เสียงสะท้อนจากเทศบาล ลดภาษีที่ดิน 2 ปี ขาดรายได้ 3.8 หมื่นล้าน กระทบงบพัฒนา วอนรัฐชดเชยส่วนต่าง

เสียงสะท้อนจากเทศบาล ลดภาษีที่ดิน 2 ปี ขาดรายได้ 3.8 หมื่นล้าน

กระทบงบพัฒนาท้องถิ่น วอนรัฐชดเชยส่วนต่างที่หายไป

ด้วยสถานการณ์โควิด-19 ที่ยาวนานกว่า 2 ปี ส่งผลกระทบให้เศรษฐกิจในทั่วโลกรวมถึงประเทศไทยต้องหยุดชะงัก ทั้งภาคธุรกิจขนาดใหญ่ ขนาดเล็ก ไปจนถึงร้านค้าและประชาชนได้รับความเดือดร้อน เนื่องจากไม่สามารถทำการค้าขายได้อย่างปกติ ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมานั้น (2563-2564) ภาครัฐได้ออกกฎหมายพระราชกฤษฏีกา ให้ท้องถิ่นจัดเก็บภาษีที่ดินเพียง 10% ลดลงไป 90% เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชน ซึ่งทำให้ท้องถิ่นต้องขาดรายได้จากการจัดเก็บรายได้ส่วนนี้ จนนำไปสู่การขาดสภาพคล่องในการพัฒนาท้องถิ่น

ขณะที่ล่าสุด สถานการณ์โควิด-19 ที่เหมือนจะดีขึ้น ประเทศเริ่มมีการคลายล็อกมากขึ้น นักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้าออกระหว่างประเทศได้ ภาครัฐได้กลับมาจัดเก็บภาษี ในช่วงเมษายน 2565 ให้เทศบาลกลับมาเก็บภาษีในกฎหมายเดิม จัดเก็บภาษี 100% จนทำให้ประชาชนที่เพิ่งคลายล็อกจากวิกฤตโควิด-19 ยังไม่ได้ตั้งตัว ด้วยเหตุจากภาวะเงินเฟ้อที่ตามมาตอนนี้ สินค้าต่างๆ ปรับขึ้นราคา จนเป็นเหตุให้เกิดเสียงเรียกร้องขอชะลอการจัดเก็บภาษีท้องถิ่นตามมา

วันนี้มติชนได้มีโอกาสพูดคุยกับ นายพงษ์ศักดิ์ ยิ่งชนม์เจริญ หรือนายกอ๋า นายกเทศมนตรีนครยะลา และนายกสมาคมสันนิบาตเทศบาลแห่งประเทศไทย (ส.ท.ท.) เป็นตัวแทนของเทศบาลทั่วประเทศ เสมือนหน้าด่านที่ต้องรับฟังเสียงเรียกร้องจากประชาชนที่ไม่สามารถจะชำระภาษีภายในระยะเวลาที่กฎหมายกำหนดได้

นายพงษ์ศักดิ์กล่าวว่า เทศบาลมีรายได้จาก 3 ทาง ส่วนที่หนึ่ง คือรายได้ที่ทางเทศบาลจัดเก็บเอง คือ ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ส่วนที่สองคือ รายได้ที่รัฐจัดเก็บแล้วแบ่งให้ คือ รายได้จากภาษีมูลค่าเพิ่ม และส่วนที่สามคือ เงินอุดหนุนที่รัฐบาลได้ให้กับท้องถิ่น ซึ่งทั้งสามส่วนในแต่ละปีรัฐบาลจะตั้งเป็นสัดส่วนเปอร์เซ็นต์ เช่น ปี 2566 ประมาณ 29.6% ของงบประมาณรายจ่ายของรัฐบาลทั้งหมด โดยที่ผ่านมาในปี 2563-2564 ทางรัฐบาลได้ออกกฎหมายพระราชกฤษฏีกาให้ท้องถิ่นจัดเก็บภาษีที่ดินและสิ่งก่อสร้างเหลือ 10% อธิบายให้เข้าใจชัดเจน จากเก็บ 100 บาท ก็ลดเหลือ 10 บาท แต่ในฐานคำนวณภาษียังคงปกติ ก็คือราคาประเมินไม่ได้ขยับ หลังจากนั้นรัฐบาลก็ได้ต่อราคาประเมินออกไปในราคาอัตราเดิมอีก 3 ปี โดยเข้าใจว่าจะสิ้นสุดในปี 2566 แต่หลังจากปี 2563-2564 ที่รัฐบาลลดเหลือ 10% ต่อมาปี 2565 ก็หมดระยะเวลาทำให้ในส่วนท้องถิ่นจะต้องบังคับด้วยกฎหมายเดิม โดยการกลับไปเก็บภาษีที่ 100% เต็ม แต่ราคาประเมินยังคงเดิม สิ่งนี้จึงทำให้ประชาชนมีความรู้สึกว่าต้องจ่ายภาษีที่แพงขึ้น จึงเป็นที่มาของเสียงเรียกร้องต่างๆ เนื่องจากประชาชนบางส่วนหลงลืมว่า ก่อนหน้านี้เมื่อ 2 ปีที่ผ่านมาภาษีถูกให้ลดเหลือ 10% แล้วอยู่ๆ ก็พุ่งพรวด เป็น 100% เลยเป็นประเด็นขึ้น

Advertisement

“ส่วนตัวคิดว่านโยบายการคลัง ในการที่ลดภาษีท้องถิ่นไม่ถูกต้อง รัฐบาลควรมองมาตรการการคลังในส่วนรัฐบาลก่อน เช่น การลดภาษี Corporate Income Tax หรือภาษีเงินได้นิติบุคคล ลดภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา แต่รัฐบาลกลับไปลดภาษีในท้องถิ่น โดยหลักถ้าคนเป็นพ่อ ก็คงเอาเงินจากในกระเป๋าของพ่อมาใช้ก่อน พอเงินกระเป๋าพ่อหมดค่อยเอาเงินในกระเป๋าลูก แต่นี้เอาเงินในกระเป๋าลูกก่อน ซึ่งผิดหลักการ”

นายพงษ์ศักดิ์กล่าวอีกว่า ในส่วนของสมาคมสันนิบาตเทศบาล อบต. ที่เป็นอีกหนึ่งที่ได้รับผลกระทบมาก แม้กระทั้งกรุงเทพมหานคร หรือเมืองพัทยา ก็ได้รับผลกระทบ ในปี 2563 เฉพาะเทศบาลนคร เทศบาลเมืองและเทศบาลตำบล รวมถึงเมืองพัทยาและกรุงเทพมหานคร รายได้ที่หายไปประมาณ 1.9 หมื่นล้านบาท ซึ่งท้องถิ่นเจอสถานการณ์โควิด-19 โดยต้องใช้เงินสะสมมาจ่ายเยียวยาให้กับประชาชน ขณะที่ในปี 2564 ก็เช่นเดียวกัน 1.9 หมื่นล้านบาท ซึ่งทั้ง 2 ส่วนนี้รัฐบาลไม่ได้มีการชดเชย จนกระทั้งปี 2565 พวกเราเทศบาลในฐานะที่เรามาจากการเลือกตั้งจากพี่น้องประชาชน ท้องถิ่นเห็นใจประชาชนเป็นอย่างมาก ในขณะที่ท้องถิ่นเองก็มีปัญหาเรื่องงบประมาณ ทั้งค่าจ้าง หลายเทศบาลในปลายปีก็ไม่สามารถที่จะปิดงบประมาณได้

โดยขณะนี้เท่าที่มีการพูดคุย สามารถเก็บได้ประมาณ 60% ส่วนอีก 40% ยังไม่ได้เข้ามาชำระ ส่วนที่เหลือเข้าใจประชาชน เนื่องด้วยสภาวะทางเศรษฐกิจ ประชาชนลำบาก ร้านค้า ภาคธุรกิจต้องปิดกิจการลง แต่ในส่วนภาษีก็ยังคงต้องชำระต่อไป

Advertisement

“วันนี้ทราบว่า คณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) ได้มีการเรียกร้องให้รัฐบาลลดภาษี ซึ่งใน 2565 ถ้าภาคเอกชนมีการเรียกร้อง แล้วรัฐบาลมีการปรับลด สมาคมไม่ได้ขัดข้องเพียงแต่ขอให้มีการพูดคุย เรื่องของการชดเชยที่ชัดเจน เพราะมิเช่นนั้นถ้าท้องถิ่นถูกลดเป็นปีที่สาม องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นคงล้มละลายทั้งหมด” นายพงษ์ศักดิ์กล่าว

ต่อข้อซักถามที่ว่า เมื่อต้องเก็บภาษี ท้องถิ่นมีแนวทางช่วยเหลือประชาชนอย่างไร นายพงษ์ศักดิ์กล่าวว่า ด้วยกฎหมายทุกคนยินดีที่จะปฏิบัติตาม แต่มีบางส่วนที่ยังไม่ได้เข้ามาชำระ ทาง อปท.ก็ได้ส่งเจ้าหน้าที่ชี้แจง ขณะที่ท้องถิ่นก็กลืนไม่เข้าคายไม่ออกเพราะเป็นคนกลาง ซึ่งกระทรวงการคลังเป็นผู้ออกกฎหมาย โดยท้องถิ่นเป็นผู้ใช้กฎหมาย เพราะฉะนั้นเราคือหน้าด่าน ทั้งนี้ ก็ได้ทำความเข้าใจกับพี่น้องประชาชนให้มากที่สุด ทางสมาคมสันนิบาตได้ไปขอให้ TDRI (สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย) ทำวิจัยเรื่องภาษีที่ดินฯ เพื่อปรับระบบภาษีให้เป็นธรรมมากขึ้น

ตามระเบียบสามารถผ่อนผันได้ 3 เดือน อปท.ก็เห็นด้วยกับแนวทางนี้ เพียงแต่รัฐบาลจะต้องออกระเบียบออกมา ทั้งนี้ ทราบว่าได้มีการขอขยายเวลาให้ผ่อนผันได้ 12 เดือน ซึ่งเป็นอีกแนวทางที่มาคุยกันได้ ทั้งในเรื่องของการลดภาษีและการชดเชย และขยายระยะเวลาการจ่ายภาษีในระยะยาว

“ในส่วนนครยะลาที่ผมดูแล ตอนนี้เก็บภาษีขาดอยู่ประมาณ 40% ได้เซ็นขยายเวลาอีก 3 เดือน รายไหนมีปัญหาก็ให้เขียนคำร้อง และขยายเวลาให้เขาผ่อน ในแง่ภาพของเมืองยะลาตอนนี้ก็ยังไปได้ เนื่องจาก 3 จังหวัดที่ผ่านมาอยู่ในภาวะเหตุการณ์ไม่สงบ วันนี้ก็ดีขึ้น ทั้งนี้ ในแง่ของเศรษฐกิจ มีนักท่องเที่ยวที่เข้ามามากขึ้น” นายพงษ์ศักดิ์กล่าว

ทั้งนี้ ถ้ารัฐบาลให้ความสำคัญกับท้องถิ่น อาจเพิ่มวงเงินจาก 29.6% ขึ้นเป็น 31-32% และเข้ามาเป็นเงินอุดหนุนทั่วไปให้กับท้องถิ่นหรือเป็นเงินอุดหนุนเฉพาะกิจ แนวเดียวกันตัวภาษีที่ดินซึ่งเป็นแหล่งรายได้ที่นำเงินส่วนนี้มาเป็นเงินจ่ายพนักงาน ก็จะปรับลดลงมาจาก 100% จาก 70-80% คิดว่าเป็นแนวทางที่สามารถทำได้ในปี 2566 ในส่วนของปี 2565 ระยะสั้น เนื่องจากงบประมาณมีการประกาศใช้ไปแล้ว โดยคงไม่สามารถทำอะไรได้

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image