โนนสูงโอด! น้ำท่วมทางลอดใต้รางรถไฟทางคู่ฯ ต้องเดินลุยน้ำไปทำนา

ปัญหาซ้ำซากต้องรื้อทั้งระบบ เกษตรกรชาวโนนสูงเดือดร้อนหนักหลังน้ำท่วมทางลอดใต้รางรถไฟทางคู่ฯ ต้องจอดรถอีกฝั่งแล้วเดินลุยน้ำไปทำนา ชี้น้ำท่วมอยู่อย่างนี้มาตลอดแม้ฝนจะไม่ตกก็ตาม

เมื่อวันที่ 25 กรกฎาคม ผู้สื่อข่าวรายงานว่า อีกหนึ่งปัญหาที่เรียกกันว่าแทบจะอยู่คู่กับอุโมงค์ทางลอดใต้รางรถไฟในโครงการรถไฟทางคู่ชุมทางจิระฯ-ขอนแก่น นั่นก็คือปัญหาน้ำท่วมขังภายในอุโมงค์ทางลอด โดยเฉพาะในช่วงฤดูฝน ดังที่มีข่าวเมื่อช่วง 1-2 สัปดาห์ที่ผ่านมา ที่เกิดเหตุรถยนต์จมน้ำที่ท่วมขังอยู่ภายในทางลอดใต้รางรถไฟในพื้นที่อำเภอบัวใหญ่ จังหวัดนครราชสีมา หลังจากเกิดฝนตกลงมาอย่างหนักจนเครื่องสูบน้ำระบายน้ำที่ท่วมขังไม่ทัน ทำให้การรถไฟแห่งประเทศไทยสั่งยกระดับแผนปฏิบัติการเชิงรุกแก้ไขปัญหาน้ำท่วมขังภายในอุโมงค์ทางลอด เพื่อให้การสัญจรผ่านอุโมงค์ลอดทางรถไฟ และสะพานข้ามทางรถไฟเป็นไปด้วยความปลอดภัย

จากการลงพื้นที่ตรวจสอบบริเวณอุโมงค์ทางลอดใต้รางรถไฟฯ บริเวณหลังชุมชนบัว 1 เทศบาลตำบลโนนสูง ที่จะตัดออกไปยังพื้นที่ทางการเกษตรของตำบลหลุมข้าว พบว่ามีน้ำท่วมขังอยู่ภายในทางลอดความลึกประมาณ 30-40 เซนติเมตร

จากการสอบถามชาวบ้านรายหนึ่ง เปิดเผยว่า ทางลอดใต้รางรถไฟดังกล่าว เป็นเส้นทางที่ชาวบ้านใช้ข้ามไปทำไร่ทำนาที่ฝั่งตรงข้ามหมู่บ้าน ที่ผ่านมาก็มีน้ำซึมจากผนังเข้ามาท่วมเต็มอยู่ในทางลอดตลอดเวลา ถึงแม้จะไม่มีฝนตกเลยก็ตาม เนื่องจากเครื่องสูบน้ำไม่ทำงาน ซึ่งจากการสอบถามไปยังการรถไฟฯ อ้างว่าสายไฟเครื่องสูบน้ำถูกขโมย หรืออ้างว่าเครื่องสูบน้ำเสียยังหาอะไหล่ซ่อมทดแทนไม่ได้

Advertisement

ซึ่งที่ผ่านมาก็ได้ประสานเทศบาลตำบลโนนสูงและองค์การบริหารส่วนตำบลหลุมข้าว ให้เข้ามาช่วยเหลือสูบน้ำออกเป็นระยะ แต่ก็ไม่ทันข้ามวันน้ำก็กลับมาท่วมซ้ำอีก เนื่องจากน้ำจะซึมเข้าตามผนังรอยแยก ทำให้ชาวบ้านโดยเฉพาะเกษตรกรได้รับความเดือดร้อนเป็นอย่างมาก เนื่องจากไม่สามารถใช้รถยนต์เข้าไปยังที่นาได้ ต้องจอดรถไว้ปากทางลงทางลอดเดินลุยน้ำข้ามไป แล้วก็เดินต่อไปจนถึงที่นาของตนเองระยะทางก็ไม่ใช่น้อย ยิ่งในช่วงนี้เป็นช่วงการเพาะปลูกข้าวนาปี เกษตรกรต้องขนทั้งข้าวเปลือก ปุ๋ยและแบกเครื่องฉีดพ่นสารเคมี หนักหลายสิบกิโลกรัม เดินเท้าไปจนถึงที่นาทำให้ได้รับความยากลำบากเป็นทวีคูณ

อยากวอนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้ามาช่วยเหลือ เพราะถึงแม้ไม่ใช่เส้นทางสายหลักที่ประชาชนใช้สัญจรกันประจำ แต่ก็เป็นเส้นทางที่ใช้เดินทางข้ามไปเพื่อทำการเกษตรมีชาวบ้านจำนวนไม่น้อยในแต่ละวันที่ต้องใช้ทางลอดนี้

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image