บพท.จับมือ มูลนิธิ อปท.เปิดห้องเรียน ‘ส.ท.ท.’ ปั้นนายกเล็กสู่ ‘นักพัฒนาเมืองระดับสูง’

บพท.จับมือ มูลนิธิ อปท.เปิดห้องเรียน ‘ส.ท.ท.’ ปั้นนายกเล็กสู่ ‘นักพัฒนาเมืองระดับสูง’

เครือข่ายวิจัยและนวัตกรรมเพื่อพัฒนาเมืองและท้องถิ่น (บพท.) ร่วมกับมูลนิธิส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น และสมาคมสันนิบาตเทศบาลแห่งประเทศไทย (ส.ท.ท.) เปิดอบรมหลักสูตรประกาศนียบัตรนักพัฒนาเมืองระดับสูง (พมส.) รุ่นที่ 1 ที่ห้องประชุม ส.ท.ท. ย่านตลิ่งชัน มีนายกเทศมนตรีจากทั่วประเทศร่วมอบรมทั้งระบบออนไซต์และออนไลน์กว่า 200 คน ในวันแรกของหลักสูตรมีการอบรมเน้น “ทิศทางการพัฒนาเมืองของโลกในปัจจุบัน” โดยมีนายกเทศมนตรีที่มีผลงานเด่นโชว์วิสัยทัศน์ เพื่อเป็นแนวทางการพัฒนาเมือง อาทิ “พงษ์ศักดิ์ ยิ่งชนม์เจริญ” นายกเทศมนตรีนครยะลา ในฐานะนายก ส.ท.ท. เสนอวิสัยทัศน์การพัฒนาเมืองยะลาจนได้รับรางวัลระดับประเทศ

นายกอ๋า เล่าว่า ใช้ต้นทุนสำคัญของการเป็นเมืองน่าอยู่ ผังเมืองสวยงามติดอันดับ 23 ของโลก และเมืองสะอาด เข้าไปพัฒนาโดยใช้หลัก 6 C คือ ความสะอาด (Cleanliness) การทำงานร่วมกัน (Collaboration) การเชื่อมต่อ (Connectivity) วัฒนธรรม (Culture) ความสามารถในการแข่งขัน (Competitive) และความสะดวกสบาย (Comfort) ทำให้คุณภาพชีวิตของชาวเมืองยะลาดีขึ้น มีความสุขยิ่งขึ้น มีการปรับโครงสร้างด้านเศรษฐกิจ การศึกษา และ Logistic ใช้ทุนเดิม ทั้งทุนความสะอาด ทุนความเป็นระเบียบเรียบร้อยของเมือง ทุนสิ่งแวดล้อม ทุนด้านการศึกษา การเป็นศูนย์กลางทางการศึกษาของภาคใต้ และทุนทางวัฒนธรรม ที่มีความหลากหลายทางวัฒนธรรม วางตำแหน่งให้เป็นเมืองแห่งความสมานฉันท์ ประชาชนสามารถอยู่ร่วมกันภายใต้ความหลากหลายทางวัฒนธรรม สร้างเมืองยะลาให้น่าอยู่ โดยสร้างแบรนด์ให้เมืองยะลาเป็นเอกลักษณ์ไม่เหมือนใคร

ด้าน “เพชราพร ภูมิรัตนประพิณ” นายกหญิงจากตำบลคอนสวรรค์ อ.คอนสวรรค์ จ.ชัยภูมิ ผู้ครองเก้าอี้มายาวนานกว่า 23 ปี โชว์ผลงานที่สร้างความประจักษ์ให้ประชาชนในพื้นที่เลือกเข้ามาพัฒนาเมืองคอนสวรรค์อย่างต่อเนื่อง โดยใช้หลักการเข้าถึง เข้าใจ และพัฒนา ใช้สังคมออนไลน์สื่อสารกับกลุ่มคนเพื่อรับรู้ปัญหาและแก้ปัญหา

ขณะที่ “ธานี แสงรัตน์” อธิบดีกรมสารนิเทศ และโฆษกกระทรวงการต่างประเทศ มาให้ความรู้เรื่องทิศทางการพัฒนาเมืองของโลกปัจจุบัน โดยเฉพาะการเมืองโลกยกที่ส่งผลกระทบกับชีวิตคนไทย และ “รศ.ดร.ปิติ ศรีแสงนาม” ผู้อำนวยการศูนย์เศรษฐกิจระหว่างประเทศ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ให้ความรู้เรื่อง “เศรษฐกิจโลกพลิกผวนแบบนี้มีโอกาสดีๆ อยู่ตรงไหน” เชื่อมโยงให้เห็นโอกาสทางเศรษฐกิจของชุมชนแต่ละแห่งที่มีต้นทางผลิตภัณฑ์และวัตถุดิบ สามารถนำมาพัฒนา ต่อยอดให้ออกสู่ตลาดโลกได้

Advertisement

การอบรมในลักษณะ “active learning” ของหลักสูตรนี้เป็นส่วนหนึ่งของการยกระดับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) มีระยะเวลาอบรม 1 ปี มุ่งเน้นการมีพื้นที่กลางของนักพัฒนา ในการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ วิเคราะห์ ถอดบทเรียน และลงมือปฏิบัติการพัฒนาท้องถิ่นบนฐานของงานวิจัย

Advertisement

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image