‘ประธาน อสม.เขต9’ อัพเดตความรู้ กูรูตัวจริง ปลื้มปลดล็อกกัญชา วอนจัด ‘มหกรรม 360 องศาฯ’ อีก

‘ประธาน อสม.เขต9’ อัพเดตความรู้ กูรูตัวจริง ปลื้มปลดล็อกกัญชา วอนจัด ‘มหกรรม 360 องศาฯ’ อีก

เมื่อวันที่ 12 มิถุนายน ที่สนามช้าง อินเตอร์เนชันแนล เซอร์กิต จ.บุรีรัมย์ ผู้สื่อข่าวรายงานบรรยากาศ ในงาน “มหกรรม 360 องศา ปลดล็อคกัญชา ประชาชนได้อะไร” ซึ่งจัดขึ้นโดยสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) กระทรวงสาธารณสุข ร่วมกับ สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดบุรีรัมย์ ภายใต้แนวคิด กัญชาคืนชีวิตสร้างเศรษฐกิจให้ประชาชน ระหว่างวันที่ 10-12 มิถุนายน ตั้งแต่เวลา 09.00-16.30 น. เพื่อให้ความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการใช้กัญชา-กัญชง เชิงการแพทย์ สำหรับการดูแลสุขภาพและกระตุ้นเศรษฐกิจ

นายธัญญา ประวรรณรัมย์ ประธานชมรม อสม.เขตสุขภาพที่ 9 นครชัยบุรินทร์ อ.เมือง จ.บุรีรัมย์ เดินทางมาร่วมมหกรรมกัญชา พร้อมเข้าฟังสัมมนาภายในงานในช่วงเช้า

นายธัญญากล่าวว่า ตัวเราเป็น อสม.ที่จะต้องไปบอกเล่า ไม่เหมือนกับการได้เห็นความจริง หรืออ่านจากสื่อ ที่เราอยากได้ในวันนี้ คือความรู้ที่จะไปสื่อสารกับพี่น้องประชาชนของเรา โดยไม่ได้ระบุว่ากัญชาจะใช้รักษาเฉพาะโรคใดโรคหนึ่ง ซึ่งสรรพคุณของกัญชาเราพอจะนึกออก ที่เราอยากเห็นและอยากรู้คือความจริงจากวิทยากรที่มาพูด เพราะเรามีข้อมูลมาด้วยบางส่วน แต่เราอยากมานั่งฟังด้วยตัวเอง มาเห็นวิทยากรชัดๆ อาจารย์ที่อยู่มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี ก็ต้องการมาพบกับท่าน และได้มาคุยตัวจริงในวันนี้ เห็นรายชื่อว่ามีแต่คนที่มีความเชี่ยวชาญมาบรรยาย จึงมีความสนใจอยากมาฟัง

Advertisement

“1.อยากฟัง 2.อยากเล่าต่อ การพูดกับการทำแตกต่างกัน ตอนนี้ผมก็ยังไม่ได้เริ่มปลูก จะปลูกก็ต้องคิดก่อน เมื่อก่อนกลัว มาวันนี้เขาบอกว่าปลูกได้ แต่ก็คงจะไม่กล้าไปปลูกเยอะ ปลูกเพื่อครอบครัวเพื่อรักษาโรค เหมือนที่วิทยากรพูดเมื่อสักครู่นี้ เอาใบไปตากแห้งแล้วก็ทำเป็นน้ำกัญชา อันนี้ง่ายดี ไม่ต้องทำอะไรมาก แค่ตากแล้วก็เอามาชงทานได้เลย

หัวใจสำคัญของการทำงานภาคอาสาสมัครอย่างเรา อสม. บางคนเขาบอกว่า อสม. ต้องทำตามนโยบายของรัฐบาลหรือของกระทรวง แต่ไม่ใช่เลย เราต้องมีการปรับตัว ปรับกระบวนกันมาเรื่อยๆ สิ่งไหนที่ทำแล้วเกิดประโยชน์กับชาวบ้าน พวกเราทำทั้งหมด บางคนคิดว่า อสม.ใครก็เป็นได้ ซึ่งไม่จริง ถ้าใจคุณไม่มาคุณทำงานไม่ได้ ถ้าไม่มีใจอาสา คุณเลิกตั้งแต่แรก ได้ค่าบริการ ค่าเงินเดือน มาแค่นี้คุณไม่ต้องเข้ามา เพราะเขตเราทำมา 40 ปีกว่าเราไม่ได้คิดเรื่องนั้น” นายธัญญากล่าว

Advertisement

นายธัญญากล่าวต่อว่า กัญชาเป็นเรื่องใหม่ ถ้าเห็นวันแรก เราได้รวมพลพรรคมาด้วย บางคนคิดว่าเราเกณฑ์มา แต่ความจริงไม่ใช่

“พวกเราคุยกันเองนานแล้ว ว่าเมื่อไหร่หนอเขาจะจัดให้เราไปฟังไปดูไป ไปดู ไปเห็นงานกัญชา ซึ่งบุรีรัมย์มี อสม. เยอะ 27,845 คน ผมเป็นคณะกรรมการชมรม อสม. เราเป็นหนึ่งในผู้บริหารซึ่งมีอยู่ 3 คนของจังหวัด ทำให้รู้ ก็เปลี่ยนกันมาอีก 4-5 อำเภอ เมื่อวานนี้ก็มากันเยอะ เพราะเชื่อว่าการฟังแนวเดียวกัน อ่านแนวเดียวกัน รับความรู้อันเดียวกัน จะสื่อสารตรงกัน ก็เลยมาพร้อมกัน” นายธัญญาเผย

เมื่อถามว่า หลังจากเยี่ยมชมงาน และฟังสัมมนา ได้ความรู้อะไรที่จะนำกลับไปบอกเล่า เพื่อต่อยอดในชุมชนต่อไป ?

