ผวา! พบรอยร้าวเจดีย์วัดหัวฝายอายุกว่า 400 ปี ด้านสำนักศิลปากรที่ 7 แนะรัดสะลิงฐานเรือนธาตุ

ชาวบ้านผวา หวั่นเจดีย์วัดหัวฝายอายุกว่า 400 ปี พังถล่มซ้ำรอย หลังรอยแตกร้าวขยายแนวยาวกว้างขึ้น ด้านสำนักศิลปากรที่ 7 ลงพื้นที่สำรวจ แนะรัดสะลิงบริเวณฐานเรือนธาตุป้องกันเจดีย์แตกร้าวเพิ่ม

เมื่อวันที่ 7 ตุลาคม ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หลังกำแพงเมืองประตูช้างเผือก และพระธาตุเจดีย์ อายุกว่า 500 ปี วัดศรีสุพรรณ ถนนวัวลาย ตำบลหายยา อำเภอเมืองเชียงใหม่ พังถล่มลงมาในช่วงสัปดาห์สุดท้ายของเดือนกันยายนที่ผ่านมา สร้างความสะเทือนใจให้ชาวเชียงใหม่เป็นอย่างมาก จนพระสงฆ์ตามวัดต่างๆ ในตัวเมืองเชียงใหม่ เริ่มตื่นตัวสำรวจเจดีย์และโบราณสถานในวัดว่าเกิดความเสียหายหรือไม่นั้น

ล่าสุด ทางสำนักงานศิลปากรที่ 7 เชียงใหม่ ได้รับแจ้งจากพระสงฆ์วัดหัวฝาย ตำบลช้างคลาน อำเภอเมืองเชียงใหม่ ว่าองค์เจดีย์ของวัด อายุประมาณ 400 กว่าปี เกิดรอยแตกร้าวเป็นทางยาว เกรงว่าจะพังถล่มลงมาซ้ำรอยพระธาตุเจดีย์ของวัดศรีสุพรรณ

นางอุษณีย์ แก้วคำมูล อายุ 60 ปี กรรมการวัดหัวฝาย กล่าวว่า รอยแตกร้าวที่องค์เจดีย์ซึ่งตั้งอยู่หลังวิหาร มีลักษณะลึกเป็นแนวดิ่งยาว ทั้งด้านทิศเหนือและทิศใต้ ส่วนรอบองค์เจดีย์ทั้งสี่ด้านมีวัชพืชและต้นไม้ขึ้นปกคลุมกระจายไปทั่ว ทางวัดได้นำสะลิงรัดรอบองค์เจดย์ด้านบนที่แตกร้าว เพื่อป้องกันไม่ให้รอยแตกขยายวงกว้างจนพังถล่มลงมา

“รอยแตกร้าวเกิดขึ้นมาประมาณ 4-5 ปีแล้ว แต่ล่าสุดเริ่มขยายตัวกว้างขึ้น ชาวบ้านรู้สึกไม่สบายใจและเป็นกังวล โดยเฉพาะหลังการพังถล่มของพระธาตุเจดีย์วัดศรีสุพรรณ จึงติดต่อไปยังสำนักศิลปากรที่ 7 ให้เข้ามาตรวจสอบ เพราะก่อนหน้านี้ยังไม่ทราบว่าการบูรณะโบราณสถานเป็นหน้าที่ของกรมศิลปากร ทางวัดจึงดำเนินการเองมาตลอด ทั้งการฉาบปูนปิดทับรอยแตก นำต้นไม้ที่ขึ้นรอบองค์เจดีย์ออก แต่ต้นไม้และวัชพืชก็ยังขึ้นมาอีก เพราะเจดีย์ด้านในมีความชื้น”

ADVERTISMENT

นางอุษณีย์กล่าวว่า ความรู้สึกของชาวบ้านตอนนี้หากเกิดความเสียหายกับโบราณสถาน หรือสถานที่บูชาในวัดวาอาราม ซึ่งเป็นที่เคารพศรัทธาก็จะรู้สึกไม่สบายใจ จึงอยากให้ทางกรมศิลปากรเข้ามาช่วยบูรณะ และให้คำปรึกษาเรื่องการบูรณะโบราณสถานที่ถูกต้องกับทางวัดและชุมชนด้วย

ด้านนางต้อย อายุ 60 ปี ชาวบ้านในชุมชนวัดหัวฝาย บอกว่า เห็นองค์เจดีย์มาตั้งแต่เด็ก เดิมของเก่าเป็นองค์เจดีย์เล็กๆ สร้างตามแบบโบราณสานไม้ไผ่ขึ้นมาเป็นโครง และใช้ดินอิฐก่อทับ จากนั้นก็มีการบูรณะมาเรื่อยๆ จนองค์เจดีย์ใหญ่ขึ้น ส่วนรอยแตกร้าวเกิดขึ้นมาได้นานหลายปีแล้ว

ADVERTISMENT

ส่วนนายเทอดศักด์ เย็นจุระ ผู้อำนวยการกลุ่มอนุรักษ์โบราณสถาน สำนักศิลปากรที่ 7 เชียงใหม่ กล่าวว่า จากการสำรวจพบว่า เจดีย์ของวัดหัวฝายองค์ปัจจุบันมีการสร้างครอบของเดิมไว้ และปิดด้วยกระจกสีทั้งองค์ วัชพืชขึ้นปกคลุมขาดการดูแลรักษา ผนังเจดีย์ชั้นเรือนธาตุเกิดรอยแตกร้าวลึกเป็นแนวดิ่งยาว ลักษณะความเสียหายคล้ายๆ เจดีย์วัดศรีสุพรรณ ที่มีรอยแตกร้าวก่อนพังถล่มลงมา โดยทางวัดหัวฝายได้ติดตั้งสะลิงรัดรอบเพื่อป้องกันไว้ก่อนหน้านี้แล้ว อย่างไรก็ตาม จากการสำรวจรอยแตกร้าวที่เกิดขึ้น จำเป็นต้องแนะนำให้วัดดำเนินการรัดสะลิงเพิ่มขึ้นอีกชุดบริเวณฐานเรือนธาตุ รวมทั้งกำจัดวัชพืชออก และปิดรอยแตกร้าวไม่ให้น้ำฝนไหลซึมเข้าสู่ภายในอีก เพื่อป้องกันไม่ให้องค์เจดีย์เสียหายเพิ่มจากน้ำฝนที่ไหลซึมลงไป

สำหรับวัดหัวฝาย ก่อตั้งเมื่อปี 2130 เดิมชื่อ วัดศรีสร้อยทรายมูล สันนิษฐานว่าชาวบ้านน่าจะร่วมกันสร้างขึ้นมาเพื่อเป็นที่ยึดเหนี่ยวจิตใจ และประกอบพิธีกรรมทางศาสนา ในอดีตที่ตั้งของวัดอยู่นอกกำแพงเมืองเชียงใหม่และอยู่กลางทุ่งนา ไม่ใช่วัดที่สร้างขึ้นโดยกษัตริย์หรือข้าราชการ ขุนนาง จนเมื่อครั้งที่ยอดพระธาตุของวัดพังลงมา มีชาวบ้านเห็น ปูเงิน ปูคำ มาอาศัยอยู่บริเวณพระธาตุ เพื่อรักษาองค์พระธาตุ จึงเรียกกันว่า วัดปูคำ หรือบ้างก็เรียกว่า วัดน้ำปู เพราะวัดตั้งอยู่กลางทุ่งนามีปูมาก ต่อมาเปลี่ยนชื่อมาเป็น วัดหัวฝาย เพราะบริเวณใกล้วัดเป็นฝายกั้นน้ำ และวัดหัวฝายได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมา เมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน 2526 เขตวิสุงคามสีมากว้าง 40 เมตร ยาว 80 เมตร ต่อมาเจดีย์ของวัดเริ่มทรุดโทรมและพังลงมา ชาวบ้านจึงร่วมกับทางวัดบูรณะเจดีย์ใหม่ โดยการประดับด้วยกระจกแก้วทั้งองค์

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image