มช. วิจัยกัญชา ต่อยอดสู่การผลิตยา เพื่อการรักษาในอนาคต

มช. วิจัยกัญชา ต่อยอดสู่การผลิตยา เพื่อการรักษาในอนาคต

มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ร่วมกับ บริษัท แอตแลนต้า เมดดิคแคร์ จำกัด เปิดอาคารวิจัยกัญชาทางการแพทย์ ผลักดันการศึกษาวิจัยการใช้กัญชา เพื่อประโยชน์ทางการแพทย์ มาตรฐานระดับ World-Class มุ่งเน้นการพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์ในระดับ Medical Grade สามารถมั่นใจในคุณภาพของกัญชาที่จะใช้ในการศึกษาวิจัยการผลิตยาและการวิจัยทางคลินิก โดยอาคารวิจัยดังกล่าวตั้งอยู่ที่คณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ โดยมีมูลค่าประมาณ 17 ล้านบาท

ความร่วมมือทางวิชาการของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ร่วมกับ บริษัท แอตแลนต้า เมดดิคแคร์ จำกัด นั้น ได้ดำเนินการมาด้วยดีต่อเนื่องมา นับตั้งแต่การลงนามเมื่อวันที่ 3 กันยายน 2562 โดยภารกิจมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มีนโยบายมุ่งเน้นการศึกษา วิจัยและพัฒนากัญชา เพื่อใช้ในทางการแพทย์เป็นหลัก ควบคุมดูแลด้วยทีมวิจัยที่มีความเชี่ยวชาญ ดำเนินการตั้งแต่ต้นน้ำ คือ คณะเกษตรศาสตร์ ได้ทำการคัดเลือกพัฒนาสายพันธุ์ ซึ่งเป็นพันธุ์นำเข้าจากต่างประเทศ มีสาร CBD ค่อนข้างสูง และ THC ต่ำ และหาสภาวะในการปลูกที่เหมาะสม โดยจะไม่ใช้ดินในการปลูก หลีกเลี่ยงการปนเปื้อนจากจุลินทรีย์ในดิน การให้สารอาหารทางน้ำที่ถูกคัดกรองแล้วว่าสะอาด ได้มาตราฐาน เพื่อให้ได้ต้นกัญชาที่ได้คุณภาพ ส่งต่อไปยังคณะเภสัช ในส่วนกลางน้ำ เพื่อสกัดสารสำคัญ ควบคุมคุณภาพ นำไปสู่การพัฒนาเป็นสูตรยา ไปจนถึงปลายน้ำคือ คณะแพทยศาสตร์ เพื่อการทดสอบและการนำไปใช้ทางการแพทย์ ร่วมกับโรงพยาบาลมหาราชนครเชียงใหม่ (สวนดอก)

การใช้กัญชาเพื่อทางการแพทย์ ที่ทาง อย. ออกมาระบุว่าใช้รักษาได้ใน 5 กลุ่มโรค ซึ่งนอกจากทางมหาวิทยาลัยเชียงใหม่จะทำการวิจัยการรักษาใน 5 กลุ่มโรคแล้ว ยังต่อยอดวิจัยพิสูจน์ไปอีกว่า นอกเหนือจากนั้นสารสกัดจากกัญชาที่ได้จะสามารถทำให้คุณภาพดีขึ้นได้หรือไม่ เพื่อชะลอการเจ็บป่วยได้หรือไม่ นับว่าเป็นการวิจัยที่เกิดขึ้นควบคู่กันไป ซึ่งโดยทั่วไปแล้ว หากจะนำกัญชาเข้ามาใช้ในกระบวนการรักษานั้น จะถูกนำมาใช้อย่างสมเหตุสมผล ได้รับการควบคุมในทุกระดับ แพทย์หรือผู้เกี่ยวข้องจะต้องได้รับการอบรมจากกรมการแพทย์ก่อน เพราะถึงแม้ว่ากัญชาจะมีประโยชน์ แต่ก็สามารถสร้างอันตรายได้เช่นกัน โดยผลิตภัณฑ์ที่ผลิตออกมาจากทางศูนย์วิจัยจะต้องตรวจสอบสารสกัดแล้วว่ามีปริมาณ CBD และ THG ที่เหมาะสม สอดรับกับปัจจุบันที่ประเทศไทย “ปลดล็อก

กัญชา” ออกจากสารเสพติดประเภทที่ 5 พืชเศรษฐกิจชนิดนี้ที่ถูกจับมาเป็นประเด็นร้อนแรง เป็นที่ถกเถียงกันมากในสังคม ถึงข้อบ่งใช้และการควบคุมดูแลที่ภาครัฐเข้ามาเกี่ยวข้อง เพื่อความปลอดภัยและประโยชน์สูงสุดของผู้ป่วยเป็นสำคัญ ในอนาคต หากผลิตภัณฑ์ได้รับการรับรองและจดแจ้งกับทาง อย. เป็นที่เรียบร้อย การจัดจำหน่ายจะเป็นไปตามขั้นตอนที่เคร่งครัด จะต้องทำการซื้อผ่านทางมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และจะต้องเป็นการให้ยาโดยแพทย์ที่ได้รับรองแล้วเท่านั้น โดยตัวผลิตภัณฑ์จะมี QR Code กำกับในทุกชิ้น เพื่อที่ผู้ใช้จะสามารถตรวจสอบกลับไปยังต้นทางได้ว่า ผลิตจากที่ใด และแพทย์ท่านใดเป็นผู้จ่ายยา

Advertisement

ทั้งนี้ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มุ่งสร้างสมดุลระหว่างการเติบโตทางเศรษฐกิจกับความยั่งยืนของทรัพยากรธรรมชาติ ตาม BCG Model  จึงเกิดการใช้ประโยชน์จากกัญชาได้อย่างครบทุกส่วน โดยส่วนที่เหลือจากการผลิต ไม่ว่าจะเป็น ใบ ลำต้น ราก หรือกากที่เหลือจากการสกัด สามารถนำมาต่อยอดในการทำวิจัย นำไปเป็นอาหารให้แก่สัตว์ เช่น ปลา ไก่ เนื่องจากการกระบวนการปลูกที่มีการควบคุมอย่างเข้มงวด จึงไม่มีสารปนเปื้อน ไม่เป็นอันตรายต่อสัตว์ อีกทั้งยังมีการบูรณาการความรู้ระหว่างคณะ และหน่วยงานต่าง ๆ ทั้งภายในและภายนอก เพื่อมุ่งเน้นให้เกิดการใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่าหรือที่เรียกว่า “Zero Waste”

มหาวิทยาลัยเชียงใหม่มุ่งมั่นที่จะเป็นสถาบันการศึกษาชั้นนำที่มีความรับผิดชอบต่อสังคมและร่วมพัฒนาสิ่งต่าง ๆ ทั้งองค์ความรู้ รวมไปถึงสิ่งแวดล้อมให้ดีขึ้นอย่างยั่งยืน สิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นกลไกลหลักของการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย และเพิ่มรายได้ของประเทศ รวมไปถึงการมุ่งเน้นการดำเนินงานที่เกี่ยวข้องกับการรักษ์โลก ตั้งแต่กระบวนการผลิตไปจนการนำมาใช้จริง

Advertisement

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image