นายธัญญาระบุว่า เรื่องธุรกิจคงจะเป็นเรื่องรอง แต่ประโยชน์ที่จะเกิดขึ้นในเรื่องโรคภัยไข้เจ็บ เราต้องฟังต่อในเรื่องนี้ จากที่มางานนี้ ได้เดินดูก็พอรู้แล้วบ้าง

“ผมมีญาติที่เป็นมะเร็ง นอนรอความตายอย่างเดียว แทนที่เราจะไปใช้ยาหลัก หรือ คีโม่ ซึ่งมีหลายคนเสียชีวิตไปเยอะแล้ว ก็หันมาใช้กัญชา คนที่ลองใช้กัญชาดู ยังรอดอยู่ ผมจึงมาดู มาฟัง ว่าวิทยาการไปถึงไหนแล้ว

คนเป็นมะเร็งมีเยอะมาก อสม. รู้ไหมว่าดูแลทั่วถึงขนาดไหน 1 คนดูแล 8-15 ครัวเรือน ดังนั้นข้อมูลที่จะได้รับ จึงสำคัญมาก อสม. ก็เหมือนกับนิ้วทั้ง 5 ของเรา ความรู้อาจจะไม่เท่ากัน ถ้าเรา ไม่มาเจาะลึก รู้ไม่ถูกต้อง สื่อผิด ประชาชนก็จะรู้ผิดไปทั้งหมด เลยมาเอาความรู้ที่ถูกต้องไปเผยแพร่” นายธัญญากล่าว

ถามต่อว่า การปลดล็อกกัญชามีประโยชน์ต่อประชาชนอย่างไร ?

นายธัญญาเผยว่า ส่วนตัวมองว่ากัญชามีประโยชน์มากกว่าโทษ เรามองเรื่องของการรักษาโรค เพราะเราอยู่จุดนี้ นึกถึงกัญชา ในแง่ที่ว่าช่วยให้ประหยัดค่ายา ประหยัดค่าใช้จ่ายเรื่องอื่นๆ ในการดูแลรักษาตัวเอง ต่อให้มีเงิน 100 ล้าน 1,000 ล้าน แต่สุขภาพคุณไม่ดี ก็เท่านั้น

“อสม. ส่วนใหญ่ 99 เปอร์เซ็นต์ เป็นเกษตรกร เราต้องการสุขภาพที่ดีแบบยั่งยืน สุขภาพดีทั้งกาย ใจ แม้แต่การพัฒนาของตัวเราเอง มั่นใจว่า ความรู้จริง จะใช้ได้จริง”

“นโยบายปลดล็อกกัญชานี้มีประโยชน์มาก ผมว่ามีประโยชน์มากกว่าโทษด้วยซ้ำไป เราไม่ได้บอกว่าโทษไม่มี เพราะเราก็มีคนเฒ่าคนแก่ที่เขาเคยสูบกัญชาแล้วอาจจะขี้เกียจ ไม่ออกไปไหน แต่ถามว่าเขามีอายุยั่งยืนหรือไม่ ก็เป็นปกติ เสียชีวิตเมื่อไม่กี่ปีมานี้ อายุถึง 80 ปีเหมือนกัน แค่เขาไม่ค่อยทำงาน มีทั้งบวก ทั้งลบ ขึ้นอยู่ที่คน ความรู้สมัยก่อนไม่ค่อยมี แต่เดี๋ยวนี้ของจริง พิสูจน์ได้” นายธัญญากล่าว

เมื่อถามว่าอยากให้มีการจัดงานแบบนี้อีกหรือไม่ ?

นายธัญญากล่าวว่า ความจริงอยากให้จัดเป็นไตรมาสด้วยซ้ำ แต่ว่าต้องลงทุนเยอะ 1 ปี น่าจะจัดสัก 1-2 ครั้ง

“ยิ่งทุกวันนี้คนไม่มางานก็ได้ ดูจากไลฟ์ของเพจข่าวสด มติชนก็ได้ ดูแค่ไหน ที่ไหน ตอนไหนก็ได้ แต่ส่วนอยากให้มีการจัดกิจกรรมแบบนี้ ไม่ต้องใหญ่ขนาดนี้ก็ได้ จัดแบบย่อมๆ เช่น ในประเทศไทยเรา อสม. มี 13 เขตทั่วประเทศ จัดเป็นเขตเพื่อถ่ายทอดความรู้ แบบนี้ก็ได้ แล้วให้คนมาศึกษาดูงานว่าทุกวันนี้ พัฒนากัญชาเรื่องอะไรแล้วบ้าง

“มหกรรมครั้งที่แล้วก็จัดใหญ่มาก ผมได้มาเยี่ยมชม ตอนนั้นผลิตภัณฑ์ไม่เยอะแบบนี้ด้วยซ้ำ การสื่อสารก็ไม่เร็วเท่านี้ด้วยซ้ำไป ครั้งนี้ผลิตภัณฑ์มีเยอะ และหลากหลายประเภท สามารถซื้อต้นกลับไปปลูกก็ได้” นายธัญญากล่าว

ถามว่ามางานนี้ได้อะไรติดตัวกลับไปบ้าง ?

นายธัญญาเผยว่า ก็น่าจะได้สัก 2-3 ต้นกลับไป นอกจากนี้ ก็เป็นผลิตภัณฑ์ที่สามารถเอาไปให้คนที่บ้านใช้รักษา และต่อยอดได้

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image