ดร.นฤมล คาดเงินบาทอ่อนตามค่าเงินหยวน-แนะประคองลูกหนี้รายย่อย

ดร.นฤมล คาดเงินบาทอ่อนตามค่าเงินหยวน-แนะประคองลูกหนี้รายย่อย

เมื่อวันที่ 21 ส.ค. มีรายงานว่า ศ.ดร.นฤมล ภิญโญสินวัฒน์ เหรัญญิกพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) ได้โพสต์เฟซบุ๊กส่วนตัวสะท้อนมุมมองถึงค่าเงินหยวนที่อ่อนตัวลงต่ำสุดในรอบ 2 ปี ซึ่งเป็นผลมาจากการการลดดอกเบี้ยของธนาคารกลางจีนจาก 2.1% เหลือ 2.0% โดยเป็นการลดดอกเบี้ยครั้งแรกตั้งแต่มกราคม 2565 เพราะแรงกดดันจากสัญญาณการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจหลังมาตรการล็อกดาวน์ที่ไม่เป็นไปตามคาด เช่น รายได้ของอุตสาหกรรมค้าปลีกเดือนกรกฎาคมเพิ่มขึ้นเพียง 2.7% ต่ำกว่าเดือนมิถุนายนที่เพิ่มขึ้นเท่ากับ 3.1% และต่ำกว่าตัวเลขคาดการณ์ว่าจะเพิ่มขึ้น 5%

ศ.ดร.นฤมล ระบุว่า กรณีที่หนักคือภาคอสังหาริมทรัพย์ที่มีสัดส่วนถึง 30% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ(GDP) ในจีน ปรากฎว่าการลงทุนของผู้ประกอบการลดลง 6.4% ในรอบ 7 เดือนแรกของปีนี้ และราคาบ้านใหม่ใน 70 เมืองยังลดลงมา 11 เดือนต่อเนื่องอีกด้วย ขณะเดียวกัน การเติบโตของสินเชื่อในระบบมีสัญญาณชะลอตัว ธนาคารกลางจีนจึงต้องลดดอกเบี้ยเพื่อรักษาสภาพคล่องทางการเงินให้กับภาคธุรกิจและรายย่อย และจะช่วยให้รัฐบาลท้องถิ่นของจีนสามารถออกพันธบัตรระดมทุนเพื่อนำไปลงทุนกระตุ้นเศรษฐกิจและการจ้างงานในท้องถิ่นได้ง่ายขึ้นด้วย

นอกจากนั้น การลดดอกเบี้ยของธนาคารกลางจีนสวนทางกับธนาคารกลางสหรัฐ(เฟด) ที่ขึ้นดอกเบี้ยมาหลายรอบ ทำให้ส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยของจีนและสหรัฐถ่างออกไปอีก ค่าเงินหยวนต่อดอลลาร์สหรัฐจึงลดลงเหลือ 6.8171 หยวนต่อดอลลาร์ฯ ซึ่งถือว่าแตะระดับต่ำสุดเทียบตั้งแต่กันยายน 2563 เดือนหน้าคาดว่าเฟดจะขึ้นดอกเบี้ยอีก 0.75% จึงคาดกันว่า ค่าเงินหยวนจะลดต่ำลงไปอีกจนอาจจะถึง 7 หยวนต่อดอลลาร์ฯ ในไตรมาสแรกของปีหน้า

เมื่อหันกลับมามองถึงแนวโน้มค่าเงินบาทจะพบว่ามีการอ่อนค่าลงในทิศทางเดียวกับสกุลเงินเอเซียส่วนใหญ่ที่อ่อนค่าลงตามเงินหยวน และตามตัวเลขการขยายตัวทางเศรษฐกิจของไทย ไตรมาส 2 ที่ออกมาเพียง 2.5% ต่ำกว่าที่คาดการณ์ไว้ อย่างไรก็ตามค่าเงินบาทที่อ่อนลงจะส่งผลดีกับภาคการส่งออก ส่วนสินเชื่อระบบธนาคารพาณิชย์ในไตรมาส 2 ปี 2565 ยังขยายตัวต่อเนื่องที่ร้อยละ 6.3 เมื่อเทียบกับระยะเดียวกันปีก่อน

Advertisement

ศ.ดร.นฤมล กล่าวว่า ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.)เพิ่งเปิดเผยผลการดำเนินงานของระบบธนาคารพาณิชย์ไตรมาส 2 ปี 2565 ว่า ระบบธนาคารพาณิชย์มีความเข้มแข็ง โดยมีเงินกองทุน เงินสำรองและสภาพคล่องอยู่ในระดับสูงสามารถทำหน้าที่เป็นกลไกสำคัญในการสนับสนุนสินเชื่อเพื่อรองรับการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในระยะถัดไป

ที่ต้องเฝ้าระวัง คือ คุณภาพสินเชื่อของผู้ประกอบการขนาดกลางและย่อมหรือ SMEs และลูกหนี้รายย่อย ที่รายได้ยังไม่ฟื้นตัว แต่ต้องมาได้รับผลกระทบจากต้นทุนและค่าครองชีพที่สูงขึ้น ภาครัฐ ธนาคารรัฐ และธนาคารพาณิชย์ ต่างร่วมมือกันประคองลูกหนี้กลุ่มนี้ ผ่านการคงมาตราการที่ทำอยู่ และอาจจำเป็นต้องออกมาตรการเพิ่มเฉพาะจุด เพื่อผ่อนปรนให้ SMEs และรายย่อยสามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุน ช่วยต่อลมหายใจในช่วงพยายามฟื้นตัวนี้ไปให้ได้ ซึ่งอาจจะเป็นมาตรการการค้ำประกันสินเชื่อแบบยืดหยุ่นพิเศษเฉพาะอุตสาหกรรมที่ยังไม่ฟื้นตัวเต็มที่ ส่วนหนึ่งของผลกระทบจากค่าเงินหยวนที่เป็นลักษณะดังกล่าว จึงหวังว่ารัฐบาลจะมองอย่างเข้าใจและหาทางแก้ไขอย่างตรงจุด

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image