ททท.ตราด ผุด #Saveเกาะขายหัวเราะ หารือท่องเที่ยว ‘เกาะหมาก’

3 องค์กรทางท่องเที่ยวร่วมผู้ประกอบการท่องเที่ยวเกาะหมาก และ อบต.เกาะหมาก หารือหนุนท่องเที่ยวและบริหารจัดการเกาะขายหัวเราะ

เมื่อเวลา 14.00 น. วันอังคารที่ 14 มิถุนายน ที่ห้องประชุมเกาะหมากซีฟู้ด ต.เกาะหมาก อ.เกาะกูด จ.ตราด นายอิษฎา เสาวรส ผู้อำนวยการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย สำนักงานตราด นายนล สุวัจนานนท์ นายก อบต.เกาะหมาก นายนิพนธ์ สุทธิธนากุล ประธานชมรมท่องเที่ยวเกาะหมาก ตัวแทนจาก อพท.3 ผู้ประกอบการท่องเที่ยวบนเกาะหมาก นายจักรพรรดิ์ ตะเวติกุล อดีตนายกสมาคมธุรกิจท่องเที่ยว จ.ตราด รวม 30 คน ร่วมหารือแนวทางส่งเสริมการท่องเที่ยวเกาะหมาก เกาะกระดาด เกาะขายหัวเราะ ภายใต้แนวคิด BCG Model

นายอิษฎากล่าวว่า จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ที่เป็นไปในทิศทางที่ดีขึ้นประกอบกับการประกาศผ่อนคลายมาตรการต่างๆ ของกระทรวงสาธารณสุข อีกทั้งหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน และชุมชนในพื้นที่ตำบลเกาะหมาก สามารถบริหารจัดการสถานการณ์การแพร่ระบาดได้อย่างมีประสิทธิภาพ ททท.สำนักงานตราด จึงต้องการข้อมูลสนับสนุนจากทุกภาคส่วน เพื่อนำไปพิจารณาจัดทำเป็นโครงการด้านการเผยแพร่ ประชาสัมพันธ์ และการตลาด ส่งเสริมการท่องเที่ยวจังหวัดตราด

ภายใต้แนวคิด BCG Model เพื่อให้มีนักท่องเที่ยว เดินทางมาท่องเที่ยวตำบลเกาะหมากเพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะในเรื่องการส่งเสริมท่องเที่ยวเกาะขายหัวเราะ ร่วมกับสำนักพิมพ์บันลือสาส์น ด้วยการมอบประกาศนียบัตรจากสำนักพิมพ์บันลือสาส์น ในฐานะผู้พิชิตเกาะขายหัวเราะ แต่เมื่อเกาะขายหัวเราะเสียหายจึงจะเปลี่ยนแคมเปญเป็น “ผู้พิทักษ์เกาะขายหัวเราะ”

Advertisement

ขณะนายนิพนธ์ สุทธิธนากุล ประธานวิสาหกิจท่องเที่ยวเกาะหมาก กล่าวว่า หลายคนมองว่า เกาะหมากกำลังฟื้นหลังนักท่องเที่ยวเดินทางมาท่องเที่ยวจำนวนมาก แต่จริงๆ แล้วน่าจะเป็นช่วงปลายปี 2566 เพราะไฟลต์การบินจากต่างประเทศจะกลับมาในช่วงนั้น ซึ่งวันนี้จึงน่าจะสะท้อนภาพของความเชื่อมั่นในเรื่องสถานการณ์โควิด-19 ที่ขณะนี้สถานการณ์ใกล้กลับมาสู่ปกติแล้ว การจะทำให้เกิดความเชื่อมั่น จึงน่าจะประกาศความพร้อมของเกาะหมากว่า “เที่ยวเกาะหมากไม่ต้องสวมหน้ากากอนามัยแล้ว” น่าจะเกิดผลดีมากกว่า และสิ่งที่ควรจะเร่งดำเนินการก็คือ การเดินทางเชื่อม 3 เกาะเหมือนในอดีตคือ เกาะช้าง เกาะหมาก และเกาะกูด ซึ่งจะเกิดผลดี หรือแม้เกาะหมาก และเกาะกูดน่าจะมีเช่นกัน เพราะที่ผ่านมา ที่ประชุมได้เสนอความคิดเห็นเพื่อให้หน่วยงานที่รับผิดชอบดำเนินการ ประกอบด้วย

1.การกำหนดจุดขึ้นลง
2.การขอความร่วมมือ (ไม่ใช้คำว่า…ห้าม)
3.หลีกเลี่ยงการเหยียบรากไม้ด้วยการไม่ขึ้นไปบนเกาะ
4.ให้ข้อมูลทิศทางเดียวกัน ในเรื่องการส่งเสริมการท่องเที่ยวและการอนุรักษ์
5.การทำทางเดิมล้อมเกาะขายหัวเราะเพื่อให้ถ่ายรูปเท่านั้น
6.การจำกัดจำนวนนักท่องเที่ยวในการเข้าชม และขึ้นไปบนเกาะ
7.การทำป้ายเตือนและแนะนำในการท่องเที่ยวบนเกาะขายหัวเราะ
8.การไม่อนุญาตให้ขึ้นเกาะขายหัวเราะ
9.การทำกิจกรรม RT ก่อนไปหากจะไปต้องซื้อกิจกรรม เช่น ปลูกหน้าทะเล หรือปลูกปะการัง เกาะขายหัวเราะ

Advertisement

ซึ่งสุดท้าย ททท.สำนักงานตราดได้สอบถามผู้ประกอบการว่า จะยังขายเกาะขายหัวเราะหรือไม่ ซึ่งที่ประชุมมีมติเป็นเอกฉันท์ว่า ควรจะขายต่อไปแต่ต้องควบคุมให้ดี หรือกำหนดช่วงเวลาเข้าไปเที่ยว โดยวันเวลาที่เหมาะสมที่สุดก็คือ เดือนตุลาคม-ต้นธันวาคม ของทุกปี

ทั้งนี้ นายนล สุวัจนานนท์ นายก อบต.เกาะหมาก กล่าวว่า ตำบลเกาะหมากปัจจุบันมีรายได้จากการท่องเที่ยวมากถีง 70-80% อบต.เกาะหมากพร้อมสนับสนุน และผลักดันให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์และยั่งยืน และการที่ ททท.สำนักงานตราด ได้ส่งเสริมนั้นดีมาก เพราะเพิ่มจุดขายทางการท่องเที่ยวอีกมิติหนึ่ง ดังนั้น อบต.เกาะหมากจะเข้ามาจัดระเบียบ เพื่อให้เกาะขายหัวเราะอยู่กับเกาะหมากนานๆ ต่อไป ถึงชั่วลูกหลาน

พร้อมกันนี้ ในเฟซบุ๊ก ททท.สำนักงานตราด ยังได้โพสต์ภาพ #Saveเกาะขายหัวเราะ อีกด้วย

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image