วัดช้างให้ อ่างทอง อ้างพบเจดีย์อัฐิพระราชมนู ทหารเอก’พระนเรศวร’ นักประวัติศาสตร์ค้านรูปแบบศิลปะไม่สอดคล้องยุคสมัย

วันที่ 31 ตุลาคม 2559 พระครูสุวัฒน์วรกิจ เจ้าอาวาส วัดช้าง (ช้างให้) กล่าวว่า ได้พบเจดีย์บรรจุอัฐิพระราชมนู หรือออกญาพระสมุหกลาโหม ทหารเอกของสมเด็จพระนเรศวรมหาราช ตั้งอยู่ ในวัดช้าง(ช้างให้) ต.บ้านอิฐ อ.เมืองฯ จ.อ่างทอง เป็นเจดีย์รูปทรงกรม(ระฆังคว่ำ)สมัยอยุธยาตอนปลาย บรรจุอัฐิพระราชมนูทหารเอกคู่ใจสมเด็จพระนเรศวรมหาราช พร้อมด้วยเจดีย์บรรจุอัฐิภรรยาพระราชมนู

พระราชมนู  เป็นทหารเอกของสมเด็จพระนเรศวรมหาราช  ในสมัยอยุธยา พ.ศ 2128 มีการรบที่ทุ่งบางแก้ว  พระราชมนู แม่กองระหว่างหน้า ใช้วัดช้าง เป็นที่ตั้งทับและพลรบ 10,000 นาย ส่งกองทหารออกลาดตระเวนดูกองกำลัง ของกองทัพพระเจ้าเชียงใหม่ ที่เป็นแม่ทัพหน้าพม่า สมเด็จพระนเรศวรมหาราช นำกองทัพรบได้รับชัยชนะ และทรงโปรดให้นำพระราชทรัพย์ มาปฏิสังขรณ์ วัดช้าง

หลังจากเปลี่ยนแผ่นดิน พระราชมนูลาออกจากราชการในตำแหน่งพระสมุหฯและบวชที่วัดช้างจนสิ้นอายุ ทางคณะศิษย์และชาวบ้านจึงร่วมกันสร้างเจดีย์บรรจุอัฐิ พระราชมนู รูปทรงกลม ตั้งไว้จนถึงปัจจุบัน ได้กระทำพิธีบวงสรวง เจดีย์บรรจุอัฐิพระราชมนู ในวันที่ 9 ตุลาคม 2559  และ เตรียมบูรณะเจดีย์บรรจุอัฐิของพระราชมนู และภรรยา พร้อมทั้ง เตรียมสร้างรูปหล่อพระราชมนู ให้เป็นที่รู้จัก และเป็นแหล่งเรียนรู้ทางประวัติศาสตร์, แหล่งท่องเที่ยวต่อไป

อย่างไรก็ตาม ผศ.ดร. รุ่งโรจน์ ภิรมย์อนุกูล อาจารย์ภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะมนุษยศาสตร์ ม.รามคำแหง กล่าวว่า ไม่เคยมีหลักฐานว่าพระราชมนู กลับไปอยู่อ่างทอง ประเด็นนี้อาจเป็นเรื่องเล่าท้องถิ่น ซึ่งน่าตั้งคำถามว่า หากเป็นเช่นนั้น เหตุใดทหารเอกรายนี้ต้องกลับอ่างทอง และที่สำคัญคือ รูปแบบทางด้านศิลปกรรมของเจดีย์ดังกล่าว ไม่สอดคล้องกับอายุสมัยทางประวัติศาสตร์ กล่าวคือ หากเป็นเจดียฺบรรจุอัฐิพระราชมนู น่าจะต้องมีรูปแบบเช่นเดียวกับเจดีย์ในครึ่งแรกของพศว .21  คือ สมัยอยุธยาตอนกลาง ค่อนอยุธยาตอนปลาย แต่เจดีย์ตามภาพข่าวนั้น เชื่อว่าสร้างขึ้นในยุคหลังจากนั้น

Advertisement
ผศ.ดร.รุ่งโรจน์ ภิรมย์อนุกูล คณะมนุษยศาสตร์ ม.รามคำแหง
ผศ.ดร.รุ่งโรจน์ ภิรมย์อนุกูล คณะมนุษยศาสตร์ ม.รามคำแหง

 

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image