นทท.-กัปตันเรือ จับปลานกแก้ว โดน 5 ข้อหา พักใบอนุญาตผู้ให้เช่าเรือ

หัวหน้าอุทยานพีพี เผย นทท.-กัปตันเรือ จับปลานกแก้ว โดน 5 ข้อหา ผู้ให้เช่าเรือพักใบประกอบกิจการ ต่างชาติอ้างไม่ทราบเขตห้าม ฟังไม่ขึ้น ทำแบบนี้ดูถูกคนไทย

เมื่อวันที่ 16 สิงหาคม ทีมเจ้าหน้าที่ชุดเฉพาะกิจกรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช ควบคุมตัว นาย Roslan Benedia อายุ 30 ปี นักท่องเที่ยวชาวเนเธอร์แลนด์ ในพื้นที่ จ.ภูเก็ต หลังโพสต์คลิปวิดีโอยืนถือปลานกแก้ว 2 ตัว และปลาชนิดอื่นๆ อีก 3 ตัว

เบื้องต้น นาย Roslan ให้การรับสารภาพว่า ได้เช่าเรือยางยาวนำเที่ยว และปืนยิงปลา จากเกาะพีพีดอน ไปยังเกาะพีพีเล ตำบลอ่าวนาง อำเภอเมืองกระบี่ โดยมี นายกฤษณะเป็นกัปตันเรือ แล้วออกไปยิงปลาที่บริเวณ เกาะพีพีเล ในเวลาประมาณ 13.00 น. ของวันที่ 9 สิงหาคม 2565

โดยอ้างว่าไม่ทราบว่าพื้นที่ดังกล่าวเป็นพื้นที่อุทยานแห่งชาติหาดนพรัตน์ธาราหมู่เกาะพีพี จ.กระบี่ หลังจากนี้ พนักงานสอบสวนสถานีตำรวจเกาะพีพี อ.เมืองกระบี่ ดำเนินการรวบรวมพยานหลักฐาน ขยายผลไปถึงเจ้าของเรือผู้ให้เช่าเรือ และผู้ให้บริการเช่าปืนยิงปลา ดำเนินการตามกฎหมาย กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ฉบับลงวันที่ 11 สิงหาคม พ.ศ. 2558 ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินห้าปี หรือปรับไม่เกินสองหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

Advertisement

ด้าน นายฑีฆาวุฒิ ศรีบุรินทร์ หัวหน้าอุทยานแห่งชาติหาดนพรัตน์ธารา-หมู่เกาะพีพี กล่าวว่า หลังจากใช้เวลา 5 วัน ตั้งแต่มีคลิป ทางอุทยานฯ ร่วมกับตำรวจในพื้นที่ จ.กระบี่ ตำรวจท่องเที่ยวสามารถติดตามตัวนักท่องเที่ยวชื่อ Mr.Roslan Benedia สัญชาติเนเธอร์แลนด์ ที่หลบหนีจาก จ.กระบี่ มาที่ จ.ภูเก็ต และรวบตัวได้เมื่อวานนี้ (15 ส.ค.) นักท่องเที่ยวอ้างว่าไม่รู้ว่าเขตอุทยานฯ แต่ยอมรับสารภาพทั้งหมด มีการแจ้งข้อหานักท่องเที่ยว และกัปตันเรือ ใน 5 ข้อหาฐานความผิดตาม พ.ร.บ.อุทยานแห่งชาติ พ.ศ. 2562 ซึ่งมีโทษทั้งปรับ และจำคุก เบื้องต้นจากพาสปอร์ตจะอยู่ในไทยถึงวันที่ 21 ส.ค.นี้

การกระทำของนักท่องเที่ยวคนนี้ถือเป็นการดูถูกคนไทย การที่ตกปลาและถ่ายภาพคลิปลงโซเชียล และอ้างว่าไม่รู้ ฟังไม่ขึ้น เพราะเข้ามาในเขตอุทยานฯ ต้องจ่ายค่าธรรมเนียมเข้าอุทยานฯ และมีการทำป้ายเตือนระเบียบต่างๆ ทั้ง 3 ภาษา เรื่องนี้เป็นผลกระทบต่อการท่องเที่ยว ที่มีนักท่องเที่ยวที่ไม่ทำตามระเบียบคิดเป็น 0.1%

“ส่วนกัปตันเรือ และเจ้าของเรือได้เข้ามาให้ปากคำกับพนักงานสอบสวนแล้ว และให้ความร่วมมือกับตำรวจและทางอุทยานฯ เป็นอย่างดี แต่จะต้องถูกทำทัณฑ์บนไว้ โดยอาจจะมีการพักใช้ใบอนุญาตประกอบกิจการเรือท่องเที่ยวชั่วคราว เพื่อให้หลาบจำ”

สำหรับผู้ประกอบการอยากให้ปฏิบัติตามเงื่อนไขและระเบียบการเข้าใช้พื้นที่ในอุทยานแห่งชาติเพื่อให้การท่องเที่ยวยั่งยืน เพราะหลังจากเปิดการท่องเที่ยว และเริ่มมีนักท่องเที่ยวกลับเข้ามาหลังโควิด-19 แนวโน้มการท่องเที่ยวเริ่มฟื้นตัว

1.มาตรา 19 (2) ฐานเก็บหา นำออกไป ทำด้วยประการใดๆ ให้เป็นอันตรายซึ่งทรัพยากรธรรมชาติอื่น หรือกระทำการอื่นใดอันส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศ ความหลากหลายทางชีวภาพ และทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยไม่ได้รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่ บทกำหนดโทษมาตรา 42 ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี หรือปรับไม่เกิน 500,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

2.มาตรา 19 (3) ฐานล่อหรือนำสัตว์ป่าออกไปหรือกระทำให้เป็นอันตรายแก่สัตว์ป่าด้วยประการใดๆ โดยไม่ได้รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่ บทกำหนดโทษมาตรา 43 ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินห้าปี หรือปรับไม่เกิน 500,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

3.มาตรา 19 (7) ฐานนำเครื่องมือสำหรับล่าสัตว์หรือจับสัตว์ หรืออาวุธใดๆ เข้าไปในอุทยานแห่งชาติ โดยไม่ได้รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่ บทกำหนดโทษมาตรา 45 ต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 10,000 บาท

4.มาตรา 20 ฐานบุคคลซึ่งเข้าไปในเขตอุทยานแห่งชาติ ต้องปฏิบัติตามคำสั่งของพนักงานเจ้าหน้าที่ ซึ่งได้สั่งให้ปฏิบัติตามระเบียบที่อธิบดีกำหนด บทกำหนดโทษมาตรา 47 ต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 100,000 บาท

5.มาตรา 40 ผู้ใดกระทำการหรืองดเว้นกระทำการไม่ว่าจงใจหรือประมาทเลินเล่อโดยมิชอบด้วยกฎหมาย และก่อให้เกิดความเสียหายแก่ทรัพยากรธรรมชาติในอุทยานแห่งชาติ ผู้นั้นต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหายให้แก่รัฐตามมูลค่าทั้งหมดของทรัพยากรธรรมชาติที่ถูกทำลาย สูญหาย หรือเสียหายไปนั้น

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image