เขื่อนเจ้าพระยาวิกฤต ระบายทะลุ 2,900 ลบ.ม./วิ – ชาวบ้านเครียดน้ำท่วมไม่ลด

ชัยนาท – เขื่อนเจ้าพระยาวิกฤตระบาย ทะลุ 2,900 ลบ.ม. ชาวบ้านน้ำท่วมเครียดสะสม

เมื่อวันที่ 8 ตุลาคม ผู้สื่อข่าวรายงานสถานการณ์น้ำที่เขื่อนเจ้าพระยา อ.สรรพยา จ.ชัยนาท เขื่อนสำคัญในการบริหารจัดการน้ำลงสู่ภาคกลาง พบว่า น้ำที่ไหลลงสู่เขื่อนเจ้าพระยา ผ่านจุดวัดน้ำค่ายจิรประวัติ จ.นครสวรรค์ เพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง จากปริมาณน้ำฝนจากทางตอนบนประเทศ วัดได้อัตรา 3,088 ลบ.ม./วินาที โดยระดับน้ำเหนือเขื่อนเจ้าพระยา ล่าสุด วัดได้ +17.62 เมตร ระดับน้ำยกตัวขึ้น 30 ซม. ใน 24 ชม. และเอ่อล้นตลิ่งเข้าท่วมพื้นที่บ้านเรือนประชาชนริมตลิ่ง ใน 3 อำเภอเหนือเขื่อนเจ้าพระยา คือ อ.เมืองชัยนาท อ.วัดสิงห์ และ อ.มโนรมย์

ขณะที่ เขื่อนเจ้าพระยา จ.ชัยนาท ได้ปรับเพิ่มอัตราการระบายไปที่ 2,956 ลบ.ม./วินาที เพื่อรักษาสมดุลของน้ำเหนือเขื่อนและท้ายเขื่อน และเพื่อชะลอน้ำเหนือไว้ในลำน้ำเหนือเขื่อน เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของพื้นที่ท้ายเขื่อน ซึ่งจากการระบายน้ำในเกณฑ์ดังกล่าว ส่งผลให้ระดับน้ำท้ายเขื่อนยกระดับขึ้นกว่า 30 ซม. ใน 24 ชม. เมื่อเวลา 01.00 น.ที่ผ่านมา วัดได้ +16.96 เมตรจากระดับน้ำทะเลปานกลาง เอ่อล้นสูงกว่าตลิ่ง 49 ซม. ซึ่งเป็นเกณฑ์ที่เขื่อนเจ้าพระยามีการปรับระดับการแจ้งเตือนจากธงเหลือง ในสถานการณ์เฝ้าระวัง ขึ้นเป็นธงแดง ซึ่งเป็นสถานการณ์เข้าขั้นวิกฤต

(ชมคลิป)

ADVERTISMENT

โดยคาดการณ์ว่า ระดับน้ำพื้นที่ท้ายเขื่อนเจ้าพระยาจะสูงขึ้นได้อีก 15-20 ซม. ใน 24 ชม.ข้างหน้า ส่วนพื้นที่เหนือเขื่อนใน อ.เมืองชัยนาท อ.วัดสิงห์ อ.มโนรมย์ ระดับน้ำจะเอ่อล้นขยายวงกว้างมากขึ้น และความสูงของระดับน้ำจะเพิ่มขึ้นจากเดิม ซึ่งจากที่ชาวบ้านในพื้นริมน้ำเจ้าพระยา ที่ อ.สรรพยา จ.ชัยนาท ต้องเผชิญกับสถานการณ์น้ำท่วมมากว่า 1 สัปดาห์แล้ว ทำให้พบว่ามีประชาชนจำนวนมากที่เริ่มมีความเครียดสะสม ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าห่วงใย เพราะเป็นผลเสียต่อสุขภาพจิตของชาวบ้าน และหากปล่อยไว้อาจจะเป็นปัญหาลุกลามเป็นโรคซึมเศร้าได้

ล่าสุด มีรายงานว่าทางส่วนราชการได้เตรียมทีมที่ปรึกษาทางสุขภาพจิตไว้ลงพื้นที่ เพื่อเยี่ยมประชาชนให้คำปรึกษา เยียวยาสภาพจิตใจแล้ว หรือหากต้องการคำปรึกษาเร่งด่วนสามารถแจ้งได้ที่ รพ.สต.ใกล้บ้าน

ADVERTISMENT

โดยเขื่อนเจ้าพระยามีแผนปรับการระบายน้ำขึ้นไปในเกณฑ์ 2,900-3,000 ลบ.ม. ในช่วงตั้งแต่วันที่ 8 ตุลาคมเป็นต้นไป เพื่อพร่องน้ำในพื้นที่เหนือเขื่อนที่กำลังเต็มความจุลำน้ำ และลดผลกระทบต่อพื้นที่ริมตลิ่งเหนือเขื่อน แต่จะกระทบกับพื้นที่ท้ายเขื่อน ซึ่งจะมีระดับน้ำที่เพิ่มสูงขึ้นได้อีก

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image