‘ภูเก็ต’ เร่งป้องกันปัญหาค้ามนุษย์เชิงรุก หวังไทยหลุดพ้นTier2

เมื่อวันที่ 16 มิถุนายน นายพิเชษฐ์ ปาณะพงศ์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต เป็นประธานในพิธีเปิดอบรมโครงการพัฒนาและเสริมสร้างเครือข่ายเฝ้าระวังการบังคับใช้แรงงานหรือบริการ และการค้ามนุษย์ด้านแรงงาน จังหวัดภูเก็ต โดย นายพิเชษฐ์ กล่าวว่า การอบรมสร้างความรู้ความเข้าใจพ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ พ.ศ. 2551 เป็นเรื่องสำคัญเนื่องจากขณะนี้ประเทศไทยอยู่ในเกณฑ์ที่เฝ้าระวังหรือ Tier 2 watch list เป็นเรื่องการค้ามนุษย์ที่ผิดกฎหมายเหยียดหยามเอารัดเอาเปรียบมนุษย์โลก การดำเนินการลักษณะดังกล่าวทางประชาคมโลกมองว่าเป็นเรื่องที่ผิดกฎหมายและน่ารังเกียจ ดังนั้น ทุกประเทศต้องถือปฏิบัติตามกฎหมายสากลเดียวกัน ทั้งนี้ในประเทศไทยมีพ.ร.บ.นี้ขึ้นมา จะเอาผิดกับคนที่ไปเอารัดเอาเปรียบ ในเรื่องกิจการประมง บังคับใช้แรงงานหลอกล่อ ให้มาลงเรือ อาทิ ไปหลอกล่อชาวเมียนมา มาลงเรือบอกว่าจะให้เงินเดือน เดือนละ 6,000 บาท และอาหารการกินฟรี และกรณีทำงานดีก็จะให้เพิ่มอีก 2,000 บาท สุดท้ายถึงเวลาก็ไม่ได้ให้ตามนั้น หรือ กิจการเรือขนส่งสินค้าระหว่างประเทศเช่นกัน

“ที่ผ่านมา เจอด้วยตัวเองกับสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัดภูเก็ต ไปตรวจเรือและดักจับเรือกลางทะเล ปรากฏว่า ลูกจ้างในเรือเขาอยากขึ้นจากเรือเนื่องจากไม่พอใจในสวัสดิการในเรือ และทางเรือไม่จ่ายค่าจ้าง 6 เดือนแล้ว ปฏิเสธส่งเอกสารต่างๆให้ ซึ่งลักษณะนี้เกิดความคับแค้นใจของผู้ที่เป็นลูกจ้างเขาเป็นลูกจ้างที่มีการศึกษาดีจบปริญญาตรีมีระดับเป็นคนบังคับเรือ รวมทั้งลูกเรือคนประจำเรือ เขาร้องเรียนมากับเราและได้ช่วยเหลือแก้ปัญหาให้เขา รวมทั้ง เรือขนส่งแก๊สแอลพีจีลำใหญ่ที่อยู่กลางทะเล ก็มี เราไปเจอการสุ่มตรวจการประกอบกิจการกลางทะเลทำให้เจอปัญหาต่างๆมากมาย ชาวประมงส่วนใหญ่ 80% เป็นชาวต่างด้าว 3 สัญชาติ เมียนมา ลาว กัมพูชา ซึ่งบางครั้งพบว่านายจ้างเอาเปรียบทุบตีบังคับขู่เข็ญส่วนใหญ่จะเกิดจากการไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของคนควบคุมเรือ หรือกัปตันเรือ อาจจะมีปากเสียงและทุบตี ทำร้ายร่างกายกันบางครั้งผลักลงทะเลเสียชีวิตไปก็มี” นายพิเชษฐ์ กล่าว

