ปัญหารุกม่อนแจ่ม จะจบอย่างไร?
ปะทุขึ้นมาอีกระลอก เมื่อกลุ่มชาวไทยภูเขาเผ่าม้งจากพื้นที่ ม่อนแจ่ม กว่า 100 คนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ตำบลแม่แรม และตำบลโป่งแยง อำเภอแม่ริม จังหวัดเชียงใหม่ นำโดย นายเอกรินทร์ นทีไพรวัลย์ ในฐานะผู้ประสานงาน รวมตัวกันเดินทางมายื่นหนังสือถึง นายประจญ ปรัชญ์สกุล ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ ที่ศาลากลางจังหวัดเชียงใหม่ เพื่อเรียกร้องขอความเป็นธรรม กรณีการแก้ไขปัญหาสิทธิที่ดินทำกินบนดอยม่อนแจ่ม ภายหลังถูกสั่งรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างที่พักรีสอร์ตหลายแห่งเมื่อวันที่ 5 กันยายนที่ผ่านมา หลังเจ้าหน้าที่สนธิกำลังเตรียมเข้ารื้อถอนสิ่งปลูกสร้างที่ผิดกฎหมายตลอดทั้งวันที่ 4 กันยายน แต่ไม่สามารถทำได้เพราะถูกกลุ่มชาวบ้านร่วมกันต่อต้าน
นายเอกรินทร์กล่าวว่า ชาวบ้านยื่นข้อเรียกร้องคือ ขอให้เจ้าหน้าที่ชะลอการรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างหยุดการจับกุมดำเนินคดีกับชาวบ้านม่อนแจ่ม พร้อมทั้งให้ส่วนราชการเร่งดำเนินการพิสูจน์สิทธิในที่ดินให้ชาวบ้าน ตามมติคณะรัฐมนตรีในการแก้ไขปัญหาที่ดินทำกินเฉพาะภาคเหนือ เมื่อวันที่ 11 พฤษภาคม 2542 โดยใช้ภาพถ่ายทางวิทยาศาสตร์ในการพิสูจน์สิทธิ เพราะชาวบ้านกังวลเกี่ยวกับการออกแผนที่ปลอม และหากตรวจสอบพบว่า ชาวบ้านรุกล้ำทำผิดกฎหมายจริง ก็พร้อมถูกดำเนินคดีและรื้อถอนสิ่งปลูกสร้าง
นี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่เกิดปัญหาขึ้น เพราะวัตถุประสงค์หลักของความเติบโตของม่อนแจ่ม แต่เดิมคือการขอใช้ประโยชน์พื้นที่ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงหนองหอย จากป่าสงวนแห่งชาติป่าแม่ริม เพื่อทำการเกษตร ทั้งการปลูกพืชล้มลุกและยืนต้น อาทิ สตรอเบอรี่ อะโวคาโด องุ่น ผักเมืองหนาว กะหล่ำปลี และดอกไม้ หวังยกระดับคุณภาพชีวิตประชาชนในพื้นที่เมื่อประมาณปี 2540
แต่ด้วยความสวยงามของผืนป่าโดยรอบ โครงการหลวงหนองหอยจึงปรับพื้นที่ราบบนสันเนินเขาเป็นแหล่งท่องเที่ยวสำคัญ เรียกว่าม่อนแจ่ม ปลูกไม้ดอกเมืองหนาวสลับสับเปลี่ยนไปตามฤดูกาล มีอากาศเย็นสบายตลอดปี มองเห็นทัศนียภาพได้รอบทิศ ม่อนแจ่มจึงกลายเป็น ไข่แดง มีการตั้งแผงขายสินค้า ที่พักแรมผุดขึ้นราวดอกเห็ด จากที่พักขนาดเล็กก็ขยายเป็นรีสอร์ตใหญ่และมากขึ้น
เกิดปัญหาตามมาทั้งเรื่องความสะอาด แหล่งน้ำ ระบบบำบัด ขยะ การตัดโค่นต้นไม้ใหญ่และการบุกรุกผืนป่า รอบทิศกลายเป็นดอยหัวโล้น ไร้ต้นไม้
นายอิสระ ศิริไสยาสน์ ผู้อำนวยการสำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทสจ.) เชียงใหม่ บอกว่า ปัญหาเริ่มต้นขึ้นประมาณปี 2561-2562 หลังเจ้าหน้าที่ตรวจสอบพบการทำผิดกฎหมายคือ การบุกรุกพื้นที่ป่าของประชาชนในพื้นที่อำเภอแม่ริม โดยการตรวจสอบที่พักรีสอร์ตพื้นที่บนดอยม่อนแจ่ม 122 แห่ง พบมีการเปลี่ยนชื่อผู้ถือครองที่ดิน มีลักษณะนอมินี เปลี่ยนมือถ่ายโอนให้กับนายทุน 36 แห่ง ใช้ที่ดินผิดวัตถุประสงค์ มีความผิดตามมาตรา 25 ของพระราชบัญญัติป่าไม้ ดำเนินคดีแล้ว 10 ราย 5 รายยอมรื้อถอนเอง ส่วนอีก 5 ราย เจ้าหน้าที่เข้าปฏิบัติการรื้อถอน จึงคงเหลือ 26 รายอยู่ระหว่างดำเนินการ ส่วนอีกกลุ่มคือ 86 ราย ถือครองตามการขอใช้ประโยชน์ของโครงการหลวงหนองหอย เมื่อวันที่ 30 มิถุนายน 2541 ก็ต้องดำเนินการตรวจพิสูจน์สิทธิในที่ดินทำกินของชาวบ้าน
สิ่งที่ชาวบ้านกลัวคือการถูกดำเนินคดี เสียประโยชน์ เพราะมีการนำพื้นที่ทางการเกษตรไปปรับเปลี่ยนทำธุรกิจที่พัก อยากให้แยกทั้งสองส่วนออกจากกัน ใครไม่ผิดก็คือไม่ผิดแต่หากผิดก็ต้องถูกดำเนินคดีตามกฎหมาย ต้องทำความเข้าใจให้ตรงกันก่อน ทุกอย่างพิสูจน์ได้เพราะพื้นที่ขอใช้ประโยชน์ของโครงการหลวงมีทั้งหมด 11,000 ไร่ ก็ต้องมาดูกันในสามส่วนคือ พื้นที่ทำกินมาก่อน 30 มิถุนายน 2541 ใช้ภาพถ่ายจากดาวเทียมตรวจสอบก่อนปี 2545-2557 และการบุกรุกหลังปี 2557 นายอิสระกล่าว
สอดคล้องกับแนวคิดของ นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ระบุว่า ดอยม่อนแจ่มไม่ใช่พื้นที่เอกชน ซื้อ ขาย เปลี่ยนมือไม่ได้ ยืนยันดำเนินคดี รื้อรีสอร์ต เฉพาะคนไม่มีสิทธิเข้าทำประโยชน์ และไม่กระทบกับคนอยู่เดิม
ภาครัฐไม่ได้มีปัญหากับชาวบ้านที่มีสิทธิอยู่ในพื้นที่ดอยม่อนแจ่ม แต่เงื่อนไขต้องเป็นไปตามกติกาคือใช้ประโยชน์เพื่อการเกษตรเป็นหลัก ส่วนการดำเนินคดีไปกว่า 30 รายนั้น เป็นการดำเนินคดีกับผู้ไม่มีสิทธิเข้าทำประโยชน์ หรือมีการซื้อขายเปลี่ยนมือ นายวราวุธกล่าว
ขณะที่ นายวรญาณ บุญณราช รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ ย้ำว่า จะแต่งตั้งคณะกรรมการขึ้นมาพิสูจน์พยานและหลักฐาน 36 คดี เพื่อให้ความเป็นธรรมแก่ชาวบ้าน เน้นประนีประนอม หาคนกลางที่น่าเชื่อถือเข้ามาช่วยประสาน สร้างความเข้าใจร่วมกับประชาชน หากทั้งสองฝ่ายยอมถอยคนละก้าว พร้อมรับฟังข้อมูลปัญหาร่วมกัน จะช่วยให้สามารถแก้ไขปัญหาได้อย่างมีประสิทธิภาพ ปราศจากความรุนแรง
ด้าน นายสุรินทร์ นทีไพรวัลย์ ผู้ใหญ่บ้านหนองหอยเก่า หมู่ 7 ต.แม่แรม อ.แม่ริม จ.เชียงใหม่ กล่าวถึงกรณีนายเอกรินทร์ นทีไพรวัลย์ น้องชายแกนนำกลุ่มชาติพันธุ์ชาวไทยภูเขาเผ่าพื้นเมืองม่อนแจ่ม ไปยื่นหนังสือถึง นายวราวุธศิลปอาชา รัฐมนตรี ทส. ผ่าน นายภูมินทร์ บุญบันดาล ผู้อำนวยการสำนักจัดการทรัพยากรป่าไม้ที่ 1 เชียงใหม่ ที่กรุงเทพฯ เพื่อคัดค้านการรื้อถอนรีสอร์ตและสิ่งปลูกสร้างบนม่อนแจ่ม เมื่อวันที่ 6 กันยายนที่ผ่านมาว่า ประเด็นที่ยื่นหนังสือมี 2 เรื่อง เรื่องแรก ขอให้ดำเนินการตามคำวินิจฉัยของผู้ตรวจการแผ่นดิน มติคณะรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้อง และคำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ให้ครบถ้วนและเป็นธรรม เนื่องจากยังมีกองกำลังและเจ้าหน้าที่ไล่จับกุมชาวบ้านเพื่อดำเนินคดีอยู่ เรื่องที่สอง ยังมิได้สำรวจรังวัดที่ดิน หรือพิสูจน์สิทธิครอบครองดังกล่าว แต่ได้ประกาศแนวเขตป่าสงวนแห่งชาติแม่ริมปี 2507 ทับซ้อนกับที่อยู่และที่ทำกินชาวบ้าน ดังนั้นอยากให้รังวัดและพิสูจน์การครอบครองที่ดินก่อน เนื่องจากมีประชากรกว่า 3,800 คน แต่มีที่ดินครอบครองเพียง 2,500 ไร่ เฉลี่ยครอบครองไม่ถึง 1 ไร่ต่อคน
คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติลงพื้นที่ตรวจสอบเรื่องดังกล่าว 2 ครั้งแล้ว ก่อนมีหนังสือถึงผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ให้ชะลอรื้อถอนสิ่งปลูกสร้าง เมื่อวันที่ 31 สิงหาคมที่ผ่านมา นอกจากนี้มีเจ้าหน้าที่กรมสอบสวนคดีพิเศษ หรือดีเอสไอ มาตรวจสอบแล้วพบว่านับตั้งแต่ปี 2545 มีชาวบ้านบุกรุกหรือขยายพื้นที่เดิมออกไปเพียง 310 ตารางวา ไม่ถึง 1 ไร่ แต่กลับถูกกรมป่าไม้แจ้งความดำเนินคดีผู้บุกรุก36 ราย พร้อมสั่งรื้อรีสอร์ตและสิ่งปลูกสร้าง 5 รายทันที ทำให้ชาวบ้านมองว่าถูกเลือกปฏิบัติ และไม่ได้รับความเป็นธรรมดังกล่าว นายสุรินทร์กล่าวและว่า ล่าสุดนายวราวุธสั่งกรมคุณภาพสิ่งแวดล้อมลงพื้นที่ม่อนแจ่ม เพื่อติดตามเรื่องขยะ น้ำเสีย คุณภาพอากาศ โดยอ้างว่าเป็นผลจากการสร้างรีสอร์ตดังกล่าว เพื่อใช้ดำเนินคดีกับชาวบ้านอีก ดังนั้นอยากให้องค์กร หรือหน่วยงานที่เป็นกลาง ลงพื้นที่ตรวจสอบเรื่องดังกล่าว เพื่อทำรายงานและใช้เป็นหลักฐานต่อสู้คดี ทั้งนี้ ชาวบ้านมีแผนไปยื่นหนังสือต่อประธานผู้ตรวจการแผ่นดินเพื่อขอความเป็นธรรมด้วย
นายสุรินทร์กล่าวว่า ก่อนหน้านั้นแกนนำและชาวบ้านได้ไปถวายฎีกาที่สำนักพระราชวัง กรุงเทพฯ ทำให้แกนนำและชาวบ้านมีความสบายใจมากขึ้น และพร้อมน้อมรับและปฏิบัติตามคำวินิจฉัยอย่างไม่มีเงื่อนไขใดๆ
แม้วันนี้ปัญหา ดอยม่อนแจ่ม ยังคงไม่มีความแน่ชัดว่าจะจบลงอย่างไร แต่สิ่งที่เกิดขึ้นชัดเจนแล้วก็คือ ความบริสุทธิ์ของธรรมชาติพังย่อยยับแบบไร้ความรับผิดชอบจากน้ำมือมนุษย์ นับจากนี้จะแก้ไขและเยียวยาอย่างไร เป็นสิ่งที่ทุกคนต้องช่วยกันหาคำตอบ