒนธรรม ยกตัวอย่างเช่น เมืองที่ตนดูแลทำเรื่องสมาร์ทซิติ้ ไม่ว่าทำเรื่องเกษตร วัฒนธรรม สมาร์ทซิตี้ สุดท้ายก็คือเรื่อง Funding คือแหล่งเงิน แต่สิ่งหนึ่งที่เป็นทางเลือกใหม่ คือการระดมทุนในพื้นที่ เช่น ขอนแก่นพัฒนาเมือง เชียงใหม่พัฒนาเมือง เป็นต้น การนำแหล่งเงินมาพัฒนาเมือง แล้วรับผลผลิต ซึ่งหลักสูตรเพื่อให้นายกได้เรียนรู้โลกการเงินยุคใหม่ สุดท้ายก็ลงไปทำในพื้นที่จริง ส่วนใน อปท.ก็มีงบประมาณ 20 ล้านบาท ในการเริ่มเขียนโปรเจ็กต์ต่างๆ ซึ่งจะแตกต่างจากการเรียนหลักสูตรอื่นๆ เริ่มต้นที่ 300 เทศบาล สิ่งที่สันนิบาตคิดมองว่าวันนี้เมืองเป็นจุดเปลี่ยนของประเทศ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image