นายพิเชษฐ์ กล่าวต่อว่า ถ้าไปสุ่มตรวจทำให้เขารู้ตัว เขาจะระมัดระวังไม่เอาเปรียบไม่ทำเหตุการณ์เช่นนั้นขึ้นไม่เช่นนั้นจะโดนโทษหนักโดยเฉพาะเจ้าของเรือ เวลาคดีขึ้นสู่ศาลจะเอาผิดเจ้าของเรือด้วยในฐานะที่ส่งเสริมสนับสนุน บางครั้งไม่ได้เอาผิดแต่เป็นพยาน ดังนั้นพฤติกรรมที่หลอกล่อให้คนมาลงเรือหรือไม่ยอมจ่ายเงินเดือนไม่ยอมส่งเอกสารให้กับคนที่ร้องขอ ถือว่า เป็นพฤติกรรมหนึ่งที่เป็นลักษณะของการค้ามนุษย์ อีกสถานประกอบการหนึ่งที่ภูเก็ตมีเยอะคือเรื่องสถานบันเทิง คาราโอเกะ สถานบริการ ตามพ.ร.บ.สถานบริการ พ.ศ. 2509 ลักษณะสถานบริการตามกฎหมายของภูเก็ต ขณะนี้ มี จำนวน 49 แห่ง แต่สถานประกอบการที่มีลักษณะคล้ายสถานบริการ คือ คล้าย เป็นร้านอาหารมีการเต้น มีพนักงานเสิร์ฟ สถานบริการเหล่านี้มี จำนวน 200 แห่ง นักท่องเที่ยวนิยมมาเที่ยวปรากฏว่ามีการโชว์ การเต้นต่างๆ สมัครใจทำมาหากินบางคนก็ถูกบังคับให้มาทำงาน บังคับค้าประเวณีด้วย เหล่านี้เป็นลักษณะการค้ามนุษย์ ถ้าเกิดสุ่มตรวจไปสอบปากคำผู้ประกอบการเหล่านี้จะรู้ว่าถูกบังคับเข้ามาหรือไม่ แต่สถานประกอบการอย่างอื่นเจอบ้างประปราย เช่น ปั๊มน้ำมัน ค้าปลีก ค้าส่ง ห้างสรรพสินค้าต่างๆที่มีต่างด้าวเป็นลูกจ้าง เป็นต้น บางครั้งถ้าเกิดเอาเปรียบในลักษณะที่ข่มขืนใจบังคับให้เขาทำเกินเวลา ทำในสิ่งที่เขาไม่อยากทำ ถือว่าเป็นการค้ามนุษย์ ดังนั้น สถานประกอบการที่กล่าวมา ถ้ารู้กฎหมายเป็นเรื่องที่ดีจะได้หลีกเลี่ยงไม่ทำสิ่งที่ผิดกฎหมาย

ขอฝากผู้ประกอบการทุกท่านช่วยกันศึกษาในกฎหมายกฎเกณฑ์ที่เข้าข่ายการค้ามนุษย์หากเกิดพลาดไปแล้วมีโทษในทางแพ่ง หรือ อาญา จำคุก และขอให้ผู้เข้ารับการอบรมในครั้งนี้ ได้รายงานเจ้าของประกอบการให้ได้ว่ามาอบรมแล้วได้ความรู้ใดกลับไป สิ่งที่กล่าวมาคือสิ่งที่เกิดในภูเก็ต อาจจะเกิดไม่มากเนื่องจากเจ้าหน้าที่เราขยันออกตรวจสอบติดตาม แต่ถ้าเมื่อไหร่เว้นวรรคนานเกินไปจะเกิดปัญหานี้ขึ้นมาเมื่อเป็นข่าว เป็นเรื่องที่ต่างประเทศเข้ามาเก็บข้อมูล ดังนั้น Tier 2 จะไม่หลุด เราอยากขึ้นเป็น Tier 1 จะได้หลุดพ้นข้อจำกัดต่างๆในการส่งสินค้าส่งออกหรือสิทธิทางการค้าต่างๆ ขอให้ช่วยกันขับเคลื่อน ถ้าไม่ขับเคลื่อนระดับจังหวัด จะทำให้ข้างบนไม่สามารถแก้ไขปัญหาได้ ถ้าทุกจังหวัดทำเหมือนกันจะทำให้ประเทศไทยปลดล็อคออกจาก Tier 2 และสามารถได้รับสิทธิต่างๆเต็มที่จะกิดประโยชน์ต่อภาพรวมของประเทศไทย

Advertisement

โดยน.ส.มาลี ขวัญเจริญ แรงงานจังหวัดภูเก็ต กล่าวว่า ปัจจุบันประเทศไทยและนานาประเทศยังคงประสบปัญหาการค้ามนุษย์อย่างต่อเนื่อง ประเทศไทยตกอยู่ใน 3 สถานะ คือ ประเทศต้นทาง ประเทศทางผ่านและประเทศปลายทางของการค้ามนุษย์ รูปแบบของการค้ามนุษย์ที่พบในประเทศส่วนใหญ่ คือ การบังคับใช้แรงงานหรือบริการ การนำคนมาขอทาน และการถูกแสวงหาประโยชน์ทางเพศ สถานการณ์ปัญหาการค้ามนุษย์ในประเทศไทยยังคงมีแนวโน้มทวีความรุนแรงและชับซ้อนมากขึ้น และยังเชื่อมโยงกับปัญหาอาชญากรรมทั้งในระดับประเทศและระหว่างประเทศ ที่ส่งผลกระทบต่อปัญหาเศรษฐกิจและสังคมอื่นๆ อีกด้วย ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมารัฐบาลไทยได้ พยายามดำเนินการป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ ด้วยการประสานความร่วมมือดำเนินการในลักษณะบูรณาการระหว่างหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาสังคมที่เกี่ยวข้องในการป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์

น.ส.มาลี  กล่าวต่อว่า เพื่อขจัดปัญหาการค้ามนุษย์ให้หมดสิ้นไป จังหวัดภูเก็ต โดยสำนักงานแรงงานจังหวัดภูเก็ต ได้ตระหนักถึงความสำคัญในการป้องกันปัญหาการค้ามนุษย์ เนื่องจากเป็นขั้นตอนเริ่มต้นที่สามารถสกัดกั้น/ตัดวงจรการเข้าสู่กระบวนการค้ามนุษย์ได้ โดยจะต้องดำเนินการป้องกันปัญหาการค้ามนุษย์เชิงรุกในระดับพื้นที่อย่างจริงจัง ครอบคลุมทุกพื้นที่ และทุกกลุ่มเป้าหมาย อาทิ เด็ก เยาวชน สตรี ผู้ใช้แรงงาน กลุ่มเสี่ยง ประชาชนทั่วไป รวมถึงผู้ประกอบการ โดยการให้ความรู้ สร้างความเข้าใจเบื้องต้นเกี่ยวกับ พ.ร.บ. ป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ พ.ศ. 2551 และที่แก้ไขเพิ่มเติม รวมถึงสถานการณ์รูปแบบภัยอันตรายจากการค้ามนุษย์ เพื่อให้สามารถป้องกันตนเองให้ปลอดภัยจากการค้ามนุษย์ หรือไม่มีส่วนได้เสียในกระบวนการค้ามนุษย์ จึงได้กำหนดจัด “อบรมโครงการพัฒนาและเสริมสร้างเครือข่ายเฝ้าระวังการบังคับใช้แรงงานหรือบริการและการค้ามนุษย์ด้านแรงงาน จังหวัดภูเก็ต ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2565” ขึ้น กลุ่มเป้าหมายประกอบด้วย อาสาสมัครแรงงาน เครือข่าย ด้านแรงงาน สถานประกอบการ จำนวน 35 คน

 

